จับตาการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคอีสานตอนบน

     ลุ่มน้ำสงคราม สาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ประมาณ 12,700 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7.94 ล้านไร่ ครอบคลุม 28 อำเภอ ของ 5 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม  โดยมีแม่น้ำสงคราม เป็นลำน้ำหลักของลุ่มน้ำ มีความยาวประมาณ 465 กิโลเมตร ไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ประกอบด้วยลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ น้ำอูน น้ำยาม ห้วยโนด ห้วยชาง ห้วยสามยอด ห้วยคอง ห้วยฮี้ และน้ำเมา ซึ่งลำน้ำสาขาเหล่านี้จะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสงครามตามจุดต่าง ๆ ทำให้ลำน้ำใหญ่ขึ้น แต่ค่อนข้างคดเคี้ยว มีตลิ่งสูงชัน  

            ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำสงคราม ด้านทิศใต้มีพื้นที่เป็นภูเขาสูงและเป็นแหล่งต้นน้ำ  ทิศตะวันตกอยู่ติดกับลุ่มน้ำห้วยหลวง  ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดกับพื้นที่ของลุ่มน้ำสาขาเล็ก ๆ ของแม่น้ำโขง  พื้นที่ราบจะอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสงครามและแม่น้ำสาขา  ส่วนลักษณะภูมิอากาศ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ   นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค ทำให้ฝนตกชุกมีปริมาณฝนตกทั้งปีเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

            อย่างไรก็ตามด้วยพื้นที่ตามแนวสองฝั่งแม่น้ำสงครามและลำน้ำสาขาเป็นที่ราบมีการทำการเกษตรกว้างขวาง และเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรในพื้นที่  พอถึงฤดูน้ำหลากหรือช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำสงคราม สองฝั่งของแม่น้ำสงครามจะถูกน้ำท่วมทุกปี  ในขณะที่ลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยให้สามารถสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำได้ ประชาชนจึงต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำสงครามเพียงอย่างเดียว หากระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำสงครามมวลน้ำจากแม่น้ำสงครามจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว เหลือน้ำในลำน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งการเกษตร อุปโภคบริโภค และด้านอื่น ๆ  ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินราษฎรในพื้นที่เรื่อยมา

            การแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำสงครามนั้น  เมื่อปี 2533กรมชลประทานได้ทำการศึกษาวางโครงการเบื้องต้น  โดยมีแนวความคิดที่จะใช้พื้นที่น้ำท่วมเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ใช้ในฤดูแล้ง  และสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำเพื่อบรรเทาน้ำท่วม  และสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากแม่น้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าออกลงสู่แม่น้ำโขง  แต่ขาดงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างจึงไม่ได้ดำเนินงานตามแนวทางการศึกษาดังกล่าว

            ต่อมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาการแก้ปัญหาของลุ่มน้ำสงคราม  ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม พร้อมทั้งได้ศึกษาความเหมาะสมในการสร้างประตูระบายน้ำกลางแม่น้ำสงคราม  ในส่วนของกรมชลประทานนั้นได้ดำเนินการศึกษาวางโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม

             นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า  การศึกษาวางโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำดังกล่าว  เพื่อให้ประตูระบายน้ำทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำเข้า-ออกสู่แม่น้ำโขง บรรเทาภัยน้ำท่วม พร้อมเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ในลำน้ำสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20ปี(พ.ศ.2561-2580)  ในด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และด้านที่  3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย  โดยได้ศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2555

            ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินโครงการปตร.บ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี  และมีการขยายกรอบระยะเวลาดำเนินการออกไป 3 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

         โครงการปตร.บ้านก่อ สร้างปิดกั้นลำน้ำยามซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำสงคราม ตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำสงคราม 52 กิโลเมตร มีหัวงานตั้งอยู่ที่บ้านก่อ ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นประตูระบายน้ำแบบบานระบายตรง  ขนาดช่องกว้าง 8 เมตร สูง 8.3 เมตร จำนวน 4 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที สามารถกักเก็บน้ำได้ 3 ล้านลบ.ม. และพนังกั้นน้ำความยาว 2.4 กม. ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

            “ในช่่วงฤดูฝนที่ผ่านมาได้ทำการเปิดใช้งาน ปตร.บ้านก่อ  โดยใช้เป็นเคร่ื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับโครงการชลประทานสกลนคร  สามารถช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำได้เร็ว บรรเทาปัญหาอุทกภัยให้อำเภอวานรนิวาส และอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ได้เป็นอย่างดี และในฤดูแล้งนี้ได้ทำการเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในการอุปโภค บริโภค ให้ราษฎรทั้ง 2 อำเภอดังกล่าวมากกว่า 1,000 ครัวเรือน  รวมทั้งยังได้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์อีกด้วย” นายสุนทร กล่าว

            อย่างไรก็ตามขณะนี้ โครงการปตร.บ้านก่อ ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ ยังเหลือระบบส่งน้ำและอาคารประกอบทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง   โดยในฝั่งซ้ายระบบส่งน้ำมีความยาว 30 กิโลเมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ครอบคลุมพื้นที่บ้านหนองวัวแดง ตำบลป่าอำนวย อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และฝั่งขวา ระบบส่่งน้ำยาว 30 กิโลเมตร  มีพื้นที่ได้รับประโยชน์  5,000 ไร่เช่นกัน ครอบคลุมพื้นที่บ้านก่อ ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาศ จังหวัดสกลนคร คาดว่าระบบส่งน้ำและอาคารประกอบจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2570

            เมื่อโครงการปตร.บ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จสมบูรณ์ นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรจำนวน 1,067 ครัวเรือน เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 10,000 ไร่ บรรเทาอุทกภัยให้ 2 อำเภอในจังหวัดสกลนครแล้ว  ราษฎรในพื้นที่ยังจะมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำปศุสัตว์ การทำประมงพื้นบ้าน หรือการปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น มันฝรั่ง อ้อย  และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สนับสนุนเปลี่ยนแปลงพื้นที่ราบน้ำท่วมในสองอำเภอให้กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของ จ.สกลนคร อีกแห่งหนึ่งอีกด้วย

            โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม   ไม่ได้หยุดแค่การก่อสร้างปตร.บ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำเท่านั้น หน่วยงานด้านน้ำยังบูรณาการเดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำสงครามต่อไป  ซึ่งขณะนี้สทนช.ได้ทำการศึกษาโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)กลางแม่น้ำสงคราม  โดยมีกรมชลประทานดำเนินการลงพื้นที่ศึกษา ออกแบบรายละเอียด  เมื่อแล้วเสร็จจะได้เสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบดำเนินโครงการต่อไป

            ปตร.กลางแม่น้ำสงคราม จะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ที่สามารถกักเก็บน้ำในลำน้ำได้ถึง 74 ล้านลูกบาศก์เมตร  ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรมากถึง 400,000ไร่  ซึ่งจะทำให้ลุ่มแม่น้ำสงคราม เป็นชุมชนแห่งการอยู่กับน้ำหลากได้ ด้วยการเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และเก็บกักน้ำไว้ในแม่น้ำสงคราม โดยยกระดับและผันน้ำจากหน้าประตูระบายน้ำเข้าไปเติมในแก้มลิงธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำที่อยู่ริมสองฝั่งลำน้ำให้มีน้ำตลอดปี  ขณะเดียวกัน ยังสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้งเข้ามาใช้ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างได้ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำหลาก ได้แล้ว เท่ากับเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในบริเวณพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

            เมื่อโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงครามแล้วเสร็จสมบูรณ์  จะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม กลายเป็น”อู่ข้าวอู่น้ำ”แห่งภาคอีสานตอนบนอย่างแน่นอน