จากฤดูแล้งสู่ฤดูฝน ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว วางแผนรับมือสถานการณ์น้ำ ปี 2568

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ได้จัดทำ 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนําไปดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและจัดทำแผนปฏิบัติการตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ได้ประสานและติดตามการดำเนินงานตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูแล้ง ระหว่างฤดูแล้ง จนถึงขณะนี้เหลือเวลาไม่ถึงเดือนก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งในวันที่ 30 เมษายน 2568 ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ โดยเน้นการบูรณาการบริหารจัดการน้ำ การวางแผนการเพาะปลูกพืช และการจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ พร้อมทั้งมีการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ สทนช. ยังทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขช่วยเหลือประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จากการทำงานเชิงรุกดังกล่าว ส่งผลให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2567/2568 ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ โดยตั้งแต่ต้นฤดูแล้งจนถึงปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร เพียง 2 จังหวัด 10 อำเภอ 15 ตำบล ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี 3 อำเภอ 5 ตำบล โดยมีการเข้าช่วยเหลือโดยใช้เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยครบทุกพื้นที่แล้ว และที่จังหวัดบุรีรัมย์ 7 อำเภอ 10 ตำบล ขณะนี้ ปภ. อยู่ระหว่างการสำรวจและพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็วต่อไป
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคและปัญหาภัยแล้ง ทั้งงบประมาณปกติ ประจำปี 2567 – 2568 และงบกลางปี 2567 รวมทั้งสิ้นกว่า 159,000 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 4.2 ล้านไร่ ประชาชนได้รับผลประโยชน์ 1.13 ล้านครัวเรือน เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 806.42 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา กนช. ยังได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 แบ่งเป็น แผนงานด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 10,975 รายการ วงเงิน 47,067 ล้านบาท สามารถเพิ่มครัวเรือนรับประโยชน์ 2.09 ล้านครัวเรือน ปริมาณน้ำ 235.27 ล้าน ลบ.ม. และแผนงานด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต จำนวน 29,280 รายการ วงเงิน 214,810 ล้านบาท สามารถเพิ่มครัวเรือนรับประโยชน์ 1.69 ล้านครัวเรือน ปริมาณน้ำ 1,418.78 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะสิ้นสุดฤดูแล้ง ปี 2567/2568 (วันที่ 30 เมษายน 2568) สทนช. ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) หรือ สสน. คาดการณ์ว่า ปีนี้ฝนจะมาเร็วกว่าปกติและมีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยในเดือนเมษายน 2568 จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 49% และอาจเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ และคาดการณ์ว่า หลังสิ้นสุดฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 จะมีปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง รวมกันประมาณ 42,932 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกประมาณ 27,994 ล้าน ลบ.ม.
โดยในช่วงฤดูฝนปีนี้ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจส่งผลต่อประชาชนได้อย่างทันที รวมถึงตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งนั้น สทนช. จึงได้จัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2567 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ มากำหนดเป็น 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมตั้งรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง กนช. เห็นชอบมาตรการดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 แล้ว และมอบให้ สทนช. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดำเนินการตามมติ กนช. และขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ครม. เพื่อทราบมาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง มาตรการที่ 2 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ มาตรการที่ 3 เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง มาตรการที่ 4 ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัยคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ มาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ มาตรการที่ 7 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ความเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายในการติดตามเฝ้าระวังรับมือภัยด้านน้ำ และ มาตรการที่ 9 ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
“ในปีนี้คาดว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปกติ คือในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมาก โดยมากกว่าค่าปกติ 17% และอาจจะมีสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ก่อนที่สถานการณ์ฝนจะกลับมาตกหนักมากอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะมีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 29% และมีแนวโน้มจะเกิดพายุโซนร้อน จำนวน 1-2 ลูก จึงได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานเร่งบูรณาการขับเคลื่อน 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ดังกล่าวให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยต้องดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชนจากอุทกภัยในช่วงฤดูฝนให้ได้มากที่สุดด้วย” ดร.สุรสีห์ กล่าว
สทนช. ร่วมกับกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บูรณาการติดตามและคาดการณ์ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่า จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 17 แห่งจาก 35 แห่ง ที่อยู่ในเกณฑ์ปริมาณน้ำมาก แบ่งเป็น พื้นที่ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันออก 4 แห่ง และภาคตะวันตก 1 แห่ง เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 สทนช. ได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำพร้อมติดตามสถานการณ์ โดยจะปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนคาดการณ์รายเดือน และเตรียมการล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ จะมีการแจ้งประสานประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อให้รับทราบสถานการณ์น้ำ การพร่องน้ำไว้รองรับน้ำหลาก และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ สทนช. จะนำ “ผังน้ำ” ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ มาใช้เป็นข้อมูลและเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งจะนำเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแบบจำลองสภาพอากาศ การใช้ข้อมูลจากดาวเทียม การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ แนวโน้มภัยพิบัติจากข้อมูลในอดีตและภูมิอากาศผ่าน Big Data หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ ในการคาดการณ์ปริมาณฝนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับความแม่นยำในการคาดการณ์และระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายในการลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งสื่อหลัก สื่อออนไลน์ และสื่อท้องถิ่น รวมทั้งการใช้ภาษาถิ่นในการประชาสัมพันธ์ด้วย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและได้รับความร่วมมือจากประชาชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันต่อสถานการณ์
ส่วนข้อกังวลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทานต่าง ๆ หรือไม่นั้น สทนช. ได้รับการประสานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนและอาคารชลประทานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมทรัพยากรน้ำ และ กฟผ. ยืนยันว่าเขื่อนทุกแห่ง ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมทั้งอาคารชลประทานต่าง ๆ ไม่ได้รับความเสียหาย ยังมีความมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการประเมินสภาพของเขื่อนอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วประเทศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว หรือดินถล่ม “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ สทนช. ยืนยันพร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุกรับมือสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น .