ชป.วางแผนปลูกข้าวนาปี เน้นใช้น้ำฝนเป็นหลัก
กรมชลประทาน เชิญชวนเกษตรกรปลูกข้าวนาปี หลังปริมาณฝนตกเป็นไปตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการป้องกันอุทกภัยและการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าปัจจุบัน (11 พ.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,292 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 39,775 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,873 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 15,998 ล้าน ลบ.ม.
ปัจจุบันในหลายพื้นที่ฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาการคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาที่มีความพร้อมในการทำนาปีได้แล้ว จึงให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ทำการประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ ที่มีความพร้อมให้เริ่มเพาะปลูกพืชพร้อมกันโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และให้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนตุลาคม เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการตามมาตรการที่วางไว้ อาทิ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี วางแผนการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) และเพียงพอสำหรับใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือรวม 5,935 หน่วย ไว้ในพื้นที่เสียงอุทกภัย ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งให้ตรวจสอบเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 437 แห่ง และอาคารชลประทานทั่วประเทศอีก 1,806 แห่ง ให้มีความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญที่ได้เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา