มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ สถานีวิทยุกระจายเสียง

ในราวปี พ.ศ. 2492 ขณะนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอายุได้เพียง 6 ปี ท่านอธิการบดีในสมัยนั้น (อธิการบดี ม.ก. พ.ศ. 2489-2501) คือ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) ท่านต้องการจะส่งเสริมให้คนไทยเลี้ยงไก่เป็นการค้าและยึดเอาเป็นอาชีพหลัก ท่านเห็นว่าการที่จะส่งเสริมและเผยแพร่และชักจูงให้คนไทยหันมาสนใจในวิชาการ เลี้ยงไก่สมัยใหม่ มีช่องทางจะทำได้หลายวิธี มีอยู่วิธีหนึ่งที่เผยแพร่ได้เร็วและเข้าถึงประชาชนโดยทั่วไปได้ดี คือ วิธีการเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง แม้ว่าในขณะนั้นจะมีสถานีวิทยุกระจายเสียงไม่มากนักและเครื่องรับวิทยุก็มี ไม่มากเท่าปัจจุบันนี้ แต่ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เห็นว่าการ

“…….ข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ให้เป็นการค้าและเป็นอาชีพแก่คนไทย และในการส่งเสริมนี้ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การเผยแพร่ความรู้ทั้งในศิลปและวิทยาการเลี้ยงไก่ ให้แพร่หลายออกไป เพื่อให้คนไทยรู้จักวิธีการเลี้ยงดูไก่ให้ได้กำไรมาก ๆ ด้วยความประสงค์เช่นนั้น ข้าพเจ้าจะได้ลองตั้งโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้น โดยนำความรู้เรื่องไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้น โดยนำความรู้เรื่องไก่มากระจายเสียงเผยแพร่อาทิตย์ละครั้ง……

โดยมีความคิดเห็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงปรึกษาท่านอธิบดีกรมโฆษณา (กรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบัน) ลองตั้งโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้นชั่วคราว โดยมีความมุ่งหมายจะเผยแพร่ความรู้ในการเลี้ยงไก่ตามหลักวิชาสู่กันฟัง ถ้าปรากฏว่าเป็นประโยชน์และมีความนิยมก็จะได้บรรยายเรื่อยไป ถ้าหากไม่เป็นที่นิยมและไม่ได้ประโยชน์ ก็เลิกเสียภายหลัง ทั้งนี้โดยจะสดับตรับฟังและยึดถือประชามติเป็นเครื่องตัดสิน…….”

นอกจากจะบรรยายที่สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาแล้ว ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณฯ ยังได้ไปบรรยายเรื่องการเลี้ยงไก่ที่สถานีวิทยุ 1 ปณ. เป็นครั้งคราวอีกด้วย

โรงเรียนไก่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ได้รับความสนใจจากผู้ฟังอย่างกว้างขวาง ทั้งเกษตรกร ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนโดยทั่วไป เพราะท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจนั้น เป็นที่ทราบกันดีในยุคนั้นว่าท่านเป็นนักพูดที่หาตัวจับยาก ท่านพูดมีเนื้อหาสาระ เข้าใจง่าย เวลาท่านจะชักจูงหรือแนะนำให้ใครทำการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ ท่านจะเน้นให้เห็นว่า ถ้าทำแล้วผลจะออกมาเป็นเงินเป็นทอง เป็นบาทเป็นสตางค์ในทุกเรื่อง สมกับพระราชทินนามที่ได้รับคือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ = ทอง, วาจก = ผู้บอกกล่าว, กสิ = การเพาะปลูก, กิจ = งาน, พูดเรื่องการเกษตรให้เป็นเงินเป็นทอง)

มีอยู่ตอนหนึ่งท่านพูดไว้ในรายการโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียง เป็นคำพูดที่น่าจะนำมาเผยแพร่เพื่อที่พวกเรารุ่นหลังน่าจะปฏิบัติตาม ท่านได้พูดไว้ใน หนังสือกสิกร ปีที่ 24 หน้าที่ 11 ว่า

“……การที่ข้าพเจ้าลองเปิดแผนกโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้นนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้หวังเลยว่า จะสามารถให้ความรู้แก่ท่านผู้ฟัง ในเรื่องไก่ได้มากมายกว้าง ดังที่ท่านอยากรู้ หรือดังที่ข้าพเจ้าอยากให้ท่านรู้ ทั้งนี้เพราะความรู้อันจำกัดของข้าพเจ้าเอง และเวลาอันจำกัดของกรมโฆษณาการ เป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยขัดขวางอยู่ แม้กระนั้นก็ตามข้าพเจ้ามาคิดว่า ถ้าหากข้าพเจ้าจะสามารถชี้ช่อง ให้บางท่านรู้ถึงวิธีที่จะหาความรู้ หรือเปิดกรุวิชาเรื่องไก่เอาเอง ได้บ้างก็ดี หรือถ่ายทอดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ข้าพเจ้ามี และที่ข้าพเจ้าจะศึกษาต่อไป ให้แก่ท่านผู้ฟังได้บ้างก็ดี ก็นับว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายข้าพเจ้าได้รับ ความสุขกายสบายใจที่ได้ตอบแทนบุญคุณส่วนหนึ่งของชาติ และในเวลาเดียวกันได้กระทำส่วนหนึ่งของหน้าที่คือ เผยแพร่ความรู้เพื่อสาธารณประโยชน์……..

ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า การเลี้ยงไก่เป็นอาชีพจะทำได้ และเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย ดังที่เป็นอยู่แล้วในประเทศอื่น ๆ …….” ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งของกรมโฆษณาการ และสถานีวิทยุอื่น ๆ ในการเผยแพร่ความรู้เป็นประจำเท่าที่โอกาส และเวลาที่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงนั้น ๆ จะมีให้ และคงเป็นอธิการบดีคนเดียว ในขณะนั้นที่ไปนั่งบรรยายหรือสอนประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง

ข้าพเจ้ามานั่งนึกว่า ถ้าอาจารย์พร สุวรรณวาจกกสิกิจ บุตรชายของท่านได้ตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ขึ้น ในช่วงที่ท่านเป็นอธิการบดี น่ากลัวท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณฯ จะเดินจากที่ทำงานมาออกอากาศที่สถานีวิทยุ ม.ก. ทุกวัน และอาจจะวันละ 2-3 รอบก็ได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณฯ นั้นเป็นทั้งนักวิจัยและนักเผยแพร่ที่มีวิธีการไม่เหมือนใครและเป็นนักพูด ที่มีวาทะศิลป์ในการจูงใจคน ให้คนคล้อยตามชนิดที่หาตัวจับยาก ถ้ามีกระบอกเสียง (สถานีวิทยุ) มาอยู่ใกล้ ๆ ท่านเท่ากับว่ามีของโปรดอยู่หน้าบ้าน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงในการเผยแพร่ความรู้ไปสู่เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไปมาเป็นเวลาช้านาน ก่อนที่จะตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คิดจะตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง

ในราวต้นปี พ.ศ.2501 ข้าพเจ้าได้เข้าไปทำงานในแผนกวิชาส่งเสริมและเผยแพร่ ในฐานะนิสิตฝึกหัดงาน ได้เงินเดือนละ 240 บาท ทั้งนี้ด้วยความอนุเคราะห์ของอาจารย์พร สุวรรณวาจกกสิกิจ (เรศานนท์) แผนกวิชาส่งเสริมและเผยแพร่เป็นแผนกวิชาที่สังกัดอยู่ในคณะเกษตร แต่ที่ทำงานได้แยกมาอยู่ที่ชั้น 2 หอประชุม ม.ก. ตึกเดียวกับตึกอธิการบดีโดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พนม สมิตานนท์ เป็นหัวหน้าแผนก อาจารย์พร สุวรรณวาจกกสิกิจ, อาจารย์นิพนธ์ คันธเสวี, อาจารย์มณฑา กุลละวนิช (ควรสมาคม) เป็นอาจารย์ นิสิตฝึกงานในขณะนั้นมี นายเจือ สุทธิวนิช, นายบุญธรรม จิตต์อนันต์ ข้าพเจ้าและนิสิตอื่น ๆ อีก 2-3 คน

วันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังหมุนโรเนียวหนังสือข่าวสารเกษตรศาสตร์ ข้าพเจ้าเห็นอาจารย์พร และพี่เจือ นั่งปรึกษาหารือกัน แต่ไม่ทราบว่าปรึกษาหารือกันเรื่องอะไร ต่อจากวันนั้นไม่นาน ข้าพเจ้าจึงได้ทราบว่า ท่านอาจารย์พร และพี่เจือนั่งปรึกษาหารือกันนั้นคือ เรื่องการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ต่อมาทั้งอาจารย์พร และพี่เจือ ได้ช่วยกันร่างโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.ขึ้น นอกจากเขียนโครงการแล้ว ยังได้เขียนแบบแปลนห้องทำงาน ห้องเครื่องส่ง ห้องกระจายเสียง โดยวางแผนจะใช้ห้องชั้นล่างของตึกหอประชุม ม.ก. ทางปีกด้านขวา (ปีกทางทิศใต้) ซึ่งขณะนั้นยังว่างอยู่ ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปใช้ เพราะข้าราชการในสำนักงานอธิการบดีมีเพียงไม่กี่คน แต่แล้วโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ต้องเลิกล้มไป เพราะไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการ

วิทยุการเกษตร (ปชส.8)

ในปี พ.ศ. 2503 พลเอกสุรจิต จารุเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในขณะนั้น และในขณะเดียวกันเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วย ได้เห็นว่าประเทศไทยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงอยู่หลายสถานี แต่ไม่มีสถานีวิทยุกระจายเสียงสถานีใดที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรโดยเฉพาะ

พลเอกสุรจิต จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงการเกษตรขึ้น โดยให้ใช้ห้องส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุ ปสช.8 ที่ตั้งอยู่ในซอยอารี ถนนพหลโยธิน ซึ่งแต่เดิมเป็นห้องส่งกระจายเสียงภาคภาษาจีน

สถานีวิทยุการเกษตร (ปชส.8) ได้เริ่มกระจายเสียงครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2503 โดยกรมประชาสัมพันธ์รับผิดชอบด้านการกระจายเสียง ส่วนกระทรวงเกษตรรับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิตรายการทั้งหมด

เพื่อให้การผลิตรายการของสถานีวิทยุการเกษตร มีเนื้อหาสาระครอบคลุมผลงานของทุกกรมที่สังกัดอยู่ในกระทรวงเกษตร ทางกระทรวงเกษตรจึงได้มีหนังสือถึงกรมต่าง ๆ ในสังกัด ให้ส่งข้าราชการไปช่วยงานที่วิทยุการเกษตร กรมละ 1-3 คน สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่เป็นกรม ๆ หนึ่งในสังกัดของกระทรวงเกษตร ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไป 3 คน

คณะกรรมการสถานีวิทยุการเกษตรในครั้งนั้น พลเอกสุรจิต จารุเศรณี เป็นประธานกรรมการ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นผู้อำนวยการสถานี นายประเทือง สายพันธุ์ หัวหน้ากองเกษตรสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ อาจารย์พร เรศานนท์ (สุวรรณวาจกกสิกิจ) เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ

นอกจากอาจารย์พรแล้ว อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ส่งไปปฏิบัติงานมี อาจารย์เจือ สุทธิวนิช อาจารย์วิจิตร อาวะกุล ข้าราชการจากกรมชลประทานมี คุณมนัส นาน่วม จากกรมปศุสัตว์ คุณนวลศรี ประสิทธิ์ศักดิ์ (โชตินันท์) จากกรมกสิกรรม คุณอนันต์ สวัสดิพละ จากกรมป่าไม้ คุณดำรงค์ รัตนโสภณ คุณประพาล รจนานนท์ (คุณหญิงประพาล จักรพันธุ์)

รายการที่ผู้ฟังสนใจและมีจดหมายเข้ามายังสถานีมากที่สุดในขณะนั้นคือ “เสียงจากเกษตรกร” จัดโดย อาจารย์พร เรศานนท์ ซึ่งเป็นรายการตอบปัญหาการเกษตร

อาจารย์พร นอกจากจะเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ และเป็นผู้จัดรายการเสียงจากเกษตรกรแล้ว ยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง (ไม่เป็นทางการแต่ทำเป็นประจำ) คือไปยืมแผ่นเสียงจากสถานีวิทยุยานเกราะ มาเปิดที่สถานีวิทยุการเกษตร เพราะแผ่นเสียงที่สถานีวิทยุการเกษตรไม่ค่อยจะมี

เหตุที่อาจารย์พรสามารถไปยืมแผ่นเสียงที่สถานี วิทยุยานเกราะมาเปิดที่สถานีวิทยุการเกษตรได้ เพราะอาจารย์พร มีเพื่อนสนิทสมัยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชันเป็นหัวหน้าสถานีวิทยุยานเกราะ เขาผู้นั้นคือ พ.ต.เล็ก สุนทรศร (ตอนหลังได้เลื่อนยศเป็นพลตรี) และ พ.ต.เล็ก ผู้นี้เป็นผู้ที่มีบทบาทอันสำคัญที่ทำให้เกิดสถานีวิทยุ ม.ก. อาจารย์พร พูดอยู่เสมอว่า ถ้าไม่ได้เพื่อนผู้นี้บางทีสถานีวิทยุ ม.ก. อาจจะไม่เกิดก็ได้ ซึ่งจะได้พูดถึงรายละเอียดในตอนต่อไป

การที่อาจารย์พร ได้ไปพบกับ พ.ต.เล็ก ที่สถานีวิทยุยานเกราะบ่อย ๆ ก็คงจะมีการพูดคุยอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากที่อาจารย์พร ได้ไปช่วยงานที่สถานีวิทยุการเกษตรอยู่เกือบปี ก็ได้ขอตัวกลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามเดิม และต่อมาไม่นานอาจารย์เจือ ก็ได้ขอกลับมาปฏิบัติงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกท่านหนึ่ง

กำเนิดสถานีวิทยุ ม.ก.

ในราวปลายปี 2503 ศ.ดร.พนม สมิตานนท์ หัวหน้าแผนกวิชาส่งเสริมและเผยแพร่ ในขณะนั้น ได้ปรารภกับอาจารย์พรว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรจะมีสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นของตนเองสักสถานีหนึ่ง เพื่อที่จะได้ให้นิสิตที่เรียนวิชาส่งเสริมและเผยแพร่เป็นวิชาเอก ได้ฝึกหัดจัดทำรายการ ฝึกหัดเขียนบทความทางวิทยุ และเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยไปสู่ประชาชน จากคำปรารภอันนี้เอง ทำให้อาจารย์พร ซึ่งมีแนวความคิด ที่จะจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ได้ปรึกษาหารือกับอาจารย์เจือ อีกครั้งหนึ่งว่า ทำอย่างไร จึงจะตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงใน ม.ก. ได้ แต่ในที่สุดก็ถึงทางตัน เพราะการตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงนั้น ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยไม่มีงบประมาณที่จะจัดสรรให้ได้

อาจารย์พร ก็ไม่ละความพยายาม ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษา พ.ต.เล็ก สุนทรศร หัวหน้าสถานีวิทยุยานเกราะ ว่าอยากจะตั้งสถานีวิทยุขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สักสถานีหนึ่ง แต่ยังขัดข้องด้วยเรื่องเครื่องส่ง เพราะไม่มีงบประมาณที่จะจัดซื้อทาง พ.ต.เล็ก พอจะมีช่องทางช่วยเหลือเรื่องเครื่องส่งให้ได้หรือไม่

จากการที่ได้ปรึกษาหารือกับ พ.ต.เล็ก ครั้งนั้น ทำให้อาจารย์พรมีความหวังมากยิ่งขึ้น พ.ต.เล็ก ได้ติดต่อกับผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือ ขออนุมัติ ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืมเครื่องส่งวิทยุสื่อสาร BC 610 ของสถานีวิทยุยานเกราะ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรากฏว่าได้รับอนุมัติ

เมื่อเครื่องส่งวิทยุสื่อสารได้รับอนุมัติให้ ยืมได้ พ.ต.เล็ก ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างของสถานีวิทยุยานเกราะ ทำการดัดแปลงเครื่องส่งวิทยุสื่อสารดังกล่าวเป็นเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง มีกำลังออกอากาศ 250 วัตต์ (¼ กิโลวัตต์)

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเครื่องส่งกระจายเสียงแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะถ่ายทอดออกอากาศได้ เพราะเสาอากาศยังไม่มี ห้องส่งกระจายเสียงยังไม่พร้อม อุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่มี แต่ด้วยความอนุเคราะห์ของท่านอาจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ อธิการบดีในขณะนั้น ท่านได้อนุมัติเงินสมทบ หรือที่เรียกว่าเงิน CF (Counterpart Fund) จากสหรัฐอเมริกา โดยผ่าน USOM ในประเทศไทยตามข้อตกลงของสัญญา ดังกล่าว ระบุว่าถ้าอเมริกาให้เงินช่วยเหลือแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 100 ล้านบาท รัฐบาลไทยต้องออกเงินสมทบ 100 ล้านบาทเช่นกัน มา 20,000 บาท สำหรับติดตั้งเสาอากาศ จัดสร้างห้องส่งกระจายเสียง

ท่านอาจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ ได้กรุณาอนุมัติให้ใช้อาคารเรือนเขียว ชั้นบน โดยดัดแปลงห้องหน้ามุขเป็นห้องส่งกระจายเสียง ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง ไมโครโฟน ให้ยืมของแผนกวิชาส่งเสริมฯ มาใช้ไปพลาง ๆ ก่อน

เงินในส่วนที่รัฐบาลไทยออกสมทบนี้ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบให้ ศ.ดร.พนม สมิตานนท์ ผู้ประสานงานโครงการและอาจารย์พร ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการเป็นผู้ควบคุมดูแล และพิจารณานำเสนออธิการบดีอนุมัติ

การติดตั้งเสาอากาศ

พร้อม ๆ กับการสร้างห้องกระจายเสียง อาจารย์พร ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ของสถานีวิทยุยานเกราะมาช่วยติดตั้งเสาอากาศให้ การติดตั้ง มีปัญหาพอสม เนื่องจากพื้นที่บริเวณอาคารเรือนเขียวมีจำกัด ด้านหลังเป็นคลองระบายน้ำ หาที่จะตั้งเสาอากาศลำบาก มีที่ว่างที่พอจะตั้งเสาอากาศได้ อยู่ระหว่างเรือนเขียวกับตึกสัตวบาล (สหกรณ์ร้านค้าในปัจจุบัน) แต่มีต้นทางนกยุงต้นใหญ่ขึ้นอยู่บริเวณนั้น 1 ต้น อาจารย์พร ให้คนงานขึ้นไปรานกิ่งลงเพื่อว่าเวลาโค่นกิ่งจะได้ไม่ไปฟาดสายไฟฟ้า

อาจารย์พรเล่าว่า ขณะที่กำลังจะโค่นต้นหางนกยูงอยู่นั้น อาจารย์อินทรี ผ่านมาพอดี พอท่านรู้ว่าจะโค่นต้นหางนกยูง เพื่อตั้งเสาอากาศ ท่านบอกว่าห้ามโค่นโดยเด็ดขาด ให้ไปหาที่อื่นที่จะติดตั้งเสาอากาศ ท่านบอกว่า กว่าต้นหางนกยูงจะโตได้ขนาดนี้ ต้องใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี การที่จะใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงมาโค่นลงเป็นการไม่ถูกต้อง

ในที่สุด อาจารย์พร ต้องขึ้นเสาอากาศตรงจุดนั้นโดยที่มีต้นหางนกยูงยังขึ้นอยู่ แต่ก็ได้ริดกิ่งออกบ้างเพื่อไม่ให้เกะกะสายสลิงสำหรับยึดเสา เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าไปดูซากของอาคารเรือนเขียวที่ถูกรื้อเหลือแต่เสา ต้นหางนกยูงต้นนั้นโคนตัดไปตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบ

เสาอากาศที่ติดตั้งในครั้งนั้นสูงเพียง 36 เมตร จะตั้งให้สูงกว่านั้นไม่ได้ เพราะบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นบริเวณทางขึ้นของเครื่องบิน ไม่สามารถจะก่อสร้างสิ่งที่สูง ๆ ได้

การติดตั้งเสาอากาศในครั้งนั้น ทำให้พวกเรารวมทั้งนิสิตและอาจารย์หลายคนได้เห็นวิธีการยกเสาอากาศขึ้นไปต่อกันทีละท่อนในอากาศ ซึ่งพวกเราสงสัยกันมานานแล้วว่าเขายกขึ้นไปต่อกันได้อย่างไร

การทดลองออกอากาศครั้งแรก

การสร้างห้องกระจายเสียง การติดตั้งเสาอากาศ การติดตั้งเครื่องส่ง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งนี้ด้วยความอนุเคราะห์จาก พ.ต.เล็ก และ ร.อ.สุรินทร์ อยู่น้อย (ภายหลัง ได้เป็นพันเอก) ได้มาช่วยเหลือทุกอย่าง จนกระทั่งออกอากาศได้ รวมทั้งช่วยฝึกเจ้าหน้าที่ของสถานีวิทยุ ม.ก. ฝึกงานให้รู้วิธีการควบคุม ดูแล การเปิดปิดเครื่องส่งกระจายเสียงให้อีกด้วย

อาจารย์พรพูดเสมอว่า สถานีวิทยุ ม.ก. เป็นหนี้บุญคุณ พลตรีเล็ก และ พันเอกสุรินทร์ เป็นอย่างมาก หากไม่ได้บุคคลทั้งสอง ไม่แน่ใจว่าสถานีวิทยุ ม.ก. จะเกิดได้หรือไม่

เมื่อทุกอย่างอยู่ในสภาพที่พร้อม การทดลองออกอากาศได้เริ่มขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่าได้เริ่มทดลองครั้งแรกออกอากาศราว ๆ ต้นปี พ.ศ.2504 ด้วยขนาดคลื่น 1310 กิโลเฮิตซ์ วันแรก ๆ ที่มีเสียง (เพลง) ออกอากาศ พวกเราทุกคนต่างตื่นเต้นและดีใจไปตาม ๆ กัน เพราะเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นของมหาวิทยาลัยเอง

การออกอากาศในช่วงแรก ๆ ทำการออกอากาศตั้งแต่ 18.00 น. จนถึง 24.00 น. แล้วปิดสถานีเป็นการออกอากาศเพื่อทดสอบเครื่องส่งว่าทำงานได้ดีหรือไม่ ปรากฏว่าคุณภาพเสียงที่รับฟังอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้

การทดลองออกอากาศในครั้งนั้น อาจารย์ และนิสิตในภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่ ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการควบคุมเสียง ช่วยกันเปิดเพลง ช่วยกันประกาศ รวมทั้งช่วยเก็บกวาดทำความสะอาดห้องส่งและที่ทำงาน

การตั้งชื่อสถานีวิทยุ

หลังจากออกอากาศได้ประมาณ 1 สัปดาห์ อาจารย์เจือ ข้าพเจ้า และนิสิตฝึกงาน 2-3 คน ปรึกษากันว่าจะใช้ชื่อสถานีวิทยุว่าอย่างไรดี เพราะต่อไปต้องประกาศให้ผู้ฟังทราบว่า สถานีวิทยุที่เขากำลังรับฟังอยู่นั้นเป็นสถานีอะไร

ข้าพเจ้าเสนอว่าน่าจะใช้ชื่อว่า สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่อาจารย์เจือบอกว่าชื่อยาวไป เวลาประกาศชื่อสถานีจะทำความลำบากให้กับโฆษณา ควรจะเป็นชื่อสั้น ๆ มีบางคนเสนอว่าควรใช้ชื่อว่า สถานีวิทยุเกษตร 1310 คือเอาชื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผสมกับความถี่ของคลื่นที่ออกอากาศ เพราะการเรียกชื่อมหาวิทยาลัยในยุคนั้นนิยมเรียกชื่อย่อสั้น ๆ เช่น จุฬา ธรรมศาสตร์ แพทย์ เกษตร พอพูดว่าเกษตร ก็ทราบถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในที่สุดอาจารย์เจือบอกว่าให้ใช้ชื่อว่า สถานีวิทยุ ม.ก. และให้ต่อท้ายด้วยคำว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงทดลองมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าสถานีวิทยุ ม.ก. เป็นสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ออกตรวจสอบการกระจายเสียง

เมื่อทดลองออกอากาศได้ผลเป็นที่พอใจ จังได้วางแผนเวลาออกอากาศใหม่ คือ ออกอากาศตั้งแต่ 18.00-06.00 น. ของวันใหม่ พวกเราได้ออกไปทำการตรวจสอบรัศมีการรับฟังว่าสถานีวิทยุ ม.ก. สามารถรับฟังได้ใกล้ไกลแค่ไหน ในการออกไปตระเวนตรวจผลการรับฟัง พวกเราได้ขอยืมรถดอร์จ ซี่งเป็นรถประจำตำแหน่งของอาจารย์พร (ผู้ช่วยหัวหน้าประสานงานโครงการเกษตรศาสตร์-ออกเรกอน) เพราะในรถคันนั้นมีเครื่องรับฟังวิทยุติดอยู่ด้วย สมัยนั้นวิทยุทรานซิลเตอร์ กระเป๋าหิ้วแบบที่มีขายทั่วไป ในปัจจุบันหายาก ราคาแพง พวกเราออกรถตั้งแต่ 5 ทุ่ม ตระเวนไปจุดต่าง ๆ ผ่านไปตามร้านอาหารต่าง ๆ สังเกตุดูจะพบว่า ถ้าในช่วงก่อน 24.00 น. ร้านอาหารจะไม่มีใครเปิดสถานีวิทยุ ม.ก. ฟัง เพราะเสียงจากสถานีวิทยุอื่น ๆ ดังกว่า แต่พอหลังสองยามไปแล้ว สถานีวิทยุอื่น ๆ ปิดสถานีหมด เหลือแต่สถานีวิทยุ ม.ก. แวะเข้าไปร้านไหน ร้านนั้น เปิดสถานีวิทยุ ม.ก. กันเป็นแถว เพราะมีอยู่สถานีเดียวที่ออกอากาศตอนดึก

ในยุคนั้นเกือบจะเป็นสูตรตายตัว ถ้าสถานีวิทยุใดเปิดใหม่ สถานีวิทยุนั้นจะต้องทำการออกอากาศตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สถานี สถานีวิทยุ ม.ก. ใช้วิธีการอันเดียวกัน เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองให้คนรู้จัก

จากการตรวจสอบรัศมีการรับฟัง ปรากฏว่า ในเขตพระนคร ธนบุรี รับฟังได้ดีเกือบทุกจุด แต่พอเลยเขตพระนคร ธนบุรี ออกไป การรับฟังไม่ได้ผล คือเสียงเบา และมีเสียงซ่ามาก พวกเราออกตระเวนการรับฟังอยู่หลายคืน กว่าจะกลับก็ตีหนึ่งตีสอง พอหิวก็แวะร้านข้าวต้ม เข้าไปในร้านอาหาร บางทียังไม่ทันนั่ง ได้ยินเสียงวิทยุในร้านประกาศว่า ที่นี่สถานีวิทยุ ม.ก. สถานีวิทยุกระจายเสียงทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการออกอากาศเพื่อทดลองประสิทธิภาพของเครื่องส่ง พวกเราก็ยิ้มไปตาม ๆ กัน

สถานีวิทยุ ม.ก. ได้ทำการออกอากาศตั้งแต่ 18.00 น. จนกระทั่งสว่าง อยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ พอเห็นว่าคนในกรุงเทพฯ พอจะรู้จักสถานีวิทยุ ม.ก. บ้างแล้ว เราได้เปลี่ยนแปลงเวลาออกอากาศใหม่ คือ

วันอาทิตย์ถึงพฤหัสบดี ออกอากาศตั้งแต่ 18.00-01.00 น. วันศุกร์และวันเสาร์ ออกอากาศตั้งแต่ 18.00-06.00 น. ของวันใหม่

หลังจากดำเนินการไปได้ 1 เดือนเศษ ๆ เห็นว่า สถานีวิทยุ ม.ก. เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้ฟังบ้างแล้ว โดยเฉพาะคนที่นอนดึก จดหมายเริ่มเข้ามายังสถานี เพราะว่าเป็นสถานีที่ไม่มีโฆษณา เปิดเพลงตลอดรายการ เพลงที่เปิดมีทั้งเพลงไทยสากล เพลงสากล (ฝรั่ง) เพลงไลท์มิวสิก และบางครั้งมีเพลงคลาสสิกแถมบ้าง เพราะอาจารย์เจือชอบเพลงประเภทนี้

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาออกอากาศใหม่ เพราะคณะปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นนิสิต ต้องเรียนหนังสือ หากนอนดึกทุกคืน เข้าชั้นเรียนคงไม่ไหว จึงได้เปลี่ยนเวลาออกอากาศใหม่เป็นช่วง 06.00-08.00 น., 10.00-14.00น., 16.00-22.00 น. แล้วปิดสถานี ส่วนวันศุกร์-เสาร์ ยืดเวลาปิดสถานีออกไปเป็น 24.00 น

อาจารย์พรบริจาคแผ่นเสียงให้

การออกอากาศด้วยรายการที่มีเพลงเกือบ 90% ทำให้แผ่นเสียงที่มีอยู่อันจำกัด ถูกเปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก งบที่จะซื้อแผ่นก็ไม่มี พวกเราจึงได้บอกไปยังบรรดาอาจารย์ เพื่อขอบริจาคแผ่นเสียงปรากฏว่าในช่วงนั้น มีอาจารย์ของ ม.ก. หลายท่านที่ได้ทุนเกษตรศาสตร์-ออเรกอน ไปเรียนต่อที่อเมริกาและจบกลับมา ทุกคนมีแผ่นเสียงลองเพล (เพลงสากล) นับร้อย ๆ แผ่น มีหลายท่านได้นำมาบริจาคให้ด้วยความเต็มใจ และมีหลายท่านได้ให้ยืม ทำให้สถานีวิทยุ ม.ก. มีเพลงมากขึ้น และในยุคนั้น เป็นยุคที่คนไทยนิยมฟังเพลงฝรั่ง แม้จะฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง ก็นิยมฟังกัน เพราะเพลงฝรั่งดนตรีไพเราะการเรียบเรียงเสียงประสานดีเพลงของไทยเรา โดยเฉพาะดนตรียังไม่ดีเท่าที่ควร การที่อาจารย์ได้บริจาคแผ่นเสียงให้ ทำให้สถานีวิทยุ ม.ก. มีเพลงเพราะ ๆ มากขึ้น และทำให้พวกเราทุกคนมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานมากขึ้น และทำให้พวกเราทุกคนมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานมากขึ้น

จ้างนิสิตเป็นเจ้าหน้าที่

เมื่อสถานีวิทยุ ม.ก. ได้ตั้งขึ้นมาใหม่ ๆ เงินที่จะจ้างเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานไม่มี อาจารย์พรจึงให้นิสิตฝึกงานที่ทำงานอยู่กับแผนกวิชาส่งเสริมฯ 2-3 คน มาช่วยปฏิบัติงานที่สถานีวิทยุ ม.ก. ต่อมาเมื่อสถานีวิทยุพอมีรายได้บ้าง จึงได้จ้างนิสิตเพิ่มขึ้น เป็น 5-6 คน ต่อมาเมื่อนิสิตคนใดจบออกไปก็จ้างนิสิตคนใหม่เข้ามาทำงานแทน หมุนเวียนเรื่อยไป นิสิตที่มาช่วยทำงานได้ค่าจ้างเดือนละ 240 บาท

การจ้างนิสิตมาช่วยปฏิบัติงาน ได้ผล 3 ประการ

สถานีวิทยุ ม.ก. เสียค่าจ้างน้อย เพราะมีงบจำกัด แต่ได้ผลงานดีพอ ๆ กับจ้างลูกจ้างโดยทั่วไป
นิสิตที่มาช่วยงาน เท่ากับได้ฝึกงานหาประสบการณ์ไปในตัว
นิสิตได้เงินค่าจ้าง เท่ากับได้ทุนการศึกษาเป็นการแบ่งเบาภาระทางบ้าน
งานที่มอบหมายให้นิสิตทำคือ ควบคุมเสียง เป็นโฆษณา จัดทำรายการ เรียบเรียงผลงานวิจัย (วิทยานิพนธ์) ให้เป็นภาษาง่าย ๆ

นับได้ว่า นิสิตได้ช่วยงานของสถานีวิทยุ ม.ก. อยู่มาก ในช่วงนั้น

กรรมการบริหารวิทยุ ม.ก.

เมื่อสถานีวิทยุ ม.ก. ได้กระทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 สิงหาคม 2504 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า สถานีวิทยุ ม.ก. เป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสื่อที่เผยแพร่ข่าวสารไปยังผู้ฟังได้อย่างกว้างขวางประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศกำลังมีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ รัฐบาลกำลังเข้มงวดกับการเผยแพร่ข่าวสารทางวิทยุกระจายเสียง โดยเกรงว่า สถานีวิทยุต่าง ๆ จะเป็นเครื่องมือของผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยไม่รู้ตัว

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุ ม.ก. เมื่อปี พ.ศ.2505 หลังจากที่ได้กระทำพิธีเปิดสถานีวิทยุ ม.ก. ไม่นาน กรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วย

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร เลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการ
ศ.ดร.พนม สมิตานนท์ หัวหน้าสำนักส่งเสริมและเผยแพร่ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เลขานุการคณะต่าง ๆ 7 คณะเป็นกรรมการ
รศ.พร สุวรรณวาจกกสิกิจ หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.ก. เป็นผู้เข้าร่วมประชุม
คณะกรรมการชุดนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2511 จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารอีกครั้งหนึ่ง

การรับจ้างโฆษณาสินค้าครั้งแรก

นับจากวันที่สถานีวิทยุ ม.ก. ได้เริ่มทดลองออกอากาศและได้ทำการกระจายเสียงเรื่อยมา จนถึงวันเปิดสถานี (10 ส.ค. 2504) และหลังจากวันกระทำพิธีเปิดสถานีแล้ว สถานีวิทยุ ม.ก. ก็ได้ออกอากาศด้วยรายการเพลง สลับสารคดีการเกษตรเรื่อยมา โดยมิได้ทำการรับจ้างโฆษณาใด ๆ ทั้งสิ้น

อันนี้เนื่องมาจากว่าสถานีวิทยุ ม.ก. เป็นสถานีที่กำลังเครื่องส่งต่ำ รัศมีการรับฟังไปได้ไม่ไกล คนรับฟังน้อย สู้สถานีวิทยุอื่น ๆ ที่มีกำลังเครื่องส่งสูงไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อไปหาโฆษณา ทางบริษัทห้างร้านไม่สนใจ เพราะได้ผลไม่คุ้มค่า

ด้วยเหตุดังกล่าว รายรับของสถานีไม่มี มีแต่รายจ่าย ค่าจ้างนิสิตฝึกงานก็ได้อาศัยเงิน อ.อ.ป. (เงินที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีละ 3 ล้านบาท) บ้าง เงินสมทบ (CF) บ้าง อาจารย์พรเห็นว่า ถ้าปล่อยไปอย่างนี้เรื่อย ๆ โอกาสที่จะพัฒนาและปรับสถานีให้ดีขึ้นคงทำได้ยาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว อาจารย์พรจึงได้นำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2505 โดยขอปรับปรุงเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุ ม.ก. เสียใหม่คือ

ภาคปกติ ออกอากาศทุกวัน
ภาคเช้า ออกอากาศเวลา 06.30-07.30 น.
ภาคกลางวัน ออกอากาศเวลา 12.00-13.00 น.
ภาคค่ำ ออกอากาศเวลา 17.00-20.00 น.
ภาคพิเศษ ออกอากาศเฉพาะวันศุกร์, เสาร์ และวันอื่น ๆ ที่วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดราชก
พิเศษนี้จะออกอากาศเริ่มตั้งแต่เวลา 24.00-06.00 น.
นอกจากขออนุมัติปรับปรุงเวลาออกอากาศแล้ว อาจารย์พรได้ขออนุมัติต่อที่ประชุมว่า ในการออกอากาศภาคพิเศษนี้ ใคร่ขออนุมัติต่อที่ประชุม ขอทำการโฆษณาสินค้า ทางสถานีวิทยุ ม.ก. เพื่อหารายได้มาจุนเจือค่าใช้จ่ายของสถานี เช่น ค่าแผ่นเสียง ค่าเข็มเล่นแผ่นเสียง ค่าอาหลั่ยต่าง ๆ ค่าเครื่องดื่มรับรองแขกที่มาเยี่ยมสถานี

การโฆษณาจะทำการโฆษณาแบบ Spot คิดค่าโฆษณา Spot ละ 20 บาทต่อครั้ง คาดว่าจะมีรายได้เดือนละ 800 บาท

ที่ประชุมได้ลงมติให้ปฏิบัติเป็นการทดลองดูก่อน ว่าจะมีรายได้คุ้มค่าในการกระจายเสียงภาคพิเศษหรือไม่

เหตุที่รับจ้างโฆษณา เฉพาะในช่วงเวลาภาคพิเศษ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่ 24.00-06.00 น. นั้น ด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว สถานีวิทยุอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะปิดสถานี การหาโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าวหาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากคู่แข่งน้อย เพราะสถานีวิทยุ ม.ก.เป็นสถานีเล็ก ฉะนั้นต้องออกหากินในขณะที่คนอื่นหลับ จึงจะพอมีกินบ้าง

จากจุดเริ่มต้นที่คณะกรรมการบริหารสถานี วิทยุ ม.ก. ได้อนุมัติให้ทดลองรับจ้างโฆษณาหารายได้ในครั้งนั้น ทำให้สถานีวิทยุ ม.ก. ได้เจริญก้าวหน้า หารายได้เลี้ยงตัวเองเรื่อยมา และยังมีเงินเหลือได้นำมาจุนเจือสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยเรื่อยมาจน ตราบเท่าทุกวันนี้

ขยายเครื่องส่งเป็น 1 กิโลวัตต์

ตั้งแต่ได้เริ่มออกอากาศในปี พ.ศ.2504 สถานีวิทยุ ม.ก. ได้ทำการออกอากาศด้วยเครื่องส่ง 250 วัตต์ เรื่อยมา ต่อมาในเดือน มกราคม 2505 อาจารย์พร ในฐานะหัวหน้าสถานีวิทยุ ม.ก. ได้ทำโครงการขอขยายกำลังเครื่องส่งให้สูงขึ้น และได้นำเสนอต่อที่ประชุม กรรมการบริหารสถานีวิทยุ ม.ก. ครั้งที่ 1/2505 โดยให้เหตุผลที่ว่า สถานีวิทยุต่าง ๆ ในเขตพระนคร ได้ส่งกระจายเสียงโดย Band width ออกมากวน ทำให้การรับฟังสถานีวิทยุ ม.ก. ในเขตพระนคร ธนบุรี บางจุด ไม่สามารถรับฟังได้ จึงขอขยายกำลังเครื่องส่ง

ในการขยายกำลังเครื่องส่งนี้ ในช่วงแรกสมควรที่จะขยายกำลังเครื่องส่งเป็น 1 กิโลวัตต์ ก่อน โดยจะซื้อเครื่องที่สร้างขึ้นในประเทศไทย เพราะราคาไม่แพงมากนัก และจะขอใช้เงินทุนสมทบ (CF) ประมาณ 80,000 บาท ที่ประชุมพิจารณาแล้วรับหลักการ

ต่อจากนั้นอาจารย์พรได้ติดต่อกับร้านวิชัยพานิช ใกล้ ๆ กับโรงพยาบาลหัวเฉียว ให้ช่วยสร้างเครื่องส่งขนาด 1 กิโลวัตต์ ให้ 1 เครื่อง โดยมีสัญญาว่าจะผ่อนชำระเป็นรายเดือน จนกว่าจะหมด

เครื่องส่งขนาด 1 กิโลวัตต์ ได้สร้างเสร็จและนำมาทำการทดลองออกอากาศ ประมาณกลางปี พ.ศ.2506 ผลปรากฏว่ารัศมีการกระจายเสียงไปได้ไกลพอสมควร ครอบคลุมจังหวัดในภาคกลางได้หลายจังหวัด

ปัญหารายได้ไม่พอจ่าย

การขยายกำลังเครื่องส่งเป็น 1 กิโลวัตต์ ก็ด้วยการคาดหวังที่จะหารายได้จากการรับจ้างโฆษณา มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถานี แต่เมื่อดำเนินกิจการเข้าจริง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างคาดหวัง เงินรายได้ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่ควร แต่รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการจ้างเจ้าหน้าที่ประจำแทนการจ้าง นิสิต หลายคน เงินเดือนเจ้าหน้าที่ประจำต้องจ้างตามอัตราเงินเดือนข้าราชการ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องผ่อนส่งค่าเครื่องส่งอีกต่างหาก

ฐานะการเงินของสถานีวิทยุ ม.ก.ในช่วงดังกล่าวอยู่ในนสภาพที่ย่ำแย่ ทราบว่าบางครั้งถ้าเงินขาดมือ อาจารย์พร ต้องไปเอาเงินจากคุณแม่ มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสถานีวิทยุ ม.ก. ในช่วงนั้นอยู่ในสภาวะวิกฤติ การผ่อนชำระค่าเครื่องส่งไม่ได้เป็นตามสัญญา เพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย

สภาวะวิกฤติของสถานีวิทยุ ม.ก. ในช่วงนั้นสร้างความหนักใจให้กับอาจารย์พรเป็นอย่างมาก หนี้สินยังชำระไม่หมด เงินค่าจ้างเจ้าหน้าที่ และนิสิตเริ่มจะมีบ้างไม่มีบ้าง นิสิตคนใดที่จบการศึกษาไปแล้ว จะไม่จ้างนิสิตใหม่เข้ามาทำงานแทน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ถ่ายทอดนอกสถานที่ครั้งแรก

ในเดือนธันวาคม 2506 ชาวไร่ที่อำเภอปากช่อง ซึ่งมีนิสิตเก่า ม.ก. หลายคนไปทำไร่อยู่ที่นั่นจะจัดให้มีงานวันชาวไร่ ครั้งที่ 31/ ขึ้นที่อำเภอปากช่อง บริเวณฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าสถานีวิจัยปากช่องของ ม.ก. ปัจจุบัน

ในการจัดงานครั้งนั้น คณะกรรมการจัดงานได้ขอให้อาจารย์พร ไปทำการถ่ายทอดเสียงในงานออกอากาศทางสถานีวิทยุ ม.ก. อาจารย์พรเห็นว่าเครื่องส่งขนาด 250 วัตต์ ยังใช้การได้ดี จึงรับปากจะไปทำการถ่ายทอดออกอากาศให้ ทำให้คณะกรรมการจัดงานรู้สึกตัวพองไปตาม ๆ กัน เพราะในยุคนั้นถ้างานใดมีการถ่ายทอดวิทยุออกอากาศ นับว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่ง

อาจารย์พร ได้ยกขบวนเจ้าหน้าที่วิทยุและเจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมฯ ไปช่วยงานกันครบทีมเพราะเป็นครั้งแรกของสถานีวิทยุ ม.ก. ที่ออกทำการถ่ายทอดนอกสถานที่

ข้าพเจ้าจำได้ว่าในการ่ถายทอดครั้งนั้น อาจารย์พร เป็นฝ่ายอำนวยการถ่ายทอด อาจารย์เจือเป็นฝ่ายเสนาธิการ ข้าพเจ้า อาจารย์ธัชชัย แสงสิงแก้ว เป็นฝ่ายรายการ ส่วนฝ่ายช่างเป็นนิสิตฝึกหัดงาน มีคุณวิษณุ บุษปะเวศน์ คุณชาตรี พิทักษ์ไพรวัน คุณมงคล ชูเชาว์ ฯลฯ

กองอำนวยการตั้งอยู่กลางงาน โดยเอาผ้าร่มมาทำเป็นกระโจม แบบกระโจมอินเดียนแดง เครื่องส่งและเสาอากาศอยู่เชิงเขา (บริเวณงานติดภูเขา) ห้องส่งกระจายเสียงใช้รถแพคการ์ด (Pack-card) เป็นรถเก๋งรุ่นเก่า (เก่าเก็บ) คันใหญ่ของอาจารย์หลวงอิงคศรีกสิการ อธิการบดี ซึ่งได้ยกให้สำนักส่งเสริมฯ และอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี (ถ้ารถคันนั้นยังอยู่ในปัจจุบันคงชนะการประกวดรถเก่าไปหลายครั้ง) การส่งกระจายเสียงได้ใช้วิธีเคลื่อนย้ายห้องส่ง (รถยนต์) ไปตามจุดต่าง ๆ ทั่วบริเวณงาน โดยใช้เครื่อง เอฟ.เอ็ม. เล็ก ๆ ยิงไปที่เครื่องส่ง เอ.เอ็ม. 250 วัตต์ ที่อยู่เชิงเขา

การถ่ายทอดครั้งนั้นทำให้ชาวปากช่องตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน ที่งานเล็ก ๆ ระดับอำเภอมีการถ่ายทอดออกอากาศ คลื่นที่ออกอากาศคือ 1310 กิโลเฮิตซ์

(งานวันชาวไร่ ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2504) และครั้งที่ 2 (พ.ศ.2505) จัดให้มีขึ้นที่ไร่ของ จอมพลสฤษโ ธนะรัตน์ “ธนะฟาร์ม” สำนักส่งเสริมฯ ได้รับมอบหมายจาก มหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ประสานงานกับกรมกองต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตร ให้ไปร่วมจัดงาน โดยมีอาจารย์พร เป็นผู้ประสานงาน)

การถ่ายทอดออกอากาศในช่วงกลางคืนเป็นช่วงที่ทรมานที่สุด เพราะอากาศที่ปากช่องในเดือนธันวาคมปีนั้นหนาวมาก คิดว่าคงอยู่ราว ๆ 8-10 องศาเซลเซียส รถแพคการ์ด ที่เป็นห้องส่งกระจายเสียงไม่มีเครื่องปรับอากาศ ถ้าปิดกระจกรถหมดทุกด้านพอทนหนาวได้ แต่หายใจไม่ออก อึดอัด ในที่สุดต้องยอมทนหนาว โดยยอมเปิดกระจกบางช่อง ยอมให้ความหนาวเข้าไปในรถ เวลาประกาศแต่ละครั้งความหนาวทำให้คาง โฆษกสั่นเป็นจังหวะ เสียงฟันกระทบกัน ดังออกอากาศไปพร้อมกับเสียงที่ประกาศ ฟังแล้วได้บรรยากาศ

อาจารย์พรได้รับเชิญไปงานเลี้ยงที่ธนะฟาร์ม พร้อมกับกรรมการจัดงานอื่น ๆ ในคืนก่อนวันสุดท้ายของงานและกลับมาเล่าให้พวกเราฟังว่า ในงานวันนั้นมีใคร่ไม่ทราบร้องเพลงเย้ยฟ้าท้าดินให้จอมพลสฤษดิ์ฟัง ปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ชอบมาก ขอให้ร้องอีก ตั้งแต่นั้นมาไม่ว่าออกงานที่ไหน เพลงประจำตัวของอาจารย์พร คือเพลงเย้นฟ้าท้าดิน

ยืมเงินภาคเอกชนมาลงทุน

เมื่อปัญหาด้านการเงินประดังเข้ามา ทำให้อาจารย์พรนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เคยเรียนที่โรงเรียนกรมประชาสัมพันธ์ด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ.2505 คือ น.อ.จิรพล ธูปทอง ร.น. (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นนาวาเอก และได้ลาออกจากราชการมาประกอบธุรกิจส่วนตัว) หัวหน้าสถานีวิทยุทหารเรือ (ส.ทร.) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในการบริหารงานของสถานีวิทยุ ส.ทร.

ประมาณกลางปี พ.ศ.2506 อาจารย์พร ได้ปรึกษาหารือกับ น.อ.จิรพล เกี่ยวกับปัญหาของสถานีวิทยุ ม.ก. ว่าจะแก้ไขอย่างไรดี น.อ.จิรพลได้เสนอแนะว่า ควรจะขยายกำลังเครื่องส่งเป็น 10 กิโลวัตต์ เหมือนกับสถานีวิทยุอื่น ๆ ซึ่งในขณะนั้นออกอากาศด้วยเครื่องส่ง 10 กิโลวัตต์ กันเป็นส่วนใหญ่

อาจารย์พร ได้บอกว่า ถ้าจะขยายเครื่องส่งเป็น 10 กิโลวัตต์ ต้องใช้เงินมาก มหาวิทยาลัยไม่มีงบประมาณมากพอที่จะนำมาลงทุน น.อ.จิรพล ได้เสนอว่า เรื่องเงินลงทุนนั้นจะช่วยหามาให้ โดยจะไปยืมจากบริษัทห้างร้านต่าง ๆ มาก่อน และเมื่อสถานีวิทยุ ม.ก. ทำการออกอากาศแล้ว ทางสถานีวิทยุ ม.ก. จะทำการโฆษณาสินค้าของบริษัทนั้น ๆ เป็นการชดใช้หนี้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการขายเวลาโฆษณาล่วงหน้า และสถานีวิทยุที่มีกำลังเครื่องส่ง 10 กิโลวัตต์ การหาโฆษณาหาได้ง่าย

อาจารย์พรได้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับ ศ.ดร.พนม สมิตานนท์ ในฐานะผู้บังคับบัญชา และหารือ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ในฐานะเลขาธิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ผู้ใหญ่ทั้งสองท่านเห็นว่าเป็นการยืมเงินภาคเอกชนมาลงทุน ไม่ผิดระเบียบอันใด

เปลี่ยนเครื่องส่งเป็น 10 กิโลวัตต์

เมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหาร อาจารย์พร จึงได้แจ้งให้ น.อ.จิตพล ทราบ และเริ่มดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ น.อ.จิรพล ทำการติดต่อกับบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เพื่อขอยืมเงินมาก่อนส่วนหนึ่ง และไปกู้เงินจากเอกชนมาอีกส่วนหนึ่ง (ดอกเบี้ยตลาดมืด)

งานขั้นแรก คือลงมือสร้างเครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ โดยให้เรือตรีสวัสดิ์ สีลมัฐ ซึ่งมีความชำนาญในการสร้างเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นผู้สร้าง โดยการซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนจากต่างประเทศบ้าง และที่ผลิตในเมืองไทยบ้าง เครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ ของสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน ได้ส่งกระจายเสียงออกอากาศเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2507 ด้วยความถี่ 662 กิโลเฮิตซ์ ส่วนความถี่ 1310 กิโลเฮิตซ์ไม่ได้ใช้

นับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของสถานีวิทยุ ม.ก. ที่เริ่มต้นจากเครื่องส่งขนาดเล็ก ๆ มีกำลังส่ง 250 วัตต์ และหยิบยืมเขามา ได้ก้าวมาสู่เครื่องส่งที่มีกำลังออกอากาศเป็น 10 กิโลวัตต์ โดยที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว นับเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง

นิสิต-อาจารย์ ไม่พอใจวิทยุ ม.ก.

เมื่อสถานีวิทยุ ม.ก. ได้ปรับปรุงเครื่องส่งเป็น 10 กิโลวัตต์ การโฆษณาสินค้าเต็มรายการทุกวัน นอกจากจะโฆษณาใช้หนี้บริษัทห้างร้านที่เอาเงินเขามาก่อนแล้ว ยังต้องโฆษณาหารายได้เพื่อนำมาใช้ในกิจการสถานีอีกด้วย ทำให้สถานะการเงินของสถานีวิทยุ ม.ก. ดีขึ้นกว่าเดิม

บริษัทห้างร้านที่ไปเอาเงินเขามาก่อน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขายยารักษาโรค (สมัยนั้นยังไม่ห้ามโฆษณายาทางสถานีวิทยุ และโทรทัศน์) บริษัทขายเครื่องสำอาง หรือขายผงซักฟอก บุคคลในเป้าหมายของสินค้าพวกนี้คือชาวบ้านและเกษตรกร

ฉะนั้น ถ้าเป็นรายการเพลงสลับการโฆษณาสินค้าประเภทนี้ ต้องเป็นเพลงที่คนกลุ่มนี้ชอบฟัง คือ เพลงลูกทุ่ง ในสมัยนั้นเขาไม่เรียกว่าเพลงลูกทุ่ง เขาเรียกว่าเพลงตลาด เพราะเป็นเพลงที่พวกแม่ค้าขายผักขายปลาตามตลาดชอบฟังกัน เขาจึงเรียกชื่อเพลงว่าเพลงตลาด ฉะนั้นถ้าใครฟังเพลงประเภทนี้ถือว่าเป็นพวกมีรสนิยมต่ำ

การที่สถานีวิทยุ ม.ก. ซึ่งเป็นสถานีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เป็นเจ้าของสถานีคือคนชนชั้นปัญญาชน เมื่อเอาเพลงตลาดมาเปิดทำให้ทั้งอาจารย์และนิสิต รู้สึกไม่พอใจมากพอสมควรคล้าย ๆ กับว่าสถานีวิทยุ ม.ก. ทำลายศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะเอาเพลงตลาดมาเปิดออกอากาศ

อาจารย์พรได้พยายามชี้แจงเท่าที่จะชี้แจงได้ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัยทางการเกษตร แล้วนำผลการค้นคว้านั้นไปเผยแพร่สู่เกษตรกร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ไปสู่ชุมชนบุคคลเป้าหมายคือ เกษตรกร ฉะนั้นถ้าจะให้เกษตรกรฟังรายการของสถานีวิทยุ ม.ก. ต้องเปิดเพลงตลาด คือ เพลงที่เขาชอบ แล้วแทรกวิชาการเข้าไป

ถ้าเปิดเพลงลูกกรุง หรือเพลงฝรั่งที่อาจารย์และนิสิตชอบ พูดได้ว่าไม่มีเกษตรกรคนใดฟังวิทยุ ม.ก.แน่ ๆ

แม้อาจารย์พรจะมีเหตุผลชี้แจงอย่างไรกลุ่มนิสิต อาจารย์บางส่วนก็ยังไม่เข้าใจ ในที่สุดอาจารย์และนิสิตไม่มีใครฟังสถานีวิทยุ ม.ก. แต่ไม่เป็นไร เพราะบุคคลในเป้าหมาย คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ชอบฟังสถานีวิทยุ ม.ก. เพราะเป็นสถานีเดียวที่มีรายการเกี่ยวกับเกษตรมากที่สุดในประเทศไทย

รัฐวิสาหกิจแห่งแรกของ ม.เกษตร

เมื่อสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน ได้ออกอากาศด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ และดำเนินการเป็นไปในรูปธุรกิจ คือหารายได้เลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องอาศัยเงินงบประมาณและทางรัฐบาลได้มีคำสั่ง ให้สถานีวิทยุทุกสถานีที่ดำเนินกิจการแบบเลี้ยงตัวเองนี้ ไปทำการจดทะเบียนการค้าที่กรมสรรพากรหรือสรรพากรอำเภอ เพื่อจะได้เสียภาษีให้ถูกต้อง

สถานีวิทยุ ม.ก. ได้ไปจดทะเบียนที่อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ได้ทะเบียนเลขที่ 10380732 ออกให้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2507 ในใบทะเบียนการค้าระบุว่า ชื่อผู้ประกอบการค้าคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นับเป็นครั้งแรกที่ ม.ก. ได้ประกอบธุรกิจการค้าอย่างเป็นทางการ ถ้าจะพูดว่าสถานีวิทยุ ม.ก. เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นจะไม่ผิด

วารสารวิทยุ ม.ก.

อาจารย์พรได้ปรารภว่า บทความหรือสารคดีที่นำมาออกอากาศล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ เมื่อออกอากาศไปแล้ว คนฟัง ๆ แล้วก็เลือนหายไป ไม่มีอะไรเหลือเป็นหลักฐานควรจะได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปสู่ผู้ฟัง และบุคคลอื่น ๆ ที่สนใจ ในที่สุดได้ตกลงกันว่า ควรจะจัดทำหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่งออกเป็นรายเดือน โดยใช้เงินรายได้ของสถานีวิทยุและเงินที่จะได้จากการลงโฆษณาในหนังสือ

หนังสือดังกล่าวได้ออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2507 ให้ชื่อว่า สาร-วิทยุ ม.ก. เป็นหนังสือขนาด เอ.4 พับครึ่ง อาจารย์ชาคริต จุลกะเสวี เป็นบรรณาธิการ อาจารย์พร สุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผู้จัดการทั่วไป หนังสือสารวิทยุ ม.ก.ได้ออกติดต่อกัน 4–5 เล่ม แล้วหยุดไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 หนังสือสาร-วิทยุ ม.ก. ได้ออกมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เปลี่ยนชื่อไปจากชื่อเดิมเป็น วารสารสถานีวิทยุ ม.ก. ได้ออกฉบับแรกของยุคที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม 2520 เป็นหนังสือ ขนาด 8 หน้ายก (เล็ก) โดยมี รศ.ธัชชัย แสงสิงแก้ว เป็นบรรณาธิการ วารสารสถานีวิทยุ ม.ก. ได้พิมพ์ออกมา 5 ฉบับ และได้หยุดไปเมื่อปี พ.ศ. 2522

อาจารย์พรยังไม่ได้ละความพยายามในการทำหนังสือดังกล่าว ได้มอบหมายให้ ดร.นาถ พันธุมนาวิน อาจารย์ในสำนักส่งเสริมและเผยแพร่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ และ ดร.นาถ ได้ออกหนังสือดังกล่าวมาอีกครั้งหนี่งเมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยให้ชื่อใหม่ว่าหนังสือเกษตรก้าวหน้า เป็นวารสารราย 2 เดือน ขนาด 8 หน้ายก ปกพิมพ์ 4 สี สวยงาม ดร.นาถ เป็นบรรณาธิการ ติดต่อเรื่อยมาจนถึงเดือน ธันวาคม 2533 ได้ขอพ้นจากบรรณาธิการ เพราะมีงานด้านอื่นมาก ดร.บุญธรรม จิตต์อนันต์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ ม.ก. คนปัจจุบัน ได้มอบให้ นายพงษ์ศักดิ์ มณีนพผล ข้าราชการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เป็นบรรณาธิการคนที่ 4 ในเดือนมกราคม 2534

ขออนุมัติตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. เชียงใหม่

เมื่อการปรับปรุงสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน สำเร็จเรียบร้อย อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ได้ปรึกษากันว่า ควรจะขยายสถานีวิทยุ ม.ก. ออกไปตามภาคต่าง ๆ เพื่อให้การเผยแพร่ความรู้ได้กระจายกว้างไกลออกไปทั่วประเทศ จึงได้ตกลงว่า จะตั้งสถานีวิทยุถ่ายทอดขึ้นตามภาคต่าง ๆ คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

อาจารย์พร ได้นำเรื่องไปหารือท่านอาจารย์อินทรี อธิการบดี และดร.ประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารสถานีวิทยุ ม.ก. อาจารย์ทั้งสองท่านให้ความเห็นชอบ ต่อจากนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยอธิการบดี ได้ทำหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (จอมพลถนอม กิตติขจร) เพื่อขอจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ขึ้นตามภาคต่าง ๆ โดยขอจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน ปรากฏว่าได้รับอนุมัติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ให้จัดตั้งได้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2507 ตามบันทึกของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (พลเอกเนตร เขมะโยธิน) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2507

ม.ก.เชียงใหม่ลงมือก่อสร้าง

หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีแล้ว การก่อสร้างสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ จึงได้เริ่มขึ้น โดยทางมหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมกสิกรรม (ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์) ขอใช้ที่ดินของสถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้ เพื่อเป็นที่ก่อสร้างที่ทำการสถานีพร้อมห้องส่งกระจายเสียงและติดตั้งเสาอากาศของสถานีวิทยุ ม.ก. เชียงใหม่ อธิบดีกรมกสิกรรมได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินของสถานีทดลองกสิกรรมได้

การก่อสร้างอาคาร การติดตั้งเสาอากาศและติดตั้งเครื่องส่ง ได้เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2507 ได้แล้วเสร็จและทำการทดลองออกอากาศได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2507

อาคารที่ทำการสถานีเป็นอาคารเรืองไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง มีห้องเครื่องส่ง ห้องส่งกระจายเสียง ห้องประกาศ ห้องทำงาน และห้องรับแขก เสาอากาศของสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ มีความสูง 100 เมตร

สำหรับความถี่ที่ใช้ออกอากาศคือ ความถี่ 662 กิโลเฮิตซ์ ซึ่งเป็นความถี่เดียวกับความถี่ของสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน เหตุที่ไม่ใช้ความถี่ 1310 กิโลเฮิตซ์ เพราะคลื่นความถี่ต่ำ การกระจายเสียงได้ดีกว่าคลื่นความถี่สูงและเพื่อไม่ให้เสียงของทั้งสองสถานีรบกวนกัน เวลาอากาศได้ปรับความถี่ให้แตกต่างกันเล็กน้อย

พิธีเปิด ม.ก.เชียงใหม่

หลังจากที่สถานีวิทยุ ม.ก. เชียงใหม่ ทำการทดลองออกอากาศอยู่ 2 เดือนเศษ ปรากฏว่ามีจดหมายจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือเข้ามายังสถานีค่อนข้างมาก และมีจดหมายจากศิษย์เก่า ม.ก.เป็นจำนวนไม่น้อยที่ส่งเข้ามาเพื่อแสดงความยินดีและพร้อมกับข้อเสนอแนะ และมีศิษย์เก่าหลายท่านที่เขียนจดหมายมาแสดงความรู้สึกภูมิใจ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสถานีวิทยุกระจายเสียงออกมาอยู่ต่างจังหวัด

อาจารย์พรได้กำหนดเอาวันที่ 22 มกราคม 2508 เป็นวันเปิดสถานีอย่างเป็นทางการ ได้เชิญแขกผู้ใหญ่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปร่วมหลายท่าน เช่น อธิการบดี กรรมการบริหารสถานีวิทยุ ม.ก. ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์เก่า ม.ก. ในภาคเหนือ รวมทั้งข้าราชการในสำนักส่งเสริมไปร่วมงานอย่างคับคั่ง

ตอนเช้ามีพิธีทำบุญเลี้ยงพระ เสร็จแล้ว ศ.ดร.พนม สมิตานนท์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการกล่าวรายงานต่อท่านอธิการบดี เสร็จแล้วอธิการบดีกล่าวตอบ แล้วตัดริบบิ้นเปิดสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ ณ บริเวณประตูเข้าห้องเครื่องส่งกระจายเสียง เป็นเสร็จพิธีในตอนเช้า

ตอนเย็นเป็นงานเลี้ยงสังสรร มีแขกมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่คณะครูอาจารย์วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ ศิษย์เก่าที่ทำงานอยู่ที่ไร่ยาสูบและที่อื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงได้มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เท่ากับเป็นการชุมนุมนิสิตเก่า ม.ก. ภาคเหนือไปในตัว มีแขกมาร่วมงานประมาณ 500 คน

พี่เคลือวัลย์ ภรรยาอาจารย์สุวัฒน์ จากแม่โจ้ได้นำการฟ้อน การแสดงต่าง ๆ ของภาคเหนือมาโชว์หลายชุด และได้เชิญนางงามต่าง ๆ มาร่วมงานคับคั่ง มีลีลาศ รำวง เป็นงานที่สนุกมาก หมดค่าเลี้ยงรับรองไปพอสมควร แต่ทางสาถนีวิทยุ ม.ก. ไม่จ่าย เพราะบริษัทสปอนเซอร์ต่าง ๆ ได้ช่วยกันออก

ให้อาจารย์ไปอยู่เวรที่ ม.ก.เชียงใหม่

หลังจากที่ที่สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ได้กระทำพิธีเปิด ได้ไม่นาน อาจารย์พร ได้ส่งนายมงคล ชูเชาว์ ซึ่งเคยเป็นนิสิตฝึกงานของสถานีวิทยุ ม.ก. ซึ่งจบปริญญาตรี (กส.บ.) แล้ว ให้ขึ้นไปทำหน้าที่ รองหัวหน้าสถานีวิทยุ ม.ก. (หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.ก. คือ อาจารย์พร) แต่เนื่องด้วยนายมงคล ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ยังกินเงินเดือนลูกจ้างสถานีวิทยุ ม.ก. และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของ สถานีวิทยุ ม.ก. เชียงใหม่ล้วนเป็นลูกจ้างทั้งสิ้น

อาจารย์พรเห็นว่า เป็นการไม่ถูกต้องที่ปล่อยให้สถานีวิทยุของทางราชการ ทำการออกอากาศโดยไม่มีข้าราชการควบคุมดูแล และในช่วงนั้นพวกคอมมิวนิสต์กำลังเผยแพร่ลัทธิอย่างแข็งขัน โดยพยายามแทรกซึมเข้าไปตามสื่อต่าง ๆ และรัฐบาลก็ได้ให้สถานีวิทยุทุกสถานีประกาศคำขวัญต่อต้านคอมมิวนิสต์วันละ 10 ครั้ง

อาจารย์พร จึงได้ให้อาจารย์ที่ทางสถานีวิทยุ ม.ก.ขอตัวมาช่วยงาน ได้ผลัดกันไปอยู่เวรที่สถานีวิทยุ ม.ก. ขอตัวมาช่วยงาน ได้ผลัดกันไปอยู่เวรที่สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ คนละ 7 วัน อาจารย์ที่ได้มอบหมายให้ขึ้นไปอยู่เวร มีอาจารย์วิชา สุขกิจ อาจารย์พึงใจ พึ่งพานิช อาจารย์ธัชชัย แสงสิงแก้ว และข้าพเจ้า

อาจารย์พรได้ให้ฝ่ายการเงินจ่ายเบี้ยเลี้ยงแบบเหมาจ่ายคนละ 500 บาท/สัปดาห์ รวมค่ารถไฟไปกลับด้วย (รถไฟชั้น 2 ไปกลับคนละ 150 บาท) ส่วนที่พักนั้นสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ได้เช่าห้องไว้ที่โรงแรมพริ้นซ์ 1 ห้อง ค่าเช่าเดือนละ 900 บาท

การไปอยู่เวรที่สถานีวิทยุ ม.ก. ซึ่งตั้งอยู่ที่แม่โจ้ในช่วงแรก ๆ ค่อนข้างลำบาก การเดินทางจากในเมืองไปที่สถานี ต้องเดินทางโดยรถเมล์ และนาน ๆ จะมีสักคันหนึ่ง อยู่ในเมืองจะไปไหนก็ไม่สะดวกเพราะมีแต่สามล้อรับจ้าง อาจารย์พรเห็นว่าพวกเราเบี้ยเลี้ยงที่ได้ก็น้อยและต้องเดินทางไปอยู่เวรก็ไกล จึงได้ให้ น.อ.จิรพล ผู้หารายได้ หาเงินมาก้อนหนึ่งเพื่อซื้อรถสำหรับให้อาจารย์ที่ขึ้นไปอยู่เวร รถที่ซื้อมาเป็นรถฟอร์ดแองเกลีย สีตองอ่อน และยังใช้การได้ดีอยู่จนทุกวันนี้

ตั้งวิทยุ ม.ก.ขอนแก่น

หลังจากที่ ม.ก.เชียงใหม่ ทำการทดลองออกอากาศในเดือนพฤศจิกายน 2507 อาจารย์พรได้ขอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตรื มีหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (พลเอกเนตร เขมะโยธิน) ในฐานะผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดเพื่อขออนุมัติจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ขอนแก่น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง และกรรมการวิทยุกระจายเสียงได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่นได้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2509 ตามหนังสือ กห.0307/1347

เมื่อได้รับหนังสืออนุมัติให้จัดตั้งได้ อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล จึงได้เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อหาสถานที่ที่จะตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ในช่วงแรกทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีศิษย์เก่า ม.ก. เป็นอาจารย์อยู่หลายท่าน จะให้ตั้งในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ น.อ.จิรพล เห็นว่าการไปอาศัยที่ของคนอื่น อาจจะมีปัญหาภายหลังได้ และเห็นว่า ถ้าสถานีวิทยุ ม.ก. มีที่ดินเป็นของตัวเอง ในอนาคตภายภาคหน้า หากสถานีวิทยุ ม.ก. เลิกกิจการที่ดินก็ยังเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ตลอดไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้ตัดสินใจซื้อที่ดินที่ ตำบลศรีฐาน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา นับเป็นที่ดินแปลงแรกของสถานีวิทยุ ม.ก.

การก่อสร้างได้ดำเนินการไปอย่างรีบเร่ง และทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่น ได้ทำการทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2509 ออกอากาศด้วยความถี่ 1310 กิโลเฮิตซ์ ด้วยกำลังเครื่องส่ง 10 กิโลวัตต์ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนของสถานีวิทยุ ม.ก.ของแก่นสูงกว่าการลงทุนของสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ เพราะต้องซื้อที่ดินด้วย

ในช่วงที่ทำการทดลองออกอากาศ ก็ได้ทำการโฆษณาสินค้าเพื่อใช้หนี้เงินที่ยืมจากบริษัทห้างร้านและโฆษณา สินค้าเพื่อหารายได้มาดำเนินกิจการของสถานี ส่วนพิธีเปิดสถานีนั้น ตอนแรกก็คิดว่าจะทำเช่นเดียวกับพิธีเปิดสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่

แต่ยังไม่ทันจะกำหนดวัน มีคำสั่งจากรัฐบาลได้สั่งห้ามสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสถานีทำการโฆษณาสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 เป็นต้นไป

รัฐบาลห้ามสถานีวิทยุโฆษณา

คำสั่งรัฐบาลที่สั่งห้ามสถานีวิทยุทุกสถานีทำการโฆษณาสินค้า ทำให้ทั้งอาจารย์พร และ น.อ.จิรพล แทบช็อค สถานีวิทยุอื่น ๆ จะเดือดร้อนมากแค่ไหนไม่ทราบได้ แต่สถานีวิทยุ ม.ก. ทั้ง 3 สถานีเดือดร้อนมาก เพราะสถานีวิทยุ ม.ก.ทั้ง 3 สถานีลงทุนไปหลายล้านบาท ซึ่งเงิน 1 ล้านบาทในสมัยนั้นนับว่ามากทีเดียว เมื่อมีคำสั่งห้ามเช่นนี้ จะเอาเงินที่ไหนไปชำระหนี้ (เงินกู้) และเมื่อถูกสั่งห้ามไม่ให้โฆษณาสินค้า ก็ไม่ทราบจะไปโฆษณาสินค้าเพื่อชำระหนี้ได้อย่างไร และที่สำคัญที่สุด คือคำสั่งห้ามมิได้บอกว่าจะอนุญาตให้โฆษณาได้เมื่อใด

นับว่าเป็นภาวะวิกฤติที่รุนแรงที่สุดของการดำเนินการกิจการสถานีวิทยุ ม.ก. ทั้งอาจารย์พร และ น.อ.จิรพล นอนไม่หลับไปตามกัน

ในการประชุมกรรมการบริหารสถานีวิทยุ ม.ก. ครั้งที่ 6/2509 เมื่อ 2 ธันวาคม 2509 โดยมีดร.ประเสริฐ เป็นประธาน ตอนหนึ่งของรายงานการประชุมรายงานไว้ว่า

ในช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม 2509 ถึงปัจจุบัน (2 ธันวาคม 2509) หลังจากที่รัฐบาลได้สั่งห้ามไม่ให้สถานีวิทยุทำการโฆษณา อาจารย์พร ได้รายงานว่า สถานีวิทยุ ม.ก. ได้เอาเงินรายได้ของสถานีวิทยุ (เงินที่เก็บไว้) จ่ายเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ ม.ก. ทั้ง 3 สถานี จำนวน 52 คน เป็นเงิน 62,000 บาท (2 เดือน) และมีเงินสดเหลืออยู่ในมือ 2,000 บาท

จึงเสนอให้ที่ประชุมกรรมการบริหารวิทยุ ม.ก. พิจารณาเพื่อขอทราบนโยบายและการปฏิบัติของสถานีวิทยุต่อไป

หลังจากอภิปรายกันพอสมควรที่ประชุมได้ลง มติว่า ให้เสนอขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยขอเงินช่วยเหลือสำหรับที่จะนำไปจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่และค่ากระแส ไฟฟ้า ในวงเงิน 30,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจนถึง 31 มกราคม 2510 หากยังทำการโฆษณาสินค้าเพื่อหารายได้มาบำรุงสถานีไม่ได้ ก็ควรให้พิจารณาตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการ เพื่อการกระจายเสียงต่อไป

ในช่วงที่รัฐบาลสั่งห้ามทำการโฆษณาสินค้า อาจารย์พร ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ ม.ก.ทั้ง 3 สถานี ทำการอุ่นเครื่องวันละ 3 เวลา คือ 06.00-08.00, 11.00-13.00 น. และ 18.00-20.00 น. ทั้งนี้เพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ว่าทางสถานีไม่มีเงินจะจ้าง ขอให้ไปหางานทำที่อื่น แต่ละสถานีจะจ้างไว้เพียง 2-3 คน เพื่อทำหน้าที่เปิดเครื่องส่งและดูแลสถานี

การสั่งห้ามไม่ให้สถานีวิทยุโฆษณาสินค้านี้มีผลเรื่อยมาจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2511 จึงมีคำสั่งให้โฆษณาได้ ภายใต้ระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงของทางราชการ พ.ศ.2511 รวมแล้วที่ห้ามโฆษณาเป็นเวลา 1 ปีกับ 10 เดือน

อาจารย์พรถูกตั้ง ก.ก. สอบสวน

ในช่วง พ.ศ.2507-2509 สถานีวิทยุ ม.ก.ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว อันนี้จะเห็นได้ว่าเดือน มิถุนายน 2507 สถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน เปลี่ยนเครื่องส่งเป็น 10 กิโลวัตต์ เดือนมกราคม 2508 เปิดสถานีวิทยุม.ก.เชียงใหม่ เครื่องส่ง 20 กิโลวัตต์ เดือน มกราคม 2509 เปิดสถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่น เครื่องส่ง 10 กิโลวัตต์

การที่สถานีวิทยุ ม.ก. ได้ขยายกิจการไปอย่างรวดเร็ว ใช้เงินลงทุนนับล้านบาท โดยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ต้องออกเงินลงทุนนั้น เป็นธรรมดาย่อมมีคนระแวงสงสัยว่าทำได้อย่างไร เอาเงินจากไหนด้วยเหตุนี้ในปี 2509 ได้มีบัตรสนเท่ห์ฉบับหนึ่งถึงอธิการบดี (ม,ล.ชูชาติ กำภู) ว่าอาจารย์พรทำการจัดซื้อหลอดเครื่องวิทยุเครื่องส่งกระจายเสียงโดยไม่ได้ทำ การสอบราคา ซึ่งผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง อธิการบดีได้ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง 4 คน มี อาจารย์อาบ นาคะจัด เป็นประธาน

เมื่อกรรมการได้เรียกอาจารย์พรมาสอบปากคำ ก็ได้ความว่า หลอดที่ซื้อนั้นเป็นหลอดสำหรับเครื่องส่งกระจายเสียง ภาษาช่างเขาเรียกว่าหลอดสุดท้าย (PA) ซึ่งเป็นหลอดที่มีราคาแพง ราคาในสมัยนั้นหลอดละ 1 หมื่นกว่าบาท เป็นหลอดที่ไม่มีขายในท้องตลาดและต้องสั่งมาจากนอก อาจารย์พรได้สั่งซื้อ 2 หลอด เพื่อสำรองไว้ตามสถานีวิทยุ ม.ก. ต่างจังหวัด และความจริงเงินที่นำไปซื้อหลอดนั้นก็ไม่ใช่เงินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เป็นเงินที่ น.อ.จิรพล ไปยืมมาจากบริษัทห้างร้าน เช่นเดียวกับเงินที่ไปเอามาจากบริษัทห้างร้านเพื่อสร้างเครื่องส่งและ อุปกรณ์อื่น ๆ ให้สถานีวิทยุ ม.ก. ทุกสถานี แต่การซื้อหลอดเครื่องส่งวิทยุนี้ ผู้ที่จะซื้อได้คือหน่วยราชการ และต้องเป็นหน่วยราชการ ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีสิทธิ์จะซื้อหลอดดังกล่าวได้ อาจารย์พรได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ลงนามในการสั่งซื้อ ในนามของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ ถ้าอาจารย์พรไม่ลงนามบริษัทที่รับจัดซื้อไม่อาจนำเข้ามาได้ ส่วนเงินนั้น น.อ.จิรพล เป็นคนจ่ายเงิน สรุปแล้วอาจารย์พรไม่ได้ทำผิดระเบียบการจัดซื้อวัสดุแต่อย่างใด เพราะเงินที่ซื้อไม่ใช่เงินของหน่วยราชการเรื่องก็จบเพียงแค่นั้น

แผนจัดตั้ง สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา

ในช่วงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยผ่านไปทางสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่นนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีหนังสืออีกฉบับหนึ่ง เพื่อขอตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ตามหนังสือที่ กห.0307(07)/160 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2509 แต่ยังมิได้ลงมือก่อสร้าง รัฐบาลได้มีคำสั่งห้าม มิให้สถานีวิทยุทำการโฆษณาสินค้าเสียก่อน แผนการก่อสร้างสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง

ต่อมา อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ได้ปรึกษากันว่า คำสั่งห้ามโฆษณาสินค้าของรัฐบาลคงจะไม่ห้ามตลอดไป เพราะสถานีวิทยุเกือบทุกสถานี ยกเว้น กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการอยู่ได้ด้วยเงินรายได้จากการโฆษณาสินค้า เป็นหลัก ทั้งอาจารย์พร และ น.อ.จิรพล มีความเชื่อว่าอีกไม่นานรัฐบาลคงอนุญาตให้สถานีวิทยุต่าง ๆ ทำการโฆษณาสินค้าได้

ด้วยความคาดหวังดังกล่าว อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล จึงได้ไปพบอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่บ้านพัก เพื่อปรึกษาหารือขอจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. สงขลา ตามโครงการที่ได้วางไว้ ในขั้นแรก อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเสี่ยงเกินไปที่เอาเงินอีกหลายล้านบาทไปลงทุน ทั้ง ๆ หนี้เก่าก็ยังผ่อนชำระได้ไม่เท่าใด ไม่ควรสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก ถึงจะไม่ใช่เงินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ตาม แต่อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ยืนยันที่จะลองเสี่ยง ในที่สุดอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ก็ยอมให้สร้างสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา

สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา เริ่มก่อสร้าง

เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ ดร.ประเสริฐ อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ได้เดินทางไปจังหวัดสงขลา เพื่อหาซื้อที่ดิน เดิมจะหาซื้อที่ดินในเมือง แต่ราคาแพงและหาที่แปลงใหญ่ไม่ได้ ในที่สุดได้ไปซื้อที่ดินที่ตำบลน้ำกระจาย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา และต่อมาได้ซื้อเพิ่มเติม อีก 1 งาน 72 ตารางวา

การก่อสร้างได้ดำเนินไปอย่างรีบเร่งและสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้สร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2511

รัฐบาลให้โฆษณาได้

หลังจากที่รัฐบาลได้สั่งห้ามไม่ให้สถานีวิทยุทำการโฆษณาสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 จนกระทั่ง 25 สิงหาคม 2511 รัฐบาลจึงได้แจ้งให้สถานีวิทยุทุกสถานีทำการโฆษณาได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2511 ซึ่งบ่งไว้ว่า ให้สถานีวิทยุของส่วนราชการซึ่งดำเนินการอยู่ (หมายถึงทำการออกอากาศอยู่) ทำหนังสือขออนุญาตจัดตั้งและดำเนินการเสมือนหนึ่งขอตั้งสถานีวิทยุใหม่ ยื่นต่อกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียง (กบว.) ภายใน 60 วันนับจากวันที่ 25 สิงหาคม 2511 และเมื่อได้รับอนุมัติจาก กบว.แล้ว จึงจะทำการโฆษณาได้

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำเรื่องขอ อนุมัติจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ไปใหม่พร้อมกันทั้ง 4 สถานี ตามหนังสือ ที่ สร.2101/4223 ลงวันที่ 27 กันยายน 2511 แต่เอกสารเกี่ยวกับลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคที่ กบว.กำหนดให้ส่งไปพร้อมกับหนังสือขอจัดตั้งสถานีวิทยุนั้น มหาวิทยาลัยได้ส่งไปเพียง 3 สถานี คือ สถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ และสถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่น ยกเว้นของสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้ส่งไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา แม้จะสร้างเสร็จแล้ว แต่การติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่เรียบร้อย

กบว. ไม่อนุมัติให้ ม.ก.สงขลาเปิด

ต่อมาเมื่อเอกสารเรียบร้อย อาจารย์พรได้ทำเอกสารเกี่ยวกับลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคของสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ส่งให้กับคณะกรรมการเทคนิคเพื่อพิจารณา ผลปรากฏว่า เมื่อ กบว. และคณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคได้พิจารณาแล้ว ได้มีหนังสือที่ 18/2514 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2514 ถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แจ้งให้ทราบว่า ไม่อาจพิจารณาอนุมัติให้ได้ เนื่องจากสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ขาดคุณสมบัติสำคัญเกี่ยวกับความถี่วิทยุที่จำเป็นต้องมี ในขณะยื่นขออนุมัติจัดตั้ง ตามที่คณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคและ กบว. ได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ไว้ในการพิจารณา

แต่ในตอนท้ายของหนังสือฉบับดังกล่าว ได้พูดเชิงเสนอแนะว่า “อย่างไรก็ดี กบว. เห็นว่าสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินงานมาบ้างแล้ว ในการเตรียมการเพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุแห่งนี้ หากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีความจำเป็นที่ขอจัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา เพื่อประโยชน์ตามความมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป ก็ขอให้ดำเนินการไปทางคณะรัฐมนตรี

ม.ก.สงขลา ได้รับอนุมัติ

เมื่อ กบว. ไม่อนุมัติให้จัดตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา อาจารย์พรได้ร่างหนังสือขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งให้อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ลงนามแทนอธิการบดี ถึงประธาน กบว. (หนังสือที่ สร.2101/2417 ลงวันที่ 30 เมษายน 2514) อ้างถึงความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะต้องตั้งสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาส่งไปอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องความถี่วิทยุที่ กบว. บอกว่าไม่ได้แจ้งไปตอนแรก ๆ ก็ได้แจ้งไปใหม่ว่าสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาจะใช้ความถี่ 662 กิโลเฮิตร์ หรือความถี่ 1310 กิโลเฮิตร์

หลังจากที่ได้ยื่นไปแล้วเกือบ 1 ปี ได้มีหนังสือจาก กบว. ที่ 003/2515 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2515

เรื่องผลการพิจารณาด้านเทคนิคเกี่ยวกับความถี่ของสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา แจ้งว่าความถี่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตรืแจ้งไปนั้น สำหรับความถี่ 662 กิโลเฮิตร์ ใช้ไม่ได้ เพราะไปรบกวนสถานีวิทยุกระจายเสียงของมาเลเซีย ส่วนความถี่ 1310 กิโลเฮิตซ์ใช้ไม่ได้เช่นกันเพราะจะไปรบกวนสถานีวิทยุทหารอากาศสงขลา

ขณะนี้คณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคได้ร่วมมือกับสำนักงานบริหารและควบคุมความถี่วิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้พิจารณาจัดสรรความถี่ในย่าน MF ใหม่ และจะมีความถี่ใหม่ขนาดคลื่น 1270 กิโลเฮิตซ์ ให้สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้

ความถี่ที่ได้มาใหม่โดยมิคาดฝันมานี้ อาจารย์พร และ น.อ.จิรพล ทราบดีว่าเป็นความกรุณาของ อาจารย์เสงี่ยม เผ่าทองสุข ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคขณะนั้นที่ได้จัดสรรให้กับสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา

สรุปได้ว่า สาถนีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งได้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2516 และได้ออกอากาศเมื่อเดือนเมษายน 2515 ด้วยความถี่ 1270 กิโลเฮิตซ์ กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ถ้าจะนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนถึงวันได้รับอนุมัติให้จัดตั้งได้ สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา ได้ใช้เวลาร่วม 4 ปี นับว่านานที่สุด น.อ.จิรพล พูดว่า สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลาเป็น ทุกข์ลาภ คือกว่าจะได้รับอนุมัติให้ตั้งได้ ทุกคนมีความทุกข์อย่างสาหัส เพราะเงินทุนที่ลงไปนับล้านบาทจมอยู่นานถึง 4 ปี

ยิงหัวหน้า ม.ก.สงขลา

นับเป็นเรื่องสะเทือนใจชาววิทยุ ม.ก.มากที่สุด เมื่อได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา แจ้งว่า หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา (นาวาตรีเกื้อ ทับเทศ) ถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิต ขณะนั่งปฏิบัติงานอยู่ที่สถานีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2518 เวลา 11.00 น. คนร้าย 2 คน นั่งมอเตอร์ไซด์เข้าไปที่สถานีคนร้ายคนหนึ่งลงจากรถมอเตอร์เดินเข้าไปยิง น.ต.เกื้อ 6 นัด แล้วขึ้นมอเตอร์ไซด์หนีไป น.ต.เกื้อ เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล

ขณะที่คนร้ายเดินเข้าไปยิงนั้น นายถวิล สุวรรณมณี เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสถานีนั่งอยู่ด้วย และเห็นหน้าคนร้ายชัดเจน ต่อมาเมื่อตำรวจจับคนร้ายได้ พรรคพวกของคนร้ายเห็นว่า นายถวิล เป็นพยานคนสำคัญที่จะทำให้คนยิงติดคุกได้ และอาจจะสืบสาวราวเรื่องไปถึงคนจ้างวานก็ได้ จึงได้มีการวางแผนเก็บ นายถวิล อีกคนหนึ่ง แต่โชคดีที่แคล้วคลาดกันหลายครั้ง

อาจารย์พร เห็นว่าถ้านายถวิลถูกเก็บไปอีกคนหนึ่ง ก็จะขาดพยานปากสำคัญ จึงได้ให้นายถวิล ย้ายจากสงขลามาทำงานที่สถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน และให้พักอยู่ที่บ้านพักของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นบ้านพักของมหาวิทยาลัยจนทุกวันนี้ โดยไม่กล้าย้ายกลับไปสงขลา

ต่อมาอาจารย์พร และ น.อ.จิรพล เห็นว่าถ้าให้คดีดำเนินการที่สงขลา เป็นการไม่ปลอดภัยที่จะให้นายถวิลลงไปให้การเป็นพยานศาลที่นั่น เพราะอาจถูกเก็บได้ จึงได้โอนคดีดังกล่าวมาดำเนินการที่กรุงเทพฯ

คนร้ายรับสารภาพว่าได้ยิงจริงเพราะโกรธแค้นกันเรื่องส่วนตัวมาก่อนทั้ง ๆ ที่คนร้ายกับ น.ต.เกื้อ ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย ซึ่งพอจะทราบได้ว่าเป็นการจ้างวานให้มายิง

ศาลได้ตัดสินให้คนยิงติดคุก 40 ปี และลดให้กึ่งหนึ่งในฐานที่รับสารภาพเหลือ 20 ปี และปรากฏว่าคนร้ายติดคุกเพียง 8 ปี ก็พ้นโทษ

ตั้งสถานีถ่ายทอด ม.ก.บางเขน

หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติให้สถานีวิทยุทำการโฆษณาได้ตั้งแต่ต้นปี 2511 ทำให้สถานีวิทยุหลายสถานีได้ปรับปรุงเครื่องส่งจาก 10 กิโลวัตต์ เป็น 20 กิโลวัตต์ กันเป็นส่วนมาก และมีสถานีวิทยุตั้งขึ้นใหม่อีกหลายสถานี ส่วนสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน นั้นยังออกอากาศด้วยเครื่องส่ง 10 กิโลวัตต์เหมือนเดิม ทำให้รัศมีการรับฟังรู้สถานีที่มีเครื่องส่ง 20 กิโลวัตต์ไม่ได้ ประกอบกับเสาอากาศของสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน ไม่สามารถที่จะปรับให้สูงได้ เพราะอยู่ในแนวขึ้นลงของเครื่องบิน นอกจากนั้นบริเวณที่ตั้งเสาอากาศมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถจะปรับปรุงเสาอากาศให้ถูกต้องตามหลักวิชาการได้ ทำให้การกระจายเสียงของสถานีวิทยุ ม.ก. บางเขนไม่กว้างไกลเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับสถานีวิทยุอื่น ๆ ทำให้บริษัทห้างร้านหลายบริษัทไม่ยอมจ้างสถานีวิทยุ ม.ก.โฆษณา ทำให้รายได้ของสถานีวิทยุ ม.ก. บางเขนต่ำกว่ารายจ่าย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว น.อ.จิรพล จึงได้ปรึกษากับอาจารย์พรว่า ควรจะตั้งสถานีถ่ายทอดวิทยุม.ก. บางเขน ขึ้น เพื่อให้การกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างไกลกว่าที่เป็นอยู่ การหาโฆษณาจะได้ง่ายขึ้น

หลังจากตกลงในหลักการกันเรียบร้อยแล้วจึงได้ซื้อที่ดินที่ตำบลสวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 6 ไร่ 17 ตารางวา และได้ลงมือก่อสร้างอาคารสำหรับติดตั้งเครื่องส่งกระจายเสียง และติดตั้งเสาอากาศใหม่ซึ่งมีความสูงถูกต้องตามหลักวิชาการ

ทางมหาวิทยาลัยได้ทำเรื่องขออนุมัติไปยัง กบว. ขอย้ายเครื่องส่งและเสาอากาศไปตั้งที่ ต.กระทุ่งแบน เพื่อเป็นสถานีถ่ายทอดของสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน กบว. ได้อนุมัติให้ทำการย้ายเครื่องส่งและติดตั้งเสาอากาศได้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2514

หลังจากที่ได้สร้างห้องเครื่องส่งและติดตั้งเสาอากาศเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำเทปรายการมาออกที่สถานีถ่ายทอดที่กระทุ่มแบน ในปี 2514

ต่อมา สำนักส่งเสริมฯ ได้ย้ายที่ทำงานจากหอประชุมมาอยู่ที่ตึก 9 (เดิมเป็นหอพักนิสิต) อาจารย์พรเห็นว่าถ้าสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน ยังอยู่ที่เรือนเขียว เป็นการไม่สะดวกในการติดต่อและบริหารงาน อาจารย์พรจึงให้ปรับปรุงชั้น 3 ของตึก 9 เป็นที่ทำงานและห้องส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขนด้วย

เมื่อห้องส่งกระจายเสียง ห้องบันทึกเสียงและห้องทำงานเสร็จเรียบร้อย อาจารย์พร ได้ติดตั้งเครื่องถ่ายทอดเสียง คือติดตั้งวิทยุสื่อสาร ระบบ UHF (Ultra Hight Ferquency) ความถี่ 949.125 เมกกะเฮิตซ์ และความถี่ 948.85 เมกกะเฮิตซ์ เพื่อรับสัญญาณจากห้องส่งกระจายเสียง ส่งต่อไปยังสถานีออกอากาศที่สถานีถ่ายทอด อ.กระทุ่มแบน อีกต่อหนึ่ง และได้ทดลองถ่ายทอดราว ๆ กลางปี พ.ศ.2521 ทำให้การกระจายเสียงของสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าเดิม ทำให้การหาโฆษณาได้ง่ายขึ้น

ได้ความถี่เพิ่มอีก 1 ความถี่

ในราวปี พ.ศ. 2515 อาจารย์เสงี่ยม เผ่าทองสุข ในฐานะรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ปรับปรุงความกว้างของแถบความถี่ของสถานีวิทยุทุกสถานีใหม่ คือ ให้ช่วงความกว้างของแถบความถี่ห่างกันช่วงละ 10 กิโลเฮิตซ์ ทำให้ความถี่ของทุกสถานีลงท้ายด้วยศูนย์ สถานีวิทยุ ม.ก. มีความถี่อยู่ 2 ความถี่คือ 662 และ 1310 กิโลเฮิตซ์ เมื่อมีการแบ่งช่วงความถี่ใหม่ ความถี่ 662 กิโลเฮิตซ์ ได้เปลี่ยนเป็น 660 กิโลเฮิตซ์ส่วนความถี่ 1310 กิโลเฮิตซ์คงเดิม

ในการจัดแบ่งความกว้างของแถบความถี่ใหม่ในครั้งนั้น ทำให้สถานีวิทยุ ม.กง ได้คลื่นความถี่เพิ่มมาอีก 1 ความถี่ คือ ความถี่ 1270 กิโลเฮิตซ์ และได้จัดให้กับสถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 ได้มีการแบ่งความกว้างของแถบความถี่ใหม่ โดยให้ความกว้างของแถบความถี่ห่างกัน 9 กิโลเฮิตซ์ ต่อ 1 สถานี ทำให้มีความถี่เพิ่มมากขึ้น สถานีวิทยุ ม.ก. จึงได้ความถี่ใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งความถี่คือ 1116 กิโลเฮิตซ์ และได้จัดให้กับสถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน

ปัจจุบันนี้ สถานีวิทยุ ม.ก. ทั้ง 4 สถานีใช้ความถี่ดังนี้

สถานีวิทยุ ม.ก.บางเขน ใช้ความถี่ 1116 กิโลเฮิตซ์
สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ ใช้ความถี่ 675 กิโลเฮิตซ์
สถานีวิทยุ ม.ก. ขอนแก่น ใช้ความถี่ 1314 กิโลเฮิตซ์
สถานีวิทยุ ม.ก. สงขลา ใช้ความถี่ 1269 กิโลเฮิตซ์

สรุป สถานีวิทยุ ม.ก. ทั้ง 4 สถานี มีความถี่ครบทุกสถานี ไม่ต้องใช้ความถี่เดียวกัน 2 สถานี ดังแต่ก่อน

การย้ายสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่

ในปี พ.ศ. 2522 สถานีทดลองกสิกรรมแม้โจ้ ต้องการใช้พื้นที่สำหรับทำแปลงทดลองเพิ่มขึ้น จึงได้ขอให้สถานีวิทยุ ม.ก.ย้ายออกไปจากสถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้ อาจารย์พร ได้นำเรื่องนี้ปรึกษากับ น.อ.จิรพล ว่าจะดำเนินการอย่างไร น.อ.จิรพล เห็นว่าควรจะย้ายออกไปอยู่ข้างนอก เพราะสถานีวิทยุ ม.ก.แห่งอื่น ๆ ที่มีที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสถานีเป็นของตัวเอง ยกเว้นสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ ที่ยังไม่มีที่ดินของตัวเอง คิดว่าเป็นการดีที่ต้องย้ายออกไปแม้จะต้องใช้เงินจำนวนมาก และที่ดินในระยะนั้นไม่แพงมากนัก พอจะหาซื้อได้

อาจารย์พรจึงได้ให้คุณสุนันท์ ละอองศรี หัวหน้าสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ ช่วยติดต่อหาซื้อที่ดินให้สักแปลงหนึ่ง ปรากฏว่าได้ที่ดินที่ตำบลป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จำนวน 10 ไร่ อยู่ติดถนนใหญ่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 15 กิโลเมตร

เมื่อซื้อที่ได้แล้ว ได้ลงมือก่อสร้างอาคารที่ทำการ อาคารเครื่องส่ง ห้องกระจายเสียง ห้องรับแขก ติดตั้งเสาอากาศเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ได้ทำการย้ายเครื่องส่งกระจายเสียง จากสถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้ มายังสถานีใหม่ เมื่อ 23 เม.ย.2533

เป็นอันว่าสถานีวิทยุ ม.ก. ทั้ง 4 สถานีตั้งอยู่ในที่ดินที่เป็นของสถานีวิทยุเองครบทุกสถานี

การตั้งระบบข่ายสื่อสารของ ม.ก.

เมื่อการดำเนินงานในด้านการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงเสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่ได้วางไว้ อาจารย์พรไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น อาจารยืพรมองเห็นว่าในอนาคตการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลกับบุคคลโดยใช้วิทยุสื่อสาร นับวันจะมีความจำเป็นมากขึ้น เป็นลำดับ อาจารย์พร จึงได้เริ่มโครงการจัดตั้งระบบข่ายสื่อสารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น โดยใช้เงินรายได้สถานีวิทยุ ม.ก.

โครงการข่ายสื่อสารของ ม.ก. นี้ในช่วงแรกมีเพียง 2 โครงการคือ

1. โครงการวิทยุสื่อสารระบบ SSB (Single Side Band) เป็นระบบการสื่อสารที่สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ระยะปานกลาง ไปจนถึงระยะไกล เหตุผลที่อาจารย์พรได้เริ่มโครงการนี้ขึ้น ในขั้นแรกก็เพื่อใช้ติดต่อระหว่างสถานีวิทยุ ม.ก.ส่วนกลาง กับสถานีวิทยุ ม.ก.ต่างจังหวัด เพราะสถานีวิทยุ ม.ก. ในต่างจังหวัดในขณะนั้นไม่มีโทรศัพท์ การติดต่อจำเป็นต้องใช้วิทยุสื่อสารระบบ SSB ซึ่งสามารถติดต่อได้ทั่วประเทศ โดยใช้ความถี่ 79.35 kHz และ 7698 kHz

ต่อมาสถานีวิจัยและศูนย์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ตั้งอยู่ตามต่างจังหวัด เห็นว่าเป็นข่ายสื่อสารที่อาจารย์พรตั้งขึ้นสามารถจะติดต่อกับส่วนกลางได้สะดวกดี และสามารถจะติดต่อกันเองได้อีกด้วย จึงได้มาขอให้อาจารย์พร ช่วยขยายข่ายสื่อสารออกไปตามสถานีวิจัยหรือศูนย์ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัดด้วย อาจารย์พรบอกว่าขอให้สถานีวิจัยออกค่าเครื่องวิทยุรับส่งเองเครื่องละ 1 หมื่นกว่าบาท หลายสถานีที่มีเงินก็ได้ขอให้อาจารย์พรช่วยสั่งซื้อเครื่องให้ และบางสถานีที่ไม่มีเงิน ก็ได้ขอให้อาจารย์พรช่วยสั่งซื้อเครื่องให้เช่นกัน โดยสัญญาว่าจะหาเงินมาใช้ให้ภายหลัง บางรายใช้เครื่องพังไปนานแล้ว ก็ยังไม่ได้จ่ายเงิน อาจารย์พรต้องเอาเงินรายได้วิทยุ ม.ก.ออกแทนให้

ข่ายสื่อสารระบบ SSB เป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาก โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ เพราะในช่วงนั้นสถานีวิจัยต่าง ๆ ตั้งอยู่นอกเมืองไม่มีโทรศัพท์ใช้ จึงได้ใช้วิทยุสื่อสารในข่ายนี้เป็นที่ติดต่อ และหน่วยงานที่ใช้มากที่สุดก็คือ โครงการหลวงเพราะสถานีวิจัยต่าง ๆ ตั้งอยู่บนดอย จำเป็นต้องใช้วิทยุสื่อสารดังกล่าว ในการติดต่อเกือบตลอดเวลา นอกจากนั้นโครงการฝนหลวงเวลาออกไปทำฝนเทียม ได้ขอใช้ข่ายนี้ด้วย เพราะข่ายของกระทรวงเกษตรมีกรมกองใช้กันมาก ใช้ไม่สะดวกเลยขอใช้ร่วมกับข่ายบางเขน

เมื่อเครื่องรับส่งวิทยุมีเพิ่มมากขึ้น

อาจารย์พรจึงได้กำหนดสัญญาณเรียกขานโดยให้ชื่อข่ายว่า " บางเขน" ซึ่งมีแม่ข่ายและลูกข่ายดังนี้

บางเขน หมายถึง สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
บางเขน 4 หมายถึง สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
บางเขน 5 หมายถึง สถานีวิทยุ ม.ก.สงขลา จังหวัดสงขลา
บางเขน 6 หมายถึง สถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
บางเขน 7 หมายถึง สถานีวิทยุถ่ายทอด ม.ก.บางเขน จังหวัดสมุทรสาคร
บางเขน 8 หมายถึง สถานีวิจัยดอนปุย จังหวัดเชียงใหม่
บางเขน 9 หมายถึง สถานีทดลองดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่
บางเขน 10 หมายถึง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ฝาง อ.ฝาง จังหวัดเชียงราย
บางเขน 11 หมายถึง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป แม่จัน อ.แม่จัน จังหวัดเชียงราย
บางเขน 12 หมายถึง สถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
บางเขน 13 หมายถึง สถานีวิจัยทับกวาง จังหวัดสระบุรี
บางเขน 15 หมายถึง ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม
บางเขน 16 หมายถึง สถานีวิจัยศรีราชา จังหวัดชลบุรี
บางเขน 17 หมายถึง สถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
บางเขน 18 หมายถึง สำนักงานเลขานุการโครงการหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
บางเขน 20 หมายถึง สถานีวิจัยประมงศรีราชา จังหวัดชลบุรี
บางเขน 21 หมายถึง สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำหรับบางเขน 2-3 นั้น สำรองไว้สำหรับหน่วยงานที่จะติดตั้งต่อไป ซึ่งอยู่ในโครงการที่สถานีฝึกนิสิตปากช่อง และสำนักงาน A.R.S. (Agricultural Research Service) เชียงใหม่ สถานีวิทยุติดต่อทั้ง 17สถานีนี้สามารถติดต่อได้ถึงกันหมด ปัจจุบันนี้โครงการหลวง 31 แห่ง ทำให้การติดต่อข่าวสารของโครงการหลวง สะดวกมาก

เมื่อมีลูกข่ายเพิ่มมากขึ้น

อาจารย์พรได้จ้างเจ้าหน้าที่คนหนึ่งด้วยเงินรายได้ของสถานีวิทยุ เพื่อทำหน้าที่รับส่งข่าวระหว่างแม่ข่ายกับลูกข่ายของบางเขนโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันไม่มีเจ้าหน้าที่ที่รับส่งข่าว เพราะมีหน่วยงานใช้ข่ายนี้ให้กันน้อย

ระบบ VHF (Very High Frequency) เป็นข่ายสื่อสารสำหรับติดต่อทั้งในระยะใกล้และระยะไกล เรามักจะเรียกว่าวิทยุมือถือ โครงการนี้อาจารย์พรได้ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ 2 อย่างคือ เวลาสถานีวิทยุ ม.ก. ออกไปทำการถ่ายทอดนอกสถานที่ ก็สามารถจะเรียกติดต่อกันได้ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ไปทำการถ่ายทอด หรือเรียกกลับเข้ามายังสถานีแม่ที่บางเขน นอกจากนั้นมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ติดต่อระหว่างตัวอาจารย์พร กับสำนักส่งเสริมฯ เมื่อมีเรื่องด่วนก็สามารถติดตามได้ ในช่วงแรกมีเครื่องวิทยุแม่ข่ายขนาด 20 วัตต์ ตั้งอยู่ที่สำนักส่งเสริมฯ 1 เครื่อง และมีลูกข่ายติดตั้งอยู่ในรถอาจารย์พร 1 เครื่องต่อมาอาจารย์ได้ซื้อวิทยุมือถือทำในเมืองไทยอีก 1 เครื่องเมื่ออาจารย์มีวิทยุมือถือใหม่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่มีงานอะไรรีบด่วนที่จะต้องใช้วิทยุสื่อสารแบบดังกล่าว แต่ปัจจุบันทุกคนทราบดีว่าวิทยุมือถือนั้นจำเป็นมากสำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในส่วนกลางและตามต่างจังหวัด

สรุปแล้วข่ายสื่อสาร VHF ในช่วงนั้นมีการติดต่อระหว่างสำนักส่งเสริมฯ กับอาจารย์พร เพียง 2 จุด อาจารย์พร ได้ตั้งชื่อข่ายว่า พระพิรุณ โดยตัวแม่ข่ายตั้งอยู่ที่สำนักส่งเสริมฯ ส่วนลูกข่ายคือตัวอาจารย์พรนั้น มีสัญญาณเรียกขานว่า พระพิรุณ 1 และต่อมา อาจารย์ได้กำหนดสัญญาณเรียกขานสำหรับตัวข้าพเจ้าว่า พระพิรุณ 2 และสัญญาณเรียกขานสำหรับตัวอาจารย์ธัชชัย แสงสิงแก้ว ว่า พระพิรุณ 3, พระพิรุณ 4 จำไม่ได้ว่าเป็นของใคร แต่จำได้ว่าพระพิรุณ 5 นั้น เป็นสัญญาณเรียกขานสำหรับอธิการบดี

ปรากฏว่า พระพิรุณ 2-5 ไม่เคยมีวิทยุมือถือ คงมีอาจารย์พรใช้อยู่คนเดียว ในช่วงนั้น

ประโยชน์ของข่ายสื่อสาร VHF ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ตอนก่อสร้างอาคารที่วิทยาเขตกำแพงแสนตามโครงการเงินกู้ วิทยาเขตกำแพงแสนสมัยนั้นจะมากรุงเทพฯ สักครั้งถนนแสนจะลำบาก ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ และบริษัทก่อสร้างได้ใช้วิทยุข่ายพระพิรุณ เรียกเข้าสำนักส่งเสริม ให้ช่วยติดต่อนั่น ติดต่อนี้ เป็นประจำ ทำให้สะดวกมาก และเมื่อมหาวิทยาลัยฯ ได้เคลื่อนย้ายไปอยู่กำแพงแสนแล้ว เวลาวิทยุโทรศัพท์เสีย ก็ได้อาศัยข่าย VHF

ส่วนในปัจจุบันไม่ต้องพูดถึงว่าระบบสื่อสาร VHF ข่ายพระพิรุณ มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ได้ขยายข่ายเป็น ข่ายขจี ข่ายสุวรรณ ข่ายนพวรรณ ข่ายอะไรต่ออะไร เต็มไปหมด

มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เขาอิจฉามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความถี่ย่าน VHF เป็นของตัวเองถึง 2 ความถี่ คือ 142,200 เม็กกะเฮิตซ์ และความถี่ 142,700 เม็กกะเฮิตซ์ เพราะมหาวิทยาลัยอื่นเขาไม่มีความถี่ ถ้าจะใช้ต้องใช้ความถี่กลาง ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของทบวงมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับความถี่ของ ม.ก. นั้น อาจารย์พรได้ขอจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมานานเกือบ 20 กว่าปีแล้ว

เงินรายได้ สถานีวิทยุ ม.ก.

ข้าพเจ้าจำได้ว่า สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนิสิตอยู่นั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากจะมีเงินงบประมาณสำหรับดำเนินกิจการแล้ว ยังมีเงินอีกประเภทหนึ่งที่สนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือเงิน ออป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) เป็นเงินที่ ออป. ได้จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยปีละ 3 ล้านบาททุกปี และให้ติดต่อกันนานนับ 10 ปี เหตุที่ ออป. ให้เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั้น

เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับสัมปทานป่าไม้ในจังหวัดทางภาคเหนือ 3 แปลง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มอบให้ ออป. เป็นผู้ทำไม้ในที่สัมปทานดังกล่าว ออป. จึงได้เอาเงินมาให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีละ 3 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในกิจการของมหาวิทยาลัย เงินดังกล่าวค่อนข้างจะเป็นเงินอิสระคือ อธิการบดี เป็นคนสั่งจ่าย ตามที่เห็นสมควร ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบเงินงบประมาณ ต่อมาเมื่อป่าสัมปทานหมด ทาง ออป. ก็เลิกให้เงินแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อสถานีวิทยุ ม.ก. ตั้งขึ้น เงินรายได้ของสถานีวิทยุ มีคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุ ม.ก.เป็นผู้อนุมัติแล้ว ฉะนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยต้องการใช้เงินในกิจการบางอย่าง ที่ไม่อาจจะใช้เงินงบประมาณได้ ก็ได้ใช้เงินรายได้วิทยุสำหรับกิจการนั้น เช่น การเลี้ยงรับรองแขกต่างประเทศ หรือเงินช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่อาจจะเบิกจากเงินงบประมาณได้ ส่วนมากมักจะใช้เงินรายได้สถานีวิทยุ ม.ก. ข้าพเจ้าจำได้ว่า เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เริ่มโครงการ KU-JAPAN ในการเลี้ยง Survey Team ชุดแรก ได้ใช้เงินของสถานีวิทยุ ม.ก.เลี้ยงรับรอง และสถานที่เลี้ยงรับรองคือ บ้านอาจารย์พร เพราะ ดร.ประจักษ์ เจริญ ผู้ประสานงานโครงการบอกว่า การเลี้ยงคนญี่ปุ่นนั้น ถ้าเลี้ยงที่บ้านแสดงว่าให้เกียรติกันมาก

ต่อมาเมื่อมีการเลี้ยงรับรองทีมจาก JICA ที่มาติดต่อเรื่องโครงการ KU-JAPAN มักได้ใช้เงินรายได้สถานีวิทยุ ม.ก. นอกจากนั้นในกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้านอื่น ๆ ก็ได้ใช้เงินของสถานีวิทยุ ม.ก. อยู่ไม่น้อย

วิทยุโทรศัพท์ บางเขน-กพส.

เมื่อโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ภายใต้โครงการเงินกู้ธนาคารโลกได้เริ่มขึ้น อาจารย์พรได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัย ให้พิจารณาข่ายสื่อสารที่จะติดต่อระหว่างวิทยาเขตบางเขนกับวิทยาเขตกำแพงแสนว่าจะใช้ระบบการติดต่อโดยวิธีใดจึงจะประหยัดสะดวก และรวดเร็ว

อาจารย์อาบ นาคะจัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา ม.ก. ในสมัยนั้นเล่าให้ฟังว่าอาจารย์พร ได้มีบทบาทเป็นอย่างมาก ในการจัดตั้งข่ายสื่อสารระหว่าง 2 วิทยาเขต อาจารย์พรได้เสนอว่าการติดต่อระหว่าง 2 วิทยาเขต ควรจะใช้ระบบวิทยุ โทรศัพท์ ผ่านไมโครเวฟ โดยใช้ความถี่ย่าน UHF เช่นเดียวกับขององค์การโทรศัพท์

ในตอนแรกมีกรรมการบางท่านไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าต้องลงทุนสูงมาก คือต้องใช้เงินประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งนับว่าไม่น้อย สำหรับในระยะนั้น และกรรมการหลายท่านยังไม่เข้าใจ เกี่ยวกับระบบวิทยุโทรศัพท์ผ่านไมโครเวฟ

อาจารย์พรจึงได้เชิญนักวิชาการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยุโทรศัพท์มาอธิบายให้ฟัง และชี้ให้เห็นว่า ในระยะต้น ๆ แม้จะลงทุนสูง แต่ในระยะยาวจะเสียค่าใช้จ่ายถูกมาก เพราะการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่าง 2 วิทยาเขตเป็นการติดต่อแบบภายใน คือหมุนเลขเพียง 3 ตัว ก็สามารถพูดกันได้ ไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ ยกเว้นวิทยาเขตกำแพงแสนจะหมุนเข้าโทรศัพท์เลข 7 ตัว ในกรุงเทพฯ จึงจะต้องเสียค่าโทรศัพท์ครั้งละ 3 บาท ก็นับว่าถูกอยู่ดี เพราะไม่ใช่โทรฯ ทางไกล ทำให้การติดต่อระหว่างวิทยาเขตบางเขนกับกำแพงแสนประหยัดค่าโทรศัพท์ทางไกลไปปีละหลายแสนบาท

วิทยุโทรศัพท์ระหว่าง 2 วิทยาเขตใช้ความถี่ 995 และ 925 เมกกะเฮิตซ์ มี 12 ช่อง และกำลังจะขยายเป็น 24 ช่องในเร็ว ๆ นี้

สรุป

สถานีวิทยุ ม.ก. ได้เริ่มต้นด้วยเครื่องส่งที่มีกำลังออกอากาศเพียง 250 วัตต์ เมื่อ พ.ศ. 2504 เครื่องส่งที่ใช้ออกอากาศในครั้งแรกก็ขอยืมของคนอื่นเขามา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้เงินสมทบ (Counterpart Fund) เป็นทุนในการดำเนินการครั้งแรก 20,000 บาท กิจการของสถานีวิทยุ ม.ก. ได้ดำเนินเรื่อยมาจนทุกวันนี้นับได้ 30 ปีเต็ม สถานีวิทยุ ม.ก. ได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับการดำเนินกิจการทั้งหมดมิได้ใช้เงินงบประมาณ แผ่นดินใด ๆ ทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ของทุกสถานีไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าซ่อมบำรุงต่าง ๆ ฯลฯ ได้ใช้เงินรายได้ของสถานีวิทยุ ม.ก.ที่ได้จากการรับจ้างโฆษณาทุกรายการและยังมีเงินเหลือให้การเจือจุลแก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดมา

ในปัจจุบันนี้ สถานีวิทยุ ม.ก. มีที่ดินทั้งหมด 25 ไร่ 49 ตารางวา ที่ดินเหล่านี้อยู่ในเมือง อยู่ในที่เจริญแล้วทั้งสิ้น มูลค่าหลายสิบล้านบาท และยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องส่งกระจายเสียง ซึ่งมีมูลค่าอีกไม่น้อย

นอกจากนั้นวิทยุ ม.ก. ยังได้ช่วยก่อให้เกิดระบบข่ายสื่อสารขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีทั้งระบบ SSB, VHF และ UHF ที่ได้ใช้กันอยู่ปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจจะประเมินราคาได้นั้นคือ สถานีวิทยุ ม.ก. ได้เผยแพร่ข่าวสารวิชาการเกษตรไปสู่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรได้นำไปสู่การปฏิบัติทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ซึ่งไม่อาจจะประเมินค่าได้ว่ามากน้อยเพียงใด

ตลอดระยะเวลา 30 ปี อาจารย์พร คณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุ ม.ก. และข้าราชการในสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ช่วยกันเสริมสร้างให้สถานีวิทยุ ม.ก. เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และหวังว่ากิจการของสถานีวิทยุ ม.ก.คงไม่ หยุดอยู่แค่นี้ คงจะก้าวหน้าต่อไปโดยไม่หยุดยั้งและทำหน้าที่รับใช้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเผยแพร่ความรู้ไปสู่เกษตรกรและประชาชนตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งใจตั้งแต่ ต้น

... อาจารย์พรได้เกษียณราชการไปแล้ว สิ่งที่ยังหลงเหลือเป็นอนุสรณ์สำหรับชีวิตการทำงานของท่านอาจารย์คือ สถานีวิทยุ ม.ก. ทั้ง 4 สถานี อันเป็นผลงานที่ท่านได้สร้างไว้ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบไป...