ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำสู่ความยั่งยืนของชุมชนลุ่มน้ำเลย

      ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ  มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำอมาจากอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน จากนั้นจะไหลลงสู่พื้นที่ต่ำตอนกลางผ่านที่ราบเชิงเขาในเขต อำเภอวังสะพุง และที่ราบในเขต อำเภอเมือง ก่อนจะไหลคดเคี้ยวตามสภาพธรรมชาติของลำน้ำลงสู่แม่น้ำโขงที่ อำเภอเชียงคาน รวมความยาว 230 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,560 ตารางกิโลเมตร และมีปริมาณน้ำท่ามากถึง 1,130 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

            ในช่วงฤดูฝนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ปีใดที่เกิดฝนตกหนักทางพื้นที่ต้นน้ำ ระดับน้ำแม่น้ำเลยจะยกตัวสูงขึ้น และหากในช่วงเวลาดังกล่าวมีน้ำโขงหนุน ก็จะทำให้น้ำในแม่น้ำเลยไม่สามารถระบายลงน้ำโขงได้  ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขต อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง และ อำเภอเชียงคาน   ส่วนในฤดูแล้ง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดชันและมีแหล่งเก็บกักน้ำน้อย ที่สำคัญท้องแม่น้ำมีลักษณะเป็นทราย ไม่อุ้มน้ำ  จึงเป็นสาเหตุทำให้น้ำในแม่น้ำเลยเหือดแห้งอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเกือบทุกปี

            พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบตร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 ทรงห่วงใยในปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำเลยอย่างมาก   โดย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2520  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประ ทานเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และได้มีพระราชดำรัสในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำเลยความตอนหนึ่งว่า

            “…ควรพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำ ตามความเหมาะสมในลําน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ในเขตอําเภอเชียงคาน โดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบน มาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตอนล่างเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี…”

            กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสดังกล่าว มาได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในหลายขนาดและประเภท ในลุ่มน้ำเลยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กรวม 59 แห่ง ฝายทดน้ำและอาคารบังคับน้ำในลำน้ำเลยและลำน้ำสาขารวม 65 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 86 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น เพียงแค่ 8เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำท่าลุ่มน้ำเลยเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำเลยจึงยังไม่สัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนล่างในเขต อำเภอเชียงคานทำให้ ราษฎรยังประสบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งอยู่

“เพื่อแก้ปัญหาของลุ่มน้ำเลยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณลุ่มน้ำเลยตอนล่าง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ระยะเวลาดำเนินการปี 2560-2567 และขอขยายระยะเวลาถึงปี 2570”  นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน กล่าวชี้แจง

ครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ ที่ช่วยบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำหลากและน้ำแล้ง ประกอบด้วยงาน4 งานหลักสำคัญดังต่อไปนี้

            1.ปตร.ศรีสองรักเป็นประตูระบายน้ำหลัก สร้างปิดกั้นคลองลัดตัดใหม่รของแม่น้ำเลย เชื่อมต่อลงแม่น้ำโขง บานประตูเป็นประเภทบานตรง กว้าง 15.00 เมตร สูง 13.20 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที   ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์  ล่าช้ากว่าแผนซึ่งเนื่องจากติดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิท ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568   2.ปตร.ลำน้ำเลยเป็นประตูระบายน้ำสร้างปิดกั้นแม่น้ำเลย เป็นประตูระบายน้ำแบบบานตรง กว้าง 10.00 เมตร สูง 12.50 เมตร จำนวน 2 ช่อง สามาระระบาย 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที    พร้อมก่อสร้างประตูเรือสัญจรแบบ NAVIGATION LOCK กว้าง 10 เมตร ยาว 77 เมตร   เพื่อรักษาระบบนิเวศและเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว   3.พนังกั้นน้ำฝั่งซ้ายขวาในจุดลุ่มต่ำ ความยาวรวม 37 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 10 กิโลเมตร   และ 4. สถานีสูบน้ำฝั่งซ้าย  2 แห่ง ฝั่งขวา 2 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำความยาวรวม 99 กม. ปัจจุบันสถานีสูบน้ำฝั่งขวา พร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ 1 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างการออกแบบและเตรียมความพร้อมสำรวจแนวท่อส่งน้ำเพื่อพื้นที่การเกษตร และจะดำเนินการก่อสร้างในปีถัดไป

             เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถเปิดพื้นที่ชลประทานได้ทั้งสองฝั่งลำน้ำเลยตอนล่างทั้งในช่วงฤดูฝน 72,500 ไร่ ฤดูแล้ง 18,100 ไร่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสำรับราษฎรรวม 44 หมู่บ้านในตำบลเชียงคาน  ตำบลนาซ่าว ตำบลเขาแก้ว  ตำบลปากตม  ตำบลธาตุ  ตำบลจอมศรี และตำบลหาดทรายขาว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

            อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะยังอยู่ระว่างการก่อสร้าง แต่ในช่วงฤดูฝนปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดจากแม่น้ำโขงหนุนสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม

            ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5  กล่าวว่า  จากสาเหตุที่ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาน้ำในลำน้ำโขงสูงกว่าปกติ ซึ่งปกติอัตราการไหลของลำน้ำโขงตอนบนในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีจะอยู่ที่ประมาณ 11,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  แต่ในปีนี้เพิ่มสูงเป็น 23,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้ระดับน้ำโขงบริเวณ อำเภอชียงคาน สูงกว่าระดับน้ำในลำน้ำเลยเป็นเวลานานถึง 1 สัปดาห์ ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ได้ทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้หนุนข้ามาสมทบกับน้ำฝนในพื้นที่ สามารถลดปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเลยตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อระดับน้ำโขงลดลง ก็ได้ทำการเปิดบานประตูเพื่อระบายน้ำในแม่น้ำเลยให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง

            ในช่วงปลายฤดู กรมชลประทานยังได้ดำเนินการเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำจนเต็มศักยภาพ จำนวน 6 ล้านลูกบาศก์เมตรตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรทางฝั่งขวาของแม่น้ำเลยได้ประมาณ 1,500 ไร่ ในฤดูแล้งปีนี้

            นอกจากนี้กรมชลประทานยังจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ เป็นต้น นำผลงานการวิจัยเรื่องความเหมาะสมระหว่างพืชที่ปลูกกับสภาพแวดล้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน ลดการสูญเสีย อีกทั้งยังได้ผลผลิตคุณภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการทำเกษตรกรรมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำประมง ปศุสัตว์ เพาะปลูกพืชสวน พืชไร่ ตลอดจนอาชีพอื่นๆ

            โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   ไม่เพียงแต่จะสามารถจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปีสมตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่9เท่านั้น แต่ยังมีส่วนสนับสนุนยุทธศาสตร์จังหวัดเลยในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย  โดยได้มีการออกแบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญญาลักษณ์ประจำจังหวัดเลย ด้วยการนำหัวผีตาโขนมาประดับตกแต่งไว้ที่ต่อม่อประตุระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   พร้อมประดับไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยและความงดงามแห่งทัศนียภาพในยามราตรี โดยได้มีการก่อสร้างหอชมทัศนียภาพขนาดความสูง 28 เมตร รวม 6แห่ง 

            ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ นอกจากจะนับเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดเลยที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมทัศนียภาพลำน้ำและแม่น้ำโขงแล้ว  ยังเป็นการสนับสนุนให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง มีร้านอาหาร และมีกิจกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกและความรื่นรมย์ให้กับผู้มาเยือน อันจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเลยให้เจริญเติบโตได้อย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนตลอดไป