บริหารจัดการยางตามกลไกตลาด กยท.การันตีแนวโน้มปีนี้ยังสดใส

        สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (The Association of Natural Rubber Producing Countries: ANRPC)  คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกปี 2568  จะเพิ่มขึ้น 0.3%  หรือเป็นประมาณ 14.9 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยางธรรมชาติคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.8%  เป็น 15.6 ล้านตัน 

                  ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประสบปัญหาผลผลิตยางพาราลดลง เป็นผลมาจากเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งให้ผลกำไรมากกว่า  ANRPC คาดว่าผลผลิตยางพาราของอินโดนีเซียในปี 2568 จะลดลง 9.8% จากปีก่อนหน้า เหลือ 2.04 ล้านตัน  เช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ผลผลิตจะลดลง 1.3% เหลือ 1.28 ล้านตัน   ตรงข้ามกับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดการณ์ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 1.2% ในปีนี้  เช่นเดียวกับ ประเทศไอวอรีโคสต์  ผู้ผลิตยางรายใหญ่จากทวีปแอฟริกา จะมีผลผลิตยางเพิ่มขึ้น  

                  แต่ผลผลิตโดยรวมทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยาง เนื่องจากการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศจีนและอินเดีย  ANRPC คาดว่าในปีนี้ ความต้องการยางธรรมชาติจากทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว จะเพิ่มขึ้น 2.5% และ 3.4% ตามลำดับ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของความต้องการจาก 2ประเทศนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดโลก  เพราะจะทำให้เกิดความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น และส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น

                  ดร.เพิก เลิศวังพง  ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.)  กล่าวว่า  สถานการณ์ราคายางในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ผ่านมา  ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (FOB กรุงเทพฯ) ในปี 2567 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 83.87 บาทต่อกิโลกรัม  ส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (FOB กรุงเทพฯ) จะมีราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

                  “ราคายางตั้งแต่ผมเข้ามาบริหารเป็นประธานบอร์ด กยท. จนถึงปัจจุบันมีสเถียรภาพมากขึ้น มีการปรับตัวขึ้นบ้างลงบ้างเป็นไปตามกลไกการตลาด  แต่ราคายางไม่เคยต่ำกว่าราคาก่อนที่ผมจะเข้ามาบริหาร  คือ ราคาก้อนถ้วย ไม่เคยต่ำกว่า  18  บาทต่อกิโลกรัม  ราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ไม่เคยต่ำกว่า 49 บาทต่อกิโลกรัม  เป็นราคาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ยางมากขึ้น   โดย กยท.จะบริหารจัดการยางในภาพรวม ใช้กลไกการตลาดในควบคุมราคายาง   ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ  ในปี 2567 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตยางทั้งหมด 4.7 ล้านตัน สามารถสร้างมูลค่ายางจากราคาที่เพิ่มขึ้นจากเดิมได้กว่า 100,000 ล้านบาท  โดยที่ไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย” ดร.เพิกกล่าว

                  ก่อนหน้านี้ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพให้ราคายาง จะต้องนำงบประมาณแผ่นดินมาดำเนินโครงการต่างๆ เช่น   โครงการแทรกแซงราคายาง   โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง  โครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง  เป็นต้น  แต่นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนี้จะไม่นำงบประมาณแผ่นดินมาใช้  จะใช้กลไกตลาดในการควบคุมราคา  ดังนั้น หากเป็นไปตาม ANRPCคาดการณ์สถานการณ์ยางว่า ปีนี้ความต้องการใช้ยางมากกว่าปริมาณการผลิตยางแล้ว  หากเป็นไปตามกลไกทางการตลาดจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ยางจะมีราคาลดลง 

                  ขณะนี้่ กยท.มี ศักยภาพในการบริหารจัดการยางให้เป็นไปตามกลไกตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ได้มีการประกาศสงครามกับยางเถื่อน ปราบปรามอย่างจริงจังต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  ทำให้ยางเถื่อนลดลง สามารถควบคุมปริมาณยางในประเทศได้อย่างน่าพอใจ รวมทั้งยังได้ดำเนินการยกระดับสร้างเครือข่ายตลาดประมูลท้องถิ่นของ กยท. กว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน  ด้วยการนำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital Platform “Thai Rubber Trade” (TRT)  มาใช้ในการประมูลซื้อขาย พร้อมนำเทคโนโลยี Block Chain  เข้ามาใช้รองรับการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา  

                  นอกจากนี้ กยท. ยังได้ดำเนินโครงการชะลอการขายยา เพื่อควบคุมปริมาณผลผลิตยางพาราที่เข้าสู่ตลาดให้เหมาะสมกับการใช้ยาง ลดความผันผวนด้านราคา ทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง   ในระหว่างรอการขายผลผลิต ให้สามารถขายผลผลิตยางของ ตัวเองในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและพอใจ   ไม่จำเป็นต้องรีบจำหน่ายผลผลิต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน

                  “ถ้าใครมาปิดเบือนตลาด เช่น เอายางเถื่อนเข้ามาเพื่อทุบราคา หรือบริษัทบางบริษัทประกาศลดราคายางลงอย่างไม่มีเหตุผล กยท. จะเข้าไปตรวจสอบทันที จะมาเอาเปรียบเกษตรกรไม่ได้อีกแล้ว  เราพร้อมรบกับทุกคนที่ทำไม่ถูกต้อง โดยใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อรักษาเสถียนภาพราคายาง การขึ้นลงของราคายางถ้าเป็นไปตามกลไกการตลาดที่จริงก็ไม่มีปัญหา  แต่ถ้าจะมาทุบราคา เราจะดำเนินโต้กลับทันที” ประธานบอร์ด กยท.กล่าวยืนยัน

                  นอกจากนี้ กยท.ยังใช้ราคาซื้อขายจริง (Spot Price)  ในการอ้างอิงราคาซื้อขายยางมากขึ้น   โดย กยท.ได้มีการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นราคาที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้  ซึ่งขณะนี้มีผู้ค้ารายใหญ่ที่เคยใช้ราคาอ้างอิงจากตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในประเทศสิงคโปร์ (SICOM)  ตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในประเทศญี่ปุ่น (TOCOM)  และตลาดซื้อขายยางเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน(SHFE) เริ่มหันมาใช้ราคาอ้างอิงของไทยในการซื้อขายยางแล้ว  ซึ่ง กยท.จะสร้างคนกลุ่มใหม่ๆ ให้สนใจและใช้ราคาอ้างอิง ของ กยท.ดังกล่าวในการซื้อขายยาง เพราะเป็นราคาที่สอดคล้องกับราคาซื้อขายจริงของตลาดยางทั้งในตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง และตลาดประมูลยางพาราท้องถิ่นในเครือข่ายของกยท. กว่า 600  แห่งทั่วประเทศ

                  ส่วนการประกาศบังคับใช้กฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR)  ของสหภาพยุโรป(EU)ที่เลื่อนการบังคับจากปี2567  มาเป็นปลายปีนี้นั้น ยังจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ราคายางเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง  ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของโลกที่ปฏิตามกฎระเบียบของ EUDR  คือ สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของยางได้  และจะต้องเป็นยางที่มาจากสวนยางที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิ์การครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ  พื้นที่อนุรักษ์  รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

                  ส่วนอีกประเทศสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้คือ ไอวอรีโคสต์  ซึ่งเป็นประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก  แต่ปริมาณก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด EU

                    ที่ผ่านมา กยท.ได้จัดทำ “โครงการReady for EUDR in Thailand : RAOT พร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล” ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการระบบยางอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   ซึ่งจะมีการประเมินและจัดหมวดหมู่อย่างละเอียดตามมาตรฐาน EUDR  นอกจากนี้ยังได้ดำนินการออกโฉนดต้นยาง ให้เกษตรกรที่เป็นเจ้าของต้นยาง    ซึ่งจะทำให้ต้นยางทั่วประเทศมีเอกสารสิทธิ์ที่หน่วยงานของรัฐรับรอง  สามารถต่อยอดทำให้ยางของไทย ทั้ง 22 ล้านไร่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ได้ 100%  เพราะโฉนดต้นยางทุกต้นสามารถสอบย้อนกลับได้ และยังเป็นหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานรัฐยืนยันว่า  เป็นสวนยางที่ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง  ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม 

                  ทั้งนี้การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นราคายางที่เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR จะมีราคาสูงกว่าอย่างทั่วไป  และเมื่อราคายางEUDR มีราคาสูงขึ้น ก็จะผลักดันให้ราคายางทั่วไปสูงตามขึ้นไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพี่น้องเกษตรกร  

                  การจัดทำสวนยางให้ผ่านกฎระเบียบ  EUDR  นั้นไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ระยะเวลา 1 ปีที่ EU เลื่อนการบังคับนั้น ประเทศผู้ส่งออกยางที่เป็นคู่แข่งของไทยยังไม่สามารถทำได้  ยางของไทยจึงมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง  ส่วน EU  จะเลื่อนการบังคับออกไปอีกหรือไม่  ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้  ทั้งนีี้ไม่ว่าจะเลื่อนบังคับหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยก็จะดำเนินมาตรการตรวจสอบย้อนกลับอยู่แล้ว  เพราะมาตรการนี้จะส่งผลดีต่อการบริการจัดการยางของไทย สามารถตรวจสอบได้ว่า ยางมาจากสวนไหน มีการจัดการสวนอย่างไร  ป้องกันการเอายางจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์

                  ยางไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ทั้งหมดหรือไม่ ?

                  ดร.เพิก กล่าวว่า อาจจะไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น  เพราะมีตลาดที่ยังไม่ต้องการใบรับรองการตรวจย้อน  แต่ใน อนาคตแนวโน้มที่ทุกประเทศจะนำกฎระเบียบเช่นเดียวกับ EUDRมาบังคับให้แน่นอน  เพราะทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยาง เช่น ยางล้อรถยนต์  ถุงมือยาง เป็นต้น หากจะต้องส่งไปขายในตลาด EU  จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบตามกฎระเบียบ EUDR เช่นเดียวกัน  ดังนั้นประเทศคู่ค้าของไทยที่ซื้อยางไปแปรรูปจำเป็นจะต้องซื้อยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ถึงจะสามารถส่งผลิตภัณฑ์นั้นๆไปขายใน EU ได้   ยิ่งจะทำให้ยางไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น  สำหรับตลาดส่งออกยางหลักทางไทยในปัจจุบันคือ ตลาดประเทศจีน มีมูลค่าประมาณปีละมากกว่า 50,000 ล้านบาท  ส่วนตลาดEU มีมูลค่าการส่งออกประมาณปีละกว่า 14,000 ล้านบาท

                  จากการวิเคราะห์ของ  ANRPCผนวกกับการบริหารจัดการยางของ กยท. และการบังคับให้กฎระเบียบ EUDR น่าจะยืนยันได้ว่า  ภาพรวมของสถานการณ์ยางในปี 2568 สดใสแน่นอน