ศูนย์ข้าวชุมชนฯ แม่อ้อ ปลื้ม กรมการข้าวหนุนพัฒนาเห็นผล ก้าวสู่แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพของภาคเหนือ

นายปิยะพันธ์ ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เปิดเผยว่า ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นองค์กรชาวนาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนการจัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชน ซึ่งศูนย์ข้าวชุมชนข้าวปลอดสารพิษตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในศูนย์ข้าวชุมชนที่ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย  ได้เข้ามาส่งเสริมพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และมีแนวทางการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องตามแนวทางการส่งเสริมของกรมการข้าว คือ ในลักษณะการบริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม “โดยชาวนา เพื่อชาวนา” และจากความร่วมมือ ความสามารถของกลุ่มทำให้เกิดการพัฒนายกระดับการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็น
กลุ่มต้นแบบของการพัฒนา

“กรมการข้าวโดยศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้เข้ามาให้การสนับสนุนการพัฒนาของกลุ่ม ภายใต้โครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล  เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่
ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ที่เน้นให้มีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรกลต่าง ๆ ทั้ง รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าว คูโบต้า105
 โดรนเพื่อการเกษตร
รถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำขนาด
 5.5 แรง เครื่องทำความสะอาดข้าว เครื่องแพ็คข้าว จักรเย็บกระสอบ กระสอบ รวมถึงองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่นสร้างการพัฒนา ได้ทำให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้
มีผลงานที่โดดเด่น เป็นต้นแบบให้แก่ชาวนาทั้งในจังหวัดเชียงรายและใกล้เคียง โดยในปี 2568  ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทสถาบันเกษตรกร จากเข้าร่วมแข่งขันประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย
ในระดับจังหวัด จังหวัดเชียงราย ปีการเพาะปลูก 2567/2568” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กล่าว

ด้าน นายสมพร  ทรินทร์  ประธานศูนย์ข้าวชุมชนข้าวปลอดสารพิษตำบลแม่อ้อ กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนข้าวปลอดสารพิษตำบลแม่อ้อ ตั้งอยู่ เลขที่ 51 หมู่ 3 บ้านแม่แก้วใต้ ตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยได้มีการรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2559 ในชื่อ กลุ่มข้าวปลอดสารพิษตำบลแม่อ้อ สืบเนื่องและได้มีการพัฒนากลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2564 ได้ขึ้นทะเบียนศูนย์ข้าวชุมชน ข้าวปลอดสารพิษตำบลแม่อ้อ โดยมีสมาชิก 32 คน พื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 474 ไร่

“ทั้งนี้ในการขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ข้าวชุมชน สืบเนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของชาวนาในท้องถิ่น โดยการดำเนินงานของศูนย์ข้าวชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสู่ชาวนาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ให้แก่เกษตรกรในชุมชนเพื่อใช้ในการเพาะปลูก และจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของกลุ่ม อีกทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวของชุมชนและให้บริการความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ  แหนแดง ปุ๋ยและสารเคมีแก่คนในชุมชน รวมถึงเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรมต่างๆ แก่สมาชิกและชุมชนท้องถิ่นให้รู้จักหวงแหนถิ่นเกิด และเพื่อพัฒนาชาวนาและองค์กรให้มีความเข้มแข็ง
เพิ่มศักยภาพ ทักษะและขีดความสามารถ โดยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการ แนวคิดต่างๆ ตลอดจนวิธีคิดในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ สุดท้ายเพื่อเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจอยากทำเมล็ดพันธุ์ข้าว ข้าวคุณภาพ มาร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ และการต่อรองทางการตลาด” นายสมพร  กล่าว

นายสมพร  กล่าวต่อไปว่า โดยนับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์ข้าวชุน ได้รับการส่งเสริมพัฒนา และสนับสนุนจากกรมการข้าวและศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายเป็นอย่างดี จนทำให้เกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ105 จำนวน 1 ตัน กข15 จำนวน 2 ตัน และคัดเลือกรวงข้าวเพื่อทำพันธุ์เอง ในกลุ่มให้กับสมาชิกของศูนย์ข้าวชุมชนตำบลแม่อ้อ ได้ทำการเพาะวางรวงปลูกข้าว โดยผลผลิตที่ได้เก็บพันธุ์คัดไว้ และพันธุ์หลักนำแจกจ่ายให้สมาชิกกลุ่มเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกขยายพันธุ์ และเพาะพันธุ์จำหน่าย นำตรวจผ่านการรับรองจากศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายเพื่อรับรองคุณภาพ

ส่วนกิจกรรมที่ให้บริการแก่เกษตรกรสมาชิก นายสมพรได้ให้ข้อมูลว่า จะมีทั้งการบริการตรวจวิเคราะห์ดิน การให้บริการไถนา บินโดรน เกี่ยวข้าว บริการรับปลูกนาข้าว การจำหน่วยปุ๋ย การผลิตน้ำหมัก พด2 พด7 ไว้ใช้ในกลุ่มแบ่งปันเกษตรกร การผลิตปุ๋ยหมักจากสารพด1 การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึง.เป็นศูนย์การเรียนรู้ ศพก.เครือข่ายตำบลแม่อ้อ ด้านข้าวการผลิตเมล็ดพันธุ์

“กล่าวได้ว่า การเป็นศูนย์ข้าวชุมชน สามารถนำประโยชน์สุขมาสู่สมาชิก โดยนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีแล้วยังทำให้ชาวนาผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวแทนการจำหน่ายข้าวในรูปแบบของข้าวเปลือกทั่วไป อีกทั้งยังมีการแปรรูปข้าวที่ปลูกในรูปแบบข้าวปลอดสารพิษจำหน่าย ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ยกระดับราคาข้าวให้เพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรสมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”นายสมพร กล่าว