กอนช.เตรียมคิกออฟรับฝน’64 หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ
“พลเอก ประวิตร” เตรียมนั่งบัญชาการหน่วยน้ำภายใต้ กอนช. 19 พ.ค.นี้ ย้ำความพร้อมลุย 10 มาตรการรับมือฝนปี’64 เตรียมชงครม.เห็นชอบอังคารนี้ พร้อมหนุนกลไกระดับท้องถิ่นร่วมกับบริหารจัดการน้ำ แผนป้องกัน ลดผลกระทบให้เกิดประสิทธิภาพ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันแก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบ การให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้ได้ทันสถานการณ์ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงกำหนดจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในวันพุธที่ 19 พฤษภาคมนี้ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เป็นประธาน เพื่อเน้นย้ำการขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ซึ่งจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในวันอังคารที่ 18 พ.ค.นี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสู่การปฏิบัติ รวมถึงหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ผู้แทนคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พร้อมด้วยผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนได้ถึงระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“มาตรการรับมือฤดูฝนที่เตรียม ครม. ทั้ง 10 มาตรการในปีนี้ นอกจากกาทบทวนมาตรการเดิมที่ได้ดำเนินการมาปรับใช้แล้ว ยังปรับปรุงกระบวนการ วิธีการเพื่อลดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มา ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในแต่ละมาตรการ มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน อาทิ คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เป็นรายเดือนและรายพื้นที่ การทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา สร้างการรับรู้ แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เข้าถึงและต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการที่เพิ่มเติมขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนต่อเนื่องถึงฤดูแล้งถัดไปให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย” ดร.สมเกียรติ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการเสนอมาตรการรับมือฤดูฝนที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แล้ว สทนช.ยังได้เสนอผลการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. ไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝนอีกด้วย อาทิ การคาดการณ์ปริมาณฝน ประเมินปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อวางแผนการจัดสรรน้ำให้เพียงพอในทุกกิจกรรม คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี’ 64 ช่วงเดือน พ.ค. – ก.ย. แบ่งเป็น เดือน พ.ค. 254 ตำบล 59 อำเภอ 20 จังหวัด มิ.ย. 155 ตำบล 79 อำเภอ 27 จังหวัด ก.ค. 396 ตำบล 131 อำเภอ 36 จังหวัด ส.ค. 538 ตำบล 170 อำเภอ 40 จังหวัด ก.ย. 1,012 ตำบล 290 อำเภอ 56 จังหวัด รวมถึงการเร่งเก็บกักน้ำฝนในช่วงเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงช่วงต้นฤดูให้มากที่สุด เนื่องจากคาดการณ์ว่าอาจมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนตกน้อยในบางช่วงเวลาได้ในเดือน พ.ค. – ก.ค. แบ่งเป็น เดือน พ.ค. 236 ตำบล 45 อำเภอ 9 จังหวัด มิ.ย. 1,100 ตำบล 195 อำเภอ 25 จังหวัด และ ก.ค 1,504 ตำบล 239 อำเภอ 29 จังหวัด ซึ่ง กอนช.จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอดฤดูฝน เพื่อให้หน่วยงานเตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น การเชื่อมโยงข้อมูลแจ้งเตือนภัยในระดับต่างๆ ผ่านเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในฤดูฝนปีนี้.