กษ. เตรียมมอบโฉนดต้นยาง 1 เม.ย.นี้ ชู เพิ่มมูลค่ายางกว่า 500,000 ล้าน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เตรียมจัดพิธีมอบโฉนดต้นยางพารา 1 เม.ย.นี้ ตั้งเป้า 11 ล้านไร่ภายในปีนี้  เตรียมชงรัฐบาลผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ หวังออกให้ครบ 22 ล้านไร่ มั่นใจช่วยแก้ปัญหายางครอบคุมทุกด้าน สร้างคนให้อยู่กับป่าอย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ป้องกันไฟป่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นไปตามกฎEUDR  สร้างโอกาสชาวสวนยางเข้าถึงแหล่งเงินทุน  เพิ่มมูลค่าให้ยางพาราได้มากกว่า 500,000 ล้านบาท

                  ดร.เพิก เลิศวังพง  ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.)  เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ได้กำหนดโครงการโฉนดต้นยาง ให้เป็นนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ  โดยในวันที่ 1 เมษายน 2568 นี้ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ  จะเป็นประธานในพิธีมอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา ซึ่งในเบื้องต้น กยท. จะออกโฉนดต้นยางในพื้นที่สวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย จำนวน 11.17 ล้านไร่ ให้ได้ภายในปี 2568  จากนั้นก็จะออกโฉนดต้นยางในพื้นที่อื่นๆ ที่เกษตรกรครอบครอง พร้อมจะผลักดันโครงการโฉนดต้นยางให้เป็นวาระแห่งชาติ  เพื่อจะสามารถออกโฉนดต้นยางได้เร็วขึ้น จนครบทั้ง 22 ไร่ทั่วประเทศภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

                  ทั้งนี้โฉนดต้นยาง ถือเป็นเอกสารสิทธิ์สำหรับต้นยางพาราที่ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง  ซึ่งจะทำให้ต้นยางทั่วประเทศมีเอกสารสิทธิ์ที่หน่วยงานของรัฐรับรอง  โดยเฉพาะต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ที่เกษตรกรครอบครองมายาวนานแต่รัฐไม่สามารถออกโฉนดที่ดินหรือเอกสิทธิ์ที่ดินให้ได้ ก็จะมีโฉนดต้นยางเป็นเอกสารสิทธิ์ในครอบครองต้นยางให้เกษตรกรทดแทน  เป็นการแยกกรรมสิทธิ์ต้นยางออกจากกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งจะทำให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน  และยังเป็นการป้องกันไม่ให้มีการรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากโฉนดต้นยางจะระบุพิกัดที่ตั้งของต้นยางนั้นๆ ไว้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนเป็น ID ของต้นยาง  โดยต้นยางที่จะออกโฉนดจะมีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ยกเว้นต้นยางที่โค่นเพื่อปลูกทดแทน

                  “โฉนดต้นยางจะตอบโจทย์แก้ปัญหาในทุกๆด้าน  ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน  เพราะต้นยางแต่ละต้นมีเจ้าของเกษตรกรจะต้องดูแลอย่างดี หากปล่อยให้ไฟไหมสวนยางเกษตรกรก็จะสูญเสียรายได้  นอกจากนี้การปลูกสร้างสวนยางก็เปรียบเสมือนการปลูกป่า ช่วยเพิ่มออกซิเจน ลดฝุ่นPM2.5 ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น  ในอนาคตยังจะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ รวมทั้งยังทำให้เเศรษฐกิจชุมชนมีการขยายตัว เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางอย่างยืน ซึ่งโฉนดสวนยางนั้นจะเพิ่มมูลค่าให้กับต้นยางอย่างน้อยเฉลี่ยประมาณไร่ละ  27,000  บาท ถ้าออกโฉนดต้นยางได้ครบ 22 ล้านไร่ จะทำให้ต้นยางมีมูลค่ารวมถึง 500,000-600,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของต้นยาง”  ดร.เพิก กล่าว

                  นอกจากนี้โฉนดต้นยางยังจะทำให้ยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสามารถส่งออกไปจำหน่ายในสภาพยุโรป(EU) กฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ได้ด้วย 
เพราะโฉนดต้นยางทุกต้นสามารถสอบย้อนกลับได้ และยังเป็นหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานรัฐยืนยันว่า  เป็นสวนยางที่ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง  ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม  เป็นไปตามกฎระเบียบของEUDR

                  “โฉนดต้นยางยังจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ กยท. ได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ในการบรรจุต้นยางพาราเป็นไม้ชนิดหนึ่งในระบบค้ำประกันเงินกู้โดยใช้โฉนดต้นยางพาราเป็นเอกสารประกอบการขอรับบริการสินเชื่อ หรือเป็นหลักประกันเงินกู้จาก ธ.ก.ส. หรือสถาบันการเงินที่ให้บริการได้  ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางก็จะมีเงินไปพัฒนาสวนยางพาราของตัวเอง” ประธานบอร์ด กยท.กล่าวในตอนท้าย