ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ ผ่านมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ
ผ่านมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ตามนโยบายรัฐบาล
โดยได้มอบหมายให้พนักงาน
ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ ในการเข้าไปชี้แจงเงื่อนไขมาตรการ
รวมถึงการตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและยุ้งฉาง
เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรในการเข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี
วงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000
บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท
กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรไม่ต้องชำระดอกเบี้ย
โดยรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทน เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตข้าวเปลือกล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ
รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีเงินหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว
ตั้งเป้ารองรับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน
โดยมีประเภทข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23
จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย
เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต
23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานีและข้าวเปลือกเหนียว และ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้อีก
1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเองได้รับ 1,500 บาทต่อตัน
กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ
จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญา ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28
กุมภาพันธ์ 2568 กรณีภาคใต้จัดทำสัญญาได้จนถึง 31 กรกฎาคม 2568 สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการ
พักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้อีกด้วย
และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด สำหรับรับซื้อและรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป รวมถึงการนำผลผลิตไปแปรรูปจำหน่าย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวงเงินแบ่งตามประเภทผู้กู้และศักยภาพการทำธุรกิจ ดังนี้ สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร วงเงินแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร วงเงินแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชน วงเงินแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลและ ธ.ก.ส. รับหน้าที่ชำระแทนสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2568 สำหรับผู้ที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือ Call Center 02 555 0555