กรมชลจัดประชาพิจารณ์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพระยาธาร ขณะที่ เครือข่าย ทสม.ปราจีนบุรี บอยคอท ไม่เข้าร่วม
ปราจีนบรี – 7 พฤศจิกายน 2567อ กรมชลประทานได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา จัดเวทีประชุมการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำลำพระยาธาร จังหวัดปราจีนบุรี ณ ห้องเวโรน่า โรงแรมเวโรน่า บูทีค โฮเทล อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมในครั้งนี้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เนื่องจากไม่ไว้วางใจกระบวนการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา หลายเวทีบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น กรณีชาวบ้านคลองมะเดื่อ จ.นครนายก 1 ใน 10 โครงการสร้างเขื่อนรอบผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่มีชาวบ้านมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ยกมือคัดค้านโครงการ เพราะกระทบต่อวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่ามาเกือบ 100 ปี ทั้งยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและเป็นแนวกันชนช้างป่า แต่ผลการศึกษากลับระบุว่าชาวบ้านยกมือเห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และชาวบ้านในลุ่มน้ำลำพระธาร จังหวัดปราจีนบุรี ได้เดินทางมายื่นหนังสื่อ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว และไม่ขอเข้าร่วมการประชุมรับฟังความเห็นตามที่ได้มีหนังสือเชิญ จนกว่าจะดำเนินการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้แล้วเสร็จ ตามความเห็นคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการฯ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ โดยนายสุรชาติ กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนใด ๆ เช่น เขื่อนห้วยโสมง ที่ยังมีปัญหาอยู่ ตนรับที่จะนำกลับไปติดตามและเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานได้ใช้น้ำ
นายสุนทร คมคาย ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ที่มาวันนี้เนื่องจากมีหนังสือเชิญให้เข้าร่วมเวทีวันนี้ แต่ตนไม่เห็นด้วยจึงมายื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ของทางกรมชลประทาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในปี 2565 มีมติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ทางคณะกรรมการมรดกโลก ได้มีมติให้ระงับหรือยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่มรดกโลก จนกว่าจะมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้แล้วเสร็จ
“โครงการศึกษาแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำลำพระยาธาร เป็นเพียง1 ใน 10 โครงการพัฒนาของภาครัฐ ที่จะทำลายผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่รวมกว่า 20,000 ไร่ นี่เป็นโครงการพัฒนาของภาครัฐที่จะทำให้ผืนป่าที่เหลืออยู่ลดลงไปอีก ขณะที่นโยบายซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ของกรมป่าไม้ต้องการป่าถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งภาครัฐยังทำไม่ได้ ก็ไม่ควรทำลายเพิ่ม โดยเฉพาะป่าเขาใหญ่ ที่เป็นมรดกโลก และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะช้างป่า เขื่อนนฤบดินทรจินดา (เขื่อนห้วยโสมง) เป็นกรณีศึกษาที่ไม่ควรซ้ำรอยเดิม หลังการสร้างเขื่อน ปัญหาช้างรุกเข้าสู่พื้นที่ของชุมชนมีมากขึ้น ภาครัฐควรทบทวนหาทางเลือกในการจัดการน้ำที่ยั่งยืนและไม่สร้างผลกระทบทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายสุนทร กล่าว
ด้านนายสัญญา เล่ห์สิงห์ ตัวแทนสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรีจำกัด กล่าวว่า ตนเองทำเกษตรอินทรีย์อยู่ในพื้นที่ ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงปี 2533 ที่เข้ามาทำเขื่อนห้วยโสมง มีการส่งคนมาบอกว่า ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างทั่วถึง ตนก็ดีใจจะได้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการทำเกษตร แต่ตั้งแต่เขื่อนเปิด ปี2560 จนปัจจุบันผ่านมา 7 ปีแล้ว คลองส่งน้ำที่ผ่านมายังพื้นที่ของตนก็ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงาน แล้วชลประทานจะประมูลใหม่ ปีนี้ หรือปีหน้าไม่รู้ น้ำยังไม่เคยปล่อยออกมาเพราะว่าระบบท่อมันยังไม่เสร็จ
นายอำนวย โพธิ์แก้ว ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม) อำเภอ นาดี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า คำว่า ”เขื่อน” ฟังดูใหญ่ การสร้างเขื่อนจะกระทบต่อสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อยากให้เป็นแค่อ่างเก็บน้ำโดยสร้างในพื้นที่ที่ไม่บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า เช่นที่ดินที่ชาวบ้าน หรือนายทุนเข้ามาจับจองอยู่แล้ว และที่สำคัญคืออย่าเสียงบประมาณในการเวนคืน ถ้ามีบ้านบ้างอะไรบ้าง ก็ให้ค่ารื้อถอนเขา แต่ถ้าเป็นคนยากคนจนจริงๆ ก็สมควรให้เขาหรือไปจัดสรรที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่ต้องข้ามจังหวัด ที่ผ่านมาพอบอกว่าจะสร้างเขื่อนใหญ่ๆที่ไหนก็จะมีบ้านพัก รีสอร์ท หรือต้นไม้ โผล่ขึ้นมาแล้วคุณก็ต้องไปเวนคืน ปลูกต้นไม้ยังไม่พออาทิตย์แล้วก็ถ่ายรูปเพื่อรับเงินชดเชย ก็ไม่อยากให้มีที่นี่
นายอำนวย กล่าวว่า อยากให้ที่นี่เป็นตัวอย่าง ในการสร้างทางเลือกในการจัดการน้ำ ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำก็ควรใช้งบประมาณอย่างประหยัด คุ้มค่าที่สุด ให้เป็นตามที่ในหลวงพระราชดำริไว้ คือเป็นเบ้าขนมครก ตรงไหนที่สมควรบริหารน้ำมาได้ก็ควรเอาน้ำมาเก็บไว้ แล้วก็ต่อสาขาลงมาให้รวมกันเพื่อให้กระจายน้ำได้ สำคัญที่สุดการสร้างอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร อยากให้มีการตั้งงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำเอาไว้พร้อมกับการสร้างอ่างเก็บน้ำที่กำลังจะทำ ซึ่งในการบริหารจัดการน้ำ ใช้แนวเขตอุทยานขุดเป็นคลองส่งน้ำ ได้ถนนด้วย ได้ท่องเที่ยวด้วย เอาไว้ขนส่งสินค้าทางการเกษตรด้วย แล้วจะได้น้ำที่มาจากคลอง จากที่ทำเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไหลลงมา คลองซอยไหลลงมาตามถนนหมู่บ้านทุกหมู่ จากนั้นชาวบ้านก็ต่อลงไป เก็บไว้ใช้ยามฤดูแล้งได้ นี่คือการบริหารจัดการน้ำแบบนี้ผมคิดว่ามันคุ้มค่า แล้วก็ให้ตำบลบุพราหมณ์เป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ หรือแบบปลอดสาร เพราะพื้นที่เป็นภูเขารอบๆ ถ้าให้ชาวบ้านทำแบบนี้ได้ ส่งเสริมให้เขาอย่างจริงจัง
“แต่ถ้ามาทำแค่อ่างเก็บน้ำแล้วก็ปล่อยลงลำพระยาธารไปมันก็เหมือนกับห้วยโสมง ซึ่งเปรียบเทียบกับปัจจุบันนี้ที่เราเห็นคนห้วยโสมงไม่ได้ใช้น้ำ คนกบินทร์บุรีถึงจะได้ใช้ มันคุ้มกันมั้ยกับเจ้าของพื้นที่ หน้าแล้งก็เหมือนเดิม ใช้อะไรไม่ได้ จะทำท่องเที่ยวก็ทำไม่ได้ จะหาปูหาปลาก็มีเขต แต่ตรงที่จัดให้แต่ปลาไม่มี สัตว์พวกนี้จะไปอยู่ชายฝั่งใกล้ๆเขตอุทยาน ซึ่งเข้าไปไม่ได้ อยากให้ใช้ประสบการณ์จากห้วยโสมงที่อยู่ใกล้กันลองมาประเมินใช้ดู แต่ที่สำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการน้ำให้ชัดก่อน คิดควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างอ่าง อันนี้ชาวบ้านถึงจะได้ใช้ประโยชน์ ถ้าไม่ทำ น้ำก็จะมีแค่ฤดูฝนอย่างเดียว ฤดูฝนชาวบ้านไม่ต้องการเพราะมีน้ำฝน เราต้องการฤดูแล้ง เพื่อเพาะปลูก เพื่อกระจายไปในชุมชนได้ใช้ ประโยชน์ แต่ยืนยันว่าหากจะสร้างในเขตพื้นที่ป่า ผมก็ไม่เอาด้วยอย่างแน่นอน” นายอำนวย กล่าว