กระทรวง อว. โดย บพข. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เยือนประเทศสเปน สร้างความร่วมมือวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ มุ่งพัฒนา Nanomedicine และ ATMPs ของไทย

เมื่อวันที่ 29 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ประธานคณะกรรมการบริหาร และ รศ.ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีฝ่ายวิจัย และคณะอาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางเยี่ยมชมหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมทางวัสดุศาสตร์ทางชีวภาพและการแพทย์ โดยมุ่งเน้นด้านสาขา Nanomedicine และ ATMPs พร้อมเจรจาสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย ณ ประเทศสเปน โดยเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และเจรจาพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับนักวิจัยชั้นนำจากหลากหลายสถาบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ Material Science Institute of Madrid (ICMM-CSIC), IMDEA Nanociencia Institute, VIVE BIOTECH, CIC BIOMAGUNE, The Institute for Bioengineering of Catalonia  และ Vall D’Hebron Hospital

ในโอกาสนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมและหารือความร่วมมือที่ต่อเนื่อง กับ CDTI-E.P.E ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของ บพข. ในการให้ทุนร่วมกัน (Matching Fund) สำหรับโครงการที่มีความร่วมมือระหว่างสเปนและประเทศไทย CDTI เป็นหน่วยงานให้ทุนแก่ภาคเอกชนที่ทำความร่วมมือวิจัยกับภาครัฐที่สำคัญของประเทศสเปน และเป็นหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของประเทศสเปน ที่มีหน้าที่ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทสเปน โดยให้การสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

ประเทศสเปนมีการลงทุนทางด้านการวิจัยด้านการแพทย์ที่ผ่านกองทุนต่างๆ มากถึง 2.36 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาเทคโนโลยีทาง Nanomedicine และ ATMP ร่วมกับสเปนจะส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับสูงสามารถลดการนำเข้าชีวภัณฑ์ราคาแพงจากต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ คณะได้หารือความร่วมมือการพัฒนานาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์และความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพใหม่ๆ ที่สามารถผลิตในประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยาในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านยาและผลิตภัสุขภาพของประเทศไทยในอนาคต

สำหรับตลาดสุขภาพของสเปน ไม่ได้มีแค่เรื่องของทางการแพทย์เท่านั้น ยังมีตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเสริมทั่วโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 269.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 8.5% สำหรับสเปน ซึ่งเป็นประเทศในยุโรป มีแนวโน้มที่สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอาหารเสริมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มขึ้น จึงเป็นข้อดีในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในประเทศให้ครอบคลุมทั้งอาหารเสริมและการแพทย์