ชาวนาเชียงราย-พะเยายิ้มร่า ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เสริมแกร่งผลิตข้าวด้วยนวัตกรรมใหม่

เชียงราย – นายปิยะพันธ์ ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เป็นหน่วยงานสังกัดกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว รับผิดชอบด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา และทำหน้าที่ผู้แทนกรมการข้าวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีภารกิจหลักด้านการศึกษาวิจัยด้านการปรับรุงพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการผลิตข้าว การอารักขาข้าว วิทยาการเมล็ดพันธุ์ วิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวข้าว การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว พร้อมทั้งปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานนโยบายที่สำคัญของกรมการข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กล่าวต่อไปว่า ในการส่งเสริมสร้างการพัฒนาอาชีพการทำนาของเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้เน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่รองรับการเกษตรสมัยใหม่ โดยในด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ซึ่งรับผิดชอบโดยกลุ่มวิชาการ มีงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวพันธุ์กข 26 หรือ เชียงราย72 เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง ศักยภาพผลผลิต 1,150 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานโรคไหม้, ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI, ข้าวหอมแม่จัน เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI อีกพันธุ์หนึ่งของจังหวัดเชียงราย คาดว่าจะดำเนินการในช่วงปี 2568-2569 นอกจากนี้ ยังมีข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสงพันธุ์ดีเด่น ได้แก่ ข้าวเหนียวยักษ์เชียงราย พันธุ์ CRIC22001 เป็นข้าวเหนียวที่มีลำต้นสูงใหญ่ แข็งแรง ไม่หักล้ม ความสูง 150-180 ซม. ความกว้างของลำต้น 1 ซม. ใบธงยาว 70 ซม. กว้าง 2 ซม. ศักยภาพผลผลิต 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยวสั้นและกินอร่อย เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาทั่วไปและพื้นที่นาลุ่มหรือน้ำท่วมซ้ำซาก

“ขณะที่ ด้านอารักขาข้าว ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่สำคัญ และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชาวนาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยในด้านโรคข้าว จะเน้นการส่งเสริมให้มีการจัดการโดยใช้วิธีผสมผสาน รวมถึงการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคข้าว เพื่อลดการใช้สารเคมี ส่วนแมลง และสัตว์ศัตรูข้าว จะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชาวนาเกี่ยวกับชนิดของแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว รวมถึงการจัดการ และป้องกันกำจัดโดยวิธีผสมผสาน ที่สำคัญยังเน้นส่งเสริมให้มีการนำพืชสมุนไพรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
มาใช้เพื่อการป้องกันกำจัด เช่น การใช้ผงว่านน้ำ การใช้สารสกัดเนื้อผลมะคำดีควายรูปแบบเม็ดละลายน้ำในการป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ เป็นต้น”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะที่ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าว ได้มีการส่งเสริมเกิดการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการการทำนา และได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถช่วยให้ชาวนาเพิ่มผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้น จากการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ (Laser land leveling) เป็นการปรับพื้นที่นาที่มีระดับสูงๆต่ำ ให้เรียบเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้สูงขึ้น สามารถจัดการน้ำให้ทั่วทั้งแปลง การใช้เครื่องจักรทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ยังได้มีการส่งเสริมการจัดการน้ำด้วยท่อวัดระดับน้ำอัจฉริยะ ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดระดับน้ำที่มีการส่งข้อมูลขึ้นระบบฐานข้อมูล cloud server และรายงานผ่านทาง Line application ใน 4 ช่วงเวลาต่อวัน ช่วยให้ทราบถึงระดับน้ำในแปลงนา เกษตรกรสามารถจัดการน้ำและใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเครื่องวัดสภาพอากาศอัตโนมัติที่บันทึกค่าความเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นในดิน อุณหภูมิ ความเร็วลม และกล้อง cctv ติดตั้งในแปลงนาเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และยังมีการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีการเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวด้วยแหนแดง ซึ่งมีประโยชน์คือสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนในอากาศ ให้เป็นสารประกอบในรูปของแอมโมเนียม เป็นพืชปุ๋ยสด สามารถใช้ร่วมกับการปลูกข้าว นอกจากนี้ยังสามารถลดการเจริญเติบโตของวัชพืชในนาข้าวได้เป็นอย่างดี
“ ในด้านงานผลิตเมล็ดพันธุ์ เป็นอีกภารกิจที่สำคัญ ซึ่งศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาจากกรมการข้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้รับการสนับสนุนชุดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด พันธุ์หลัก พร้อมอาคารโรงคลุม ตามโครงการปรับปรุงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปี งบประมาณ 2566
“ วัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัดและเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์หลัก ให้มีเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น และมีปริมาณเพียงพอในการนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์ขยายและเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์จำหน่าย ที่จะต้องมีการเพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกร ลดภาวการณ์ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี และให้สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กล่าว