รับมือโรคระบาดสวนยาง! กยท. ลุยต่อ จัดประชุมสร้างความรู้โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา นำเทคโนโลยีช่วยตรวจ-จัดการโรคอย่างตรงจุด
ระหว่างวันที่ 16-17 ม.ค. 68 ณ ห้องประชุมกันตัง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานใหญ่ -กยท. จัดประชุม “การสร้างความรับรู้ เรื่อง โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (โรคใบจุดกลม)” เปิดบรรยายการจัดการโรคใบร่วง โดยมี ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุม ย้ำลุยจัดการโรคใบร่วง ดึงเทคโนโลยีประเมินความสมบูรณ์ต้นยาง พร้อมสร้างความรู้-ความเข้าใจสู่ชาวสวนยาง
ดร.เพิก กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (โรคใบจุดกลม) ที่ผ่านมาได้ขยายพื้นที่เป็นวงกว้างนอกเหนือจากภาคใต้ โดยในปี พ.ศ. 2567 พบว่าได้มีการระบาดในพื้นที่สวนยางทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตยางพาราลดลง อย่างไรก็ตาม กยท. ยังคงให้ความสำคัญและตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากบุคลากรของ กยท. ที่เป็นนักวิจัยและนักวิชาการ ซึ่งมุ่งศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการสวนยางเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราแล้ว กยท. ยังนำเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการแก้ปัญหาโรคใบร่วง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และตระหนักว่าการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางทุกพื้นที่ทั่วประเทศเป็นสิ่งสำคัญ การประชุม “การสร้างความรับรู้ เรื่อง โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (โรคใบจุดกลม)” ในครั้งนี้ จึงเป็นเวทีในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเข้าใจจากนักวิชาการและนักวิจัยของสถาบันวิจัย ตลอดจนผู้บริหารและพนักงานของ กยท. ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดและสามารถส่งต่อข้อมูลความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ และพร้อมเข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำ เพื่อนำไปรับมือกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราต่อไป
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมฯ ในครั้ง กยท. ต้องการมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การบริหารและการจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (โรคใบจุดกลม)ให้กับผู้บริหาร กยท. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา นำไปขยายผลสู่การปฏิบัติกับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดที่เกิดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา พร้อมทั้งสามารถรายงานข้อมูลมายังส่วนกลางเพื่อใช้ในการบริหารจัดการโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล เพื่อตรวจหาพื้นที่โรคระบาดและประเมินความสมบูรณ์ของต้นยางพารา ระบบอัจฉริยะเพื่อการวินิจฉัยเฝ้าระวังและเตือนภัยโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (YangBot) นอกจากนี้ การประชุมยังมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายหัวข้อ ประกอบด้วย ความก้าวหน้าโครงการบูรณาการทดลองร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา และผลการสำรวจระดับธาตุอาหารในดินและในใบยางพาราในแปลงที่เกิดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในจังหวัดนราธิวาส