ม.เกษตรศาสตร์จัดงาน”ครบรอบ20ปี สึนามิ” ยกระดับสถานีวิจัยฯระนองสร้างองค์ความรู้ทุกมิติ

ที่ปรึกษาอธิการบดีม..”วิโรจ อิ่มพิทักษ์” พร้อมคณะผู้บริหารลงพื้นที่หาดประพาส อ.สำราญ จ.ระนอง ร่วมพิธี”ครบรอบ 20 ปี สึนามิ”ณ สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามันเพื่อร่วมทำบุญสองศาสนา วางดอกไม้รำลึกผู้เสียชีวิต พร้อมกิจกรรมปล่อยสัตว์น้ำคืนถิ่นและปลูกป่าชายเลน

รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ลงพื้นที่หาดประพาส ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน ศูนย์บริหารงานวิจัยและสนับสนุนวิชาการ คณะประมงในระหว่างวันที่ 25-26 ธ.ค.67 เพื่อเป็นประธานในพิธีกิจกรรมปล่อยสัตว์น้ำคืนถิ่นและปลูกป่า เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 20 ปี จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เมื่อเช้าวันที่ 26 ธ.ค.47พร้อมพิธีทำบุญสองศาสนา(พุทธ/อิสลาม)และวางดอกไม้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

โดยในช่วงเช้าวันที่ 25 ธ.ค.รศ.ดร.วิโรจและคณะ พร้อมส่วนราชการและชาวบ้านในพื้นที่จัดกิจกรรมปล่อยสัตว์น้ำคืนถิ่น(เต่าทะเลและหอยทะเล)และกิจกรรมปลูกป่าชายเลน บริเวณชายหาดประพาส จากนั้นช่วงบ่ายร่วมกิจกรรมเสวนา”2 ทศวรรษ สึนามิกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ต่อมาวันที่ 26 ธ.ค.ที่ปรึกษาอธิการบดีม.ก.เป็นประธานเปิดงาน”ครบรอบ20 ปี สึนามิ”และพิธีทำบุญสองศาสนา(พุทธและอิสลาม) พร้อมวางดอกไม้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ณ อนุสรณ์สถานความสูญเสียจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการของสถานีวิจัยและกิจกรรมของภาคีเครือข่ายฯ โดยมีผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนและประชาชนผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ประมาณ 500 คน

รศ.ดร.วิโรจกล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีวิจัยฯและร่วมกิจกรรม”ครบรอบ20 ปี สึนามิ”ในครั้งนี้ โดยระบุว่า สถานีวิจัยฯแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี2524 หลังรัฐบาลในขณะนั้นได้มอบพื้นที่ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยด้านประมง บนเนื้อที่ 220 ไร่ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก จากนั้นปี 2533 ขณะที่ตนเองดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา จึงได้วางแผนพัฒนาสถานีวิจัยแห่งนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นตามเป้าหมายที่รัฐบาลให้ไว้ กระทั่งตนเองได้ก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งอธิการบดีระหว่างปี 2545-49  โดยมีการเตรียมยกระดับสถานีวิจัยแห่งนี้เป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาชายฝั่งอันดามันให้ครอบคลุมในทุกมิติในพื้นที่  6 จังหวัดฝั่งอันดามันประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสถานีวิจัยชายฝั่งอันดามันที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น 

“การเกิดสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปี 47  มันเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเหมือนกัน เราจะทำแค่งานวิชาการงานวิจัยไม่ได้แล้ว เราจะต้องมาเรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย การเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นเราได้รับความสูญเสียทั้งหมดทั้งตึกอาคาร เจ้าหน้าที่ รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ แต่โชคดีเราได้รับงบประมาณจากรัฐ 200 ล้าน มูลนิธิเซฟเดอะชิลเดรน ยูเค สิบกว่าล้านและงบวิจัยที่ทำวิจัยแต่ละเรื่องอีกสี่ห้าสิบล้าน ก็เอามาฟื้นฟูพัฒนาที่นี่และที่สถานีวิจัยวนศาสตร์บางม่วงที่ตะกั่วป่า พังงาด้วย”

ที่ปรึกษาอธิการบดีม.ก.กล่าวต่อว่าหลังได้งบฯมาก็มาสร้างอาคารหลังใหม่ของสถานี โดยมอบให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคนออกแบบโครงสร้างอาคารเป็นรูปหัวเรือเพื่อรับแรงกระแทกจากคลื่นสึนามิได้ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต   พร้อมกับสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสึนามิและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปในอนาคตด้วย นอกจากนี้ยังร่วมฟื้นฟูอาชีพทำประมงให้กับชาวบ้านด้วย

“มันเป็นวิกฤติการที่น่าเศร้าสลด  ชาวบ้านที่เขามีบ้านอยู่รอบสถานีวิจัยเพื่อไปทำการประมง สึนามิกวาดไปหมดเสียชีวิตเกือบหมด เรืออวนเครื่องมือทำการประมงพังหมด ทุกคนสิ้นเนื้อประดาตัว สิ่งแรกที่เราทำฟื้นฟูสภาพจิตใจก่อน แล้วเราฝึกอบรมอาชีพใหม่หมด ช่วยหาช่วยสร้างเครื่องมือทำกินใหม่โดยส่งคณาจารย์และนิสิตมาช่วยกัน คนที่รอดชีวิตผมจะให้เขามาดูแลพื้นที่ เชื่อว่าไม่มีสถาบันการศึกษาไหนมีประสบการณ์ครั้งนี้เท่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโอกาสดีมากทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตอยากฝากทุกคนด้วย”รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ย้ำทิ้งท้าย