บพค. เชื่อมั่นอุตสาหกรรมอาหารไทยมีอนาคต เตรียมสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรป้อนธุรกิจ เชิญกูรูติวเข้มเสริมความรู้
บพค. เชื่อมั่นอุตสาหกรรมอาหารไทยมีอนาคต เตรียมสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรป้อนธุรกิจ
เชิญกูรูติวเข้มเสริมความรู้ อัพเดทเทรนด์ก่อนผุดไอเดียเสนอโครงการขอทุนสนับสนุน
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดกิจกรรม Exclusive talk & Matching fund ในหัวข้อ “การยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมอาหาร 4.0” โดยเชิญวิทยากรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมพูดคุย ได้แก่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานหอการค้าไทย นายรุ่งโรจน์ ชื่นทศพลชัย จากเครือเบทาโกร ซึ่งเป็น project leader ดูแล digital transformation และ ผศ.ดร.เดี่ยว กุลพิรักษ์ นักวิจัยที่มีประสบการณ์ตรงในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมและความสำคัญของการปรับระบบการงานให้สามารถแข่งขันได้
ในยุค digital disruption และความสำคัญของ digital transformation ต่อธุรกิจทั้งใหญ่และเล็ก
นอกจากนี้ ได้แสดงแนวโน้มของกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตในรอบ 3 ปีหลัง โดย 5 อันดับแรกได้แก่ ได้แก่
- ผลไม้ยอดนิยม อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง ส้มโอ ซึ่งประเทศไทยทำได้ดี และตลาดผลไม้ ดังกล่าว
ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาก็ตาม โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 32% 2. เนื้อสุกรสดแช่เย็น/แช่แข็ง เนื่องจากในหลายประเทศประสบปัญหาโรคติดต่อในสุกร จึงต้องฆ่าหมูเป็นจำนวนมาก
แต่ด้วยระบบที่ดีของประเทศไทยส่งผลให้เราสามารถส่งออกสุกรได้เพิ่มขึ้น 3. อาหารสัตว์เลี้ยง ที่เติบโตต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะมีการประกาศล็อกดาวน์ คนจึงหันมาเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบที่แปลกใหม่กันมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ 4. สิ่งปรุงรสอาหาร ที่เติบโตในช่วงโควิด-19 เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น
และการที่คนหันมาทำอาหารเองที่บ้านมากขึ้น 5. นมและผลิตภัณฑ์นม โยเกิร์ต นำมาเป็นส่วนผสมของอาหารฟังก์ชั่น ซึ่งเป็นอาหารที่มีสารประกอบที่ทำหน้าที่พิเศษกว่าการให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายทั่วไป
ด้านนายรุ่งโรจน์ กล่าวถึงการก้าวสู่การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคดิจิดอลด้วยแนวคิด digital transformation ว่า ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดต่างประเทศมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญ
ที่ธุรกิจในบ้านเราจะต้องทรานส์ฟอร์ม โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย แต่การไปสู่ smart factory นั้น หลาย ๆ ที่มักจะเข้าใจว่าต้องเริ่มจากการซื้อเครื่องจักรสำหรับ automation ลงทุนแพง ทำให้ไม่อยากทำ
แต่ขั้นแรกที่ทุกคนทำได้คือการทำ digital transformation เพื่อให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นถูกนำมาใช้ในการพัฒนาการทำงานขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่าง real time ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรแต่ละแห่งต้องเริ่มประเมินตนเองก่อนว่าความสามารถอยู่ในระดับไหน จะได้ประโยชน์เพียงใด ถึงเวลาอันเหมาะสมที่จะดำเนินการแล้วหรือยัง การทำ digital transformation นั้น ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วย และการพัฒนาบุคลากร จากประสบการณ์พบว่าส่วนหลังคือ people transformation จะสำคัญมากที่สุด ต้องมีการสื่อสารในองค์กรที่ดีเพื่อให้เกิดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ศักยภาพของคนที่มีอยู่นั้นไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคน senior ก็สามารถที่จะพัฒนาหรือเสริมทักษะได้ ดึงองค์ความรู้ที่เขามีอยู่มาช่วยกันตอบโจทย์ธุรกิจขององค์กรในยุคการแข่งขันสูง นอกจากนี้ การร่วมมือกันกับสถาบันอุดมศึกษา ทำให้การ transform เกิดขึ้นอย่างมีกรอบการทำงานที่ชัด มีทฤษฎีที่เหมาะสมมาสนับสนุน สามารถสื่อสารกันในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.เดี่ยว กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการที่จะเข้าไปช่วยเอกชน โดยยก 3 ประเด็น หรือ 3C
ที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำ digital transform ซี่งหนีไม่พ้นเรื่องคน ประกอบด้วย 1. Communication เพราะในกระบวนการผลิตไปจนถึงการขายนั้น มีคนมากมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารจึงมีส่วนสำคัญ เพื่อให้เข้าใจตรงกันถึงวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป 2. Collaborative การประสานงานในหน้าที่ต่าง ๆ ให้ร้อยเรียงกันแบบไร้รอยต่อ สร้างความเข้าใจในแผนงานและลดความซ้ำซ้อน เช่น ไม่ต้องจ้าง data scientists ไว้ทุกยูนิต แต่อาจสร้าง talent pool ไว้ตรงกลางก็ได้ 3. Culture ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคนเห็นว่าเรากำลังทำเรื่องนี้
และพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ธุรกิจแนวใหม่ การสร้างวัฒนธรรมนี้ จะทำให้การ transform อย่างยั่งยืน เพราะเกิดความสามารถของคนที่ฝังตัวอยู่ในบริษัท แม้เมื่อที่ปรึกษาไปแล้วก็ยังพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้แต่บริษัทเล็ก ๆ ก็สามารถเข้าไปสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มได้ เช่น ใช้ข้อมูลเพื่อเข้าใจลักษณะลูกค้า เข้าใจความต้องการ เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ ที่สำคัญต้องปรับความคิดของคนในองค์กร และลดความกลัวว่าเครื่องจักรมาแย่งงานคน แต่ให้คนปรับทักษะในการทำงานเพื่อให้ทำงานที่มีคุณค่ามากกว่า
ด้าน บพค. ดร.กัญญวิมว์ ให้รายละเอียดกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐในการส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่ smart factory และการพัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ที่เริ่มต้นจากการสนับสนุนทุนวิจัยในระยะที่ 1 เน้นไปที่อุตสาหกรรมอาหารของไทย เนื่องจากมีศักยภาพและมีโอกาสในการพัฒนาอย่างมาก บพค. จึงได้จัดทำโปรแกรมสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหาร
โดยให้มหาวิทยาลัยร่วมมือกับภาคเอกชน ทำงานด้วยกันเพื่อวาง transformation plan ของบริษัทให้พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนสถานประกอบการให้เข้าสู่ Smart Factory และสร้างโปรแกรมการพัฒนาสมรรถนะที่ขาดของแรงงานในปัจจุบันพร้อมทั้งทดสอบโปรแกรมกับกลุ่มเป้าหมาย ซี่ง บพค. จะสนับสนุนทุน 80% และอีก 20% เป็นส่วนที่ภาคเอกชนจะต้องลงทุน โดยทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้รับทุน ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ website ของ บพค. (https://www.nxpo.or.th/B/) และสามารถยื่นข้อเสนอแผนงาน/โครงการผ่านระบบ NRIIS ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เวลา 16.30 น.