เดินตามแนวพระราชดำริช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมชุมพร
ในช่วงวันที่ 13-15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงได้พัดปก คลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคใต้ตอนล่างเคลื่อนลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้ในช่วงนั้นภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง นอกจากนี้ฝนยังตกสะสมอีกด้วย
จังหวัดชุมพรเป็นอีกพื้นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในครั้งนี้ แม้จะทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ตั้งแต่ อ.ท่าแซะ อ.ปะทิว อ.เมืองชุมพร อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน อ.ละแม ไปจนถึง อ.พะโต๊ะ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายเอเชีย 41 บริเวณสี่แยกปฐมพรและพื้นที่ใกล้เคียงก็ตาม แต่โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยตามแนวพระราชดำริ 2 โครงการ คือ โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ลุ่มน้ำท่าตะเภา และ โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ลุ่มน้ำคลองชุมพร สามารถช่วยบริหารจัดการน้ำและควบคุมสภาวะวิกฤติในช่วงน้ำหลากได้เป็นอย่างดี ทำให้การระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่มในตัวเมืองที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และพื้นที่น้ำท่วมบริเวณถนนสายเอเชีย 41 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักลงสู่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดระดับความลึกของน้ำและระยะเวลาที่น้ำท่วมขังได้อย่างรวดเร็ว
พื้นที่ตั้งจังหวัดชุมพร อยู่บนแหลมมลายู ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย สภาพภูมิประเทศทิศตะวันตกเป็นพื้นที่สูงมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นพรมแดนไทย-เมียนมา และเทือกเขาภูเก็ต ตอนกลางเป็นพื้นที่ราบลุ่ม และทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ผ่านทะเลอันดามัน และเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ ซึ่งเป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง เมื่อปะทะแนวเทือกเขาตะนาวศรีและเทือกเขาภูเก็ต จึงทำให้ฝนตกชุกตลอดพื้นที่ บางครั้งเกิดพายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนพัดผ่านจังหวัด จะยิ่งทำให้เกิดฝนตกหนักมากทั่วทุกพื้นที่ น้ำในคลองต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ราบลุ่มตอนกลางและพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตัวเมืองชุมพร เป็นประจำเกือบทุกปี
ดังปรากฏเหตุการณ์อุทกภัยครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ.2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์พัดกระหน่ำชายฝั่งทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกบริเวณ จ.ชุมพร และปี พ.ศ.2540 เกิดพายุโซนร้อนซีต้า ทั้ง 2 เหตุการณ์ทำให้เกิดฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำหลากลงคลองท่าตะเภาซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองและมีความจุลำน้ำผ่านเพียง 350 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที ในอัตราที่มากกว่า 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เกิดน้ำท่วมฉับพลันไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ตัวเมืองชุมพร สร้างความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และพื้นที่การเกษตรของราษฎรเป็นจำนวนมากกว่า 150,000 ไร่
นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิต ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรง รับทราบปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 ครั้งเสด็จทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานและพระราชดำริเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดชุมพรให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวม5ข้อดังนี้
1. ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง
2. ควรจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัย ที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักทิ้งลงทะเลเป็นการล่วงหน้า จะทำให้หนองใหญ่สามารถรองรับน้ำที่ไหลหลากลงมาใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่แล้วทยอยระบายทิ้งทะเล มีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วจึงค่อย ๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร
3.ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร และอุปโภค-บริโภค และในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายทิ้งทะเลผ่านทางคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักได้อีกด้วย
4. ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2 และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาที่ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรลงได้ในระดับหนึ่ง
และ5. ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก(ด้านท้ายคลองท่าแซะบรรจบกับคลองรับร่อ) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับเมืองชุมพร
นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 สรุปความว่า ให้พิจารณาขุดคลองละมุให้เชื่อมคลองท่าแซะกับหนองใหญ่เพื่อช่วยแบ่งน้ำส่วนหนึ่งจากคลองท่าแซะลงสู่หนองใหญ่ จากนั้นเมื่อระดับน้ำในคลองหัววัง-พนังตักลดระดับลงจึงค่อย ๆ ปล่อยน้ำจากหนองใหญ่ระบายลงคลองหัววัง-พนังตัก และไหลลงสู่ทะเล
“กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิต ดังกล่าวมาวางแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัย โดยได้ดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรให้ลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 2 สาย ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา และลุ่มน้ำคลองชุมพร” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 กล่าว
ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ลุ่มน้ำท่าตะเภา โดยมีระบบควบคุมการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ สามารถบริหารจัดการน้ำได้ 1,150 ลบ.ม.ต่อวินาที (ไม่รวมปริมาณน้ำจากคลองรับร่อ) โดยระบายน้ำ/ผันน้ำผ่าน ประตูระบายน้ำ (ปตร.) คลองท่าแซะ คลองละมุ หนองใหญ่ ปตร.ราชประชานุเคราะห์ 1, 2, 3 ท่อระบายน้ำหนองใหญ่ ปตร.คลองหัววัง ปตร.คลองพนังตัก ปตร.สามแก้วใหม่ และ ปตร.คลองท่าตะเภา ตามลำดับ ไม่ให้เกิน 350 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ลุ่มน้ำท่าตะเภาตามแนวพระราชดำริได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ส่วนลุ่มน้ำคลองชุมพร กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรลุ่มน้ำคลองชุมพร ซึ่งคลองชุมพรนั้น มีขีดความสามารถในการระบายน้ำได้ไม่เกิน 150 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่รอบใน 25ปีการเกิดขึ้นท่วมมีปริมาณน้ำไหลหลากผ่านคลองชุมพรสูงถึง 550 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำในคลองชุมพรเอ่อล้นตลิ่งตั้งแต่วัดเขาปูนข้ามถนนสายเอเชีย 41บริเวณสี่แยกปฐมพร ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรในเขตพื้นที่ตำบลวังไผ่ ตำบลบ้านนา ตำบลขุนกระทิง ตำบลบางหมาก ตำบลตากแดด ตำบลทุ่งคา และหากเป็นช่วงระยะเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูงจะยิ่งเอ่อล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำแช่ขังเป็นเวลา 3-7 วัน ทำให้ประชาชนประสบความเสียหายและเดือดร้อน พอถึงช่วงฤดูแล้งก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มหนุนรุกล้ำเข้าคลองเป็นประจำทุกปี ปีละหลาย ๆ ครั้ง
โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรลุ่มน้ำคลองชุมพร ตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วยงานสำคัญๆ ได้แก่ ปตร.คลองชุมพรตอนบน ปตร.ปากคลองขุดใหม่เชื่อมคลองชุมพร-คลองนาคราช คลองผันน้ำ ขุดขยายคลองนาคราช ขุดลอกคลองชุมพรเดิม ปตร.ตอนกลาง และขุดขยายคลองชุมพรช่วงปลาย ปัจจุบันผลงานภาพรวมทั้งโครงการประมาณ 95.75% จะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2570
“แม้โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรลุ่มน้ำคลองชุมพร ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ได้ช่วยระบายน้ำที่ท่วมซ้ำซากในตัวเมืองและบริเวณถนนสายเอเชีย 41 ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว ลดระดับความลึก และระยะเวลาที่น้ำท่วมขังในพื้นที่และพื้นที่การเกษตร ทำให้ความเสียหายลดลงอย่างมาก รวมทั้งยังช่วยผลักดันน้ำเค็มที่รุกล้ำพื้นที่การเกษตรกรรมและช่วยรักษาคุณภาพน้ำ ระบบนิเวศด้านท้ายน้ำ ระบบสิ่งแวดล้อมบริเวณชุมชนเมือง โดยการบริหารจัดการน้ำและระบายน้ำผ่าน ปตร.คลองท่าตะเภา คลองสามแก้ว คลองหัววัง-พนังตัก ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” นายนรเศรษฐกล่าว
นอกจากนี้โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ทั้ง 2 โครงการ ยังจะเป็นแหล่งสำรองน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค รองรับการใช้น้ำในจังหวัดชุมพรที่มีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมไปถึงเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้ง อีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ สามารถป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง ลดความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สินทางการเกษตร เศรษฐกิจและสังคมคิดเป็นมูลค่ามหาศาลยกฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในเขตพื้นที่ อ.เมืองชุมพร ส่งผลให้ประชาชนดำรงชีวิตด้วยความสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
กรมชลประทานจะได้ดำเนินการต่อยอดปรับปรุง โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรลุ่มน้ำท่าตะเภา และเร่งรัดดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุกภัยเมืองชุมพร ลุ่มน้ำคลองชุมพร ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรสมบูรณ์ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน