จาก 4 ดำแห่งภูพาน สู่ ไส้กรอกเนื้อกวางลูกผสมแซมบ้า-รูซ่า
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีพอเพียงตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษา ทดลอง และพัฒนาการอาชีพด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบให้ชุมชนนำไปปฏิบัติแบบพึ่งพาตัวเองได้
นอกจากการศึกษาและทดลองในเรื่องข้าว พืชไร่ พืชสวน
ก็ยังมีการศึกษาและทดลองด้านปศุสัตว์ ตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงได้
เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย อาหารของสัตว์หาได้ในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยี
แบบง่ายๆ ทนทานต่อสภาพแวดล้อม
สามารถนำมาประกอบอาหารในครัวเรือน และมีกำไรเมื่อนำไปขายในท้องตลาด
นายสัตวแพทย์วิสุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร นายสัตวแพทย์หัวหน้ากลุ่มงานศึกษาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากกระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เผยว่า สัตว์ที่ทางศูนย์ส่งเสริมและแนะนำให้กับเกษตรกรมีอยู่หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ “4 ดำแห่งภูพาน” ได้แก่ ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน โคดำภูพาน และกระต่ายดำ ซึ่งสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ในปัจจุบันช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
และล่าสุดมีการพัฒนากวางลูกผสมแซมบ้า-รูซ่า โดยทางศูนย์ฯ ได้เลี้ยงเพื่อการศึกษา 20 ตัว และได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ช่วงแรกนำเขากวางอ่อนมาสกัด เพราะมีองค์ประกอบฮอร์โมนและสารประกอบหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะเรื่องสมรรถภาพทางเพศ และสุขภาพ ต่อมาเมื่อกวางมีอายุเยอะขึ้นเกินกว่า 10 ปี เริ่มให้เขาน้อยลง ต้องปลดระวาง จึงลองนำเนื้อไปให้ชาวบ้านนำไปประกอบอาหารก็ได้รับความนิยม จากนั้นก็ได้ต่อยอดนำมาแปรรูปเป็นไส้กรอก ซึ่งได้ผ่านการทดสอบหลายครั้ง จนได้สูตรสำเร็จที่มีรสชาติดี ตรงตามความต้องการของตลาด นับเป็นไส้กรอกเนื้อกวางเจ้าแรกของประเทศไทย ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการทำกิน สร้างรายได้ พร้อมให้โปรตีนแก่ราษฎรชาวอีสานเป็นอย่างดี
ทางด้านนางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เปิดเผยกับสื่อมวลชนในโครงการ สื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ประจำปี 2567 ว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เป็นต้นแบบ “สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตแบบพอเพียง” ที่นำผลสำเร็จมาสาธิต ในรูปแบบของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต สร้างวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง ของประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ได้รับการต่อยอดความสำเร็จขยายผลสู่เกษตรกรชาวลาว
ซึ่งสำนักงาน กปร. ได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อ เผยแพร่ข้อมูล ผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ และร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดความยั่งยืน ต่อไป