เจาะลึกกลยุทธ์! เตรียมพิชิตการตลาดภูธร ปี 68 กาง 10 ทริค พลิกวิกฤตเป็นโอกาส! ปรับตัวอย่างไรให้ธุรกิจรอด
โดย สมยศ ชัยรัตน์ กรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร บริษัท แจ่มจรัส จำกัด
ในเครือ บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด
ตลาดภูธรปี 68 กำลังเป็นที่จับตามองเนื่องจากผลพวงจากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยและผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปี 67 ส่งผลแบรนด์สินค้าต่างมุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด การแข่งขันรุนแรง และท้าทายกว่าเดิมเพื่อสร้างความคุ้มค่าและทรงพลัง การวางแผนกลยุทธ์ที่รอบคอบและเข้าใจถึงบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน สู่ความสำเร็จที่เติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดภูธร
ในปี 2568 การตลาดภูธรมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกว่า 80% ของประชากรไทยอาศัยในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2567 ธุรกิจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่จำกัด โดยเน้นการทำตลาดที่คุ้มค่า สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน และสื่อสารแคมเปญที่ตรงกับวิถีชีวิตท้องถิ่น การลงทุนที่มุ่งเน้นความคุ้มค่าและสร้างการรับรู้ที่ยั่งยืนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันในตลาดภูธร นี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อที่จะช่วยให้แบรนด์บุกตลาดต่างจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพในปี 2568
1. เข้าใจ Insight คนภูธรแบบเจาะลึก
อย่ามองว่า “ภูธร” เป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น กำหนดว่า เป็น Upcountry หรือแบ่งเป็นภาค ตามการแบ่งทาง Geography เป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน มีวิถีชีวิต ความเชื่อ และความต้องการที่แตกต่างกันมาก แบรนด์ต้องศึกษาพฤติกรรม ความสนใจ รวมถึงรูปแบบการใช้สื่อทั้ง ออนไลน์ และสื่อท้องถิ่น ที่เจาะลึกอย่างแท้จริง ใช้ข้อมูล (Data) มาวิเคราะห์ เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และเข้าถึงพวกเขาได้อย่างแม่นยำ
2. ทำแคมเปญที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น
การสื่อสารที่ใช้ความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่จะช่วยให้แบรนด์สร้างความใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา ภาพ หรือเรื่องราวที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตท้องถิ่น เช่น การสื่อสารที่ใช้ภาษาท้องถิ่นซึ่งเข้าถึงอารมณ์และวัฒนธรรมในแต่ละกลุ่มหรือแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ การนำเสนอเรื่องราวหรือการร่วมมือกับบุคคลที่เป็นที่รู้จักนับถือในพื้นที่ (Local Influencers) จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีให้แบรนด์
3. สร้าง Content ที่ให้คุณค่าและช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่
เนื้อหาที่มีคุณค่าและเน้นการแก้ปัญหาสามารถสร้างประโยชน์ได้ตรงความต้องการที่แท้จริง ตัวอย่างเช่นแบรนด์ที่เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง บ้าน การเกษตร เป็นสิ่งที่มีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากภัยพิบัติ ที่สามารถให้คำแนะนำ ความรู้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเกิดน้ำท่วมซ้ำ หรือเทคนิคการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ มากไปกว่านั้น คอนเทนต์เชิงให้ความรู้ที่ตรงกับชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นก็มีความสำคัญ เช่น การแนะนำวิธีทำอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาง่ายและมีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์มีความใส่ใจและมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน
4. ใช้กลยุทธ์ “Local Hero”
การใช้ KOLs หรืออินฟลูเอนเซอร์ในท้องถิ่นที่หลากหลาย เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่มีวิถีชีวิตเฉพาะตัว KOLs สายอาหารที่รีวิวร้านอาหารท้องถิ่นหรือเมนูขึ้นชื่อในพื้นที่สามารถเชื่อมโยงแบรนด์กับผู้บริโภคที่รักการกินและชอบค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ขณะที่ KOLs สายชอปปิ้งที่พาไปชมสินค้าในตลาดท้องถิ่นจะช่วยสื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าของสินค้าชุมชน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับของดีหรือความภูมิใจในท้องถิ่นอย่างแท้จริง คนเหล่านี้มีตัวตนอยู่ แต่การหาคนที่ใช่ของแต่ละพื้นที่ นับเป็นความท้าทายของนักการตลาด นอกจาก KOLs แล้ว ศิลปินและนักร้องยังถือเป็นตัวแทนที่ทรงพลังในการเข้าถึงผู้บริโภคต่างจังหวัดอย่างลึกซึ้ง นักร้องมักมีฐานแฟนคลับที่ภักดีและเชื่อมโยงกับชุมชนด้วยผลงานเพลงที่เข้าถึงใจคนท้องถิ่น การที่แบรนด์ร่วมมือกับศิลปินในแคมเปญโฆษณาหรือกิจกรรมส่งเสริมการขาย ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์กับชุมชน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์ไม่เพียงแค่ขายสินค้า แต่ยังสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
5. CSR สร้างความผูกพันกับชุมชน
การเปลี่ยนกลยุทธ์จากการตลาดปกติมาเป็นการทำ CSR เพื่อช่วยเหลือสังคมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะสร้างความเชื่อมโยงและความไว้วางใจจากชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น คน เครื่องมือ หรือสินค้า มาสร้างบริการพิเศษ เช่น การจัดโปรโมชั่นลดราคาสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย การให้บริการขนส่งสินค้าเข้าสู่พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกและความรู้สึกดีต่อแบรนด์ในฐานะผู้ช่วยเหลือสังคมได้ด้วยการลงมือทำจริง ๆ
6. ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อสร้างแคมเปญที่ปรับตัวได้
การใช้ AI ในการสร้างแคมเปญที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้อัตโนมัติ (AI Powered Business Intelligence Platform) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์สามารถทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่มีความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่หลากหลาย การใช้ AI ช่วยให้แบรนด์สามารถติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่แบบเรียลไทม์ และปรับแคมเปญให้ตอบสนองต่อความต้องการได้ทันที เช่น การเสนอสินค้าเฉพาะสำหรับฤดูกาลหรือเทศกาลท้องถิ่น โดย AI จะวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อในช่วงเทศกาลสำคัญและเสนอโปรโมชั่นที่สอดคล้องกับความต้องการในช่วงนั้น ๆ นอกจากนี้ AI ยังสามารถแนะนำสินค้าตามพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าในพื้นที่ เช่น หากลูกค้านิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค AI ก็จะปรับแคมเปญให้แนะนำสินค้าที่เป็นที่ต้องการในพื้นที่นั้น รวมถึงการส่งข้อเสนอพิเศษเฉพาะเจาะจงสำหรับลูกค้าประจำเพื่อส่งเสริมความผูกพันและภักดีต่อแบรนด์
7. นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนและช่วยเหลือท้องถิ่น
ความยั่งยืนและการสนับสนุนท้องถิ่นกำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ แบรนด์สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนหรือสนับสนุนสินค้าท้องถิ่น เช่น ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการซื้อสินค้าของพวกเขามีความหมายและเป็นประโยชน์กับสังคม
8. สร้างความร่วมมือกับธุรกิจและองค์กรในท้องถิ่น
การร่วมมือกับธุรกิจท้องถิ่น เช่น ร้านค้าปลีก สหกรณ์ หรือตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้รวดเร็วและสร้างความน่าเชื่อถือ การจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรในชุมชน (Local On-ground Activity) เช่น การจัดงานตลาดนัดในชุมชนหรือแคมเปญการกุศลจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่มีความใส่ใจในชุมชน ทำให้ผู้บริโภคท้องถิ่นรู้สึกว่าแบรนด์นี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา
9. ปรับการบริการลูกค้าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น
การบริการลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค การฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้บริโภคในท้องถิ่น หรือใช้พนักงานที่มาจากท้องถิ่นนั้น ๆ จะช่วยให้การบริการมีความเป็นมิตรและเป็นที่รักของคนในชุมชน เช่น การให้คำแนะนำหรือข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่ใกล้ชิดเป็นกันเอง การบริการในลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจและความจงรักภักดีต่อแบรนด์ได้
10. ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแคมเปญ
การให้ผู้บริโภคในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบแคมเปญจะช่วยสร้างความผูกพันและการมีส่วนร่วมในชุมชน เช่น การจัดให้ผู้บริโภคเลือกโปรเจกต์หรือกิจกรรมที่ต้องการสนับสนุน เช่น โครงการก่อสร้างโรงเรียน ซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หรือกิจกรรมช่วยเหลือชุมชน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์ของคุณไม่เพียงแค่ต้องการขายสินค้า แต่ยังให้ความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชน
การตลาดภูธรที่มีประสิทธิภาพในปี 2568 ต้องอาศัยเทคโนโลยีทางการตลาด เช่น Business Intelligence ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และระบบ Customer Data Platform (CDP) สำหรับการทำแคมเปญที่ปรับให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์จากทีมงานที่มีประสบการณ์ในพื้นที่จริง เพื่อสร้างความผูกพันที่ลึกซึ้งและความเชื่อมั่นกับชุมชน การใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้แบรนด์สามารถแข่งขันในตลาดภูธรได้อย่างยั่งยืน