สืบสานพระราชปณิธาน..อุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง แก้ปัญหาน้ำจังหวัดเชียงใหม่ใกล้ความจริง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change ในปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว ดินถล่ม   ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน แม้จะไม่รุนแรงเหมือนในต่างประเทศ  แต่ก็สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นมูลไม่น้อย

การเติบโตทางการเศรษฐกิจ  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง  จำเป็นจะต้องวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะสายเกินแก้  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำ  ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  และสร้างความมั่นคงให้ประชาชน

 จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคเหนือ เป็นอีกพื้นหนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ การเติบการเติบโตทางเศรษฐกิจ  และการขยายตัวของชุมชน ทำใหมีความตองการใชน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง และมากกว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำขื่อนแม่กวงอุดมธารา   จนเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง   ในขณะเดียวกันลุ่มน้ำตอนบนของจังหวัดเชียงใหม่ คือ ลุ่มน้ำแม่แตง และลุ่มน้ำแม่งัด  กลับมีปริมาณน้ำเกินความต้องการ  และมีปริมาณน้ำท่่าค่อนข้างมาก   โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจนเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ

 กรมชลประทาน หน่วยงานหลักด้านน้ำของประเทศ  ต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) และพระราชดำริโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในการบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากไปยังพื้นที่ขาดแคลนน้ำมาต่อยอดขยายผลดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งเป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระราชบิดา

 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา  หรือที่นิยมเรียกกันว่า  โครงการอุโมงค์ผันน้ำ
แม่งัดแม่กวง มีลักษณะการดำเนินโครงการเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ เพื่อทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีปริมาณน้ำมาก มายังอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย ก่อนที่จะทำการกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน สามารถสร้างประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเขาวง ได้มากกว่า 12,000 ไร่

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารานั้น กรมชลประทานใช้แนวทางการบริหารจัดการน้ำเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ซึ่งเป็น การพัฒนาลุ่มน้ำปิงตอนบน เพื่อให้การบริหารจัดน้ำในลุ่มน้ำสาขาสำคัญๆ 3 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำแม่กวง ลุ่มน้ำแม่งัด และลุ่มน้ำแม่แตง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 ลุ่มน้ำแม่กวง กรมชลประทานได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เพื่อประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภค และการเกษตร ในเขตพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ประมาณ 175,000 ไร่ แต่ด้วยลุ่มน้ำแม่กวง มีความต้องการน้ำสูงขึ้นทั้งจากภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว จนเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำประมาณ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม) /ปี และจะเพิ่มเป็น 173 ล้านลบ.ม./ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องจัดหาน้ำเพิ่มให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างฯ ในแต่ละปียังมีน้อยกว่าปริมาณความจุอีกด้วย เฉลี่ยปีละ 202 ล้านลบ.ม.เท่านั้น อย่างเช่นนี้ในปีนี้ แม้จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน แต่ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง ก็ยังไม่เต็มความจุ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567 มีปริมาณน้ำ 210 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 80% ของความจุในระดับกักเก็บคือ 263 ล้านลบ.ม.  

ลุ่มน้ำแม่งัด ได้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528  มีความจุในระดับกักเก็บ 265 ล้าน ลบ.ม. เพื่อประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร และการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรรวมทั้งหมด 207,289 ไร่ แต่ปริมาณน้ำที่มีอยู่เกินความต้องการ ประกอบกับปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างฯ ในแต่ละปีมีจำนวนเกินความจุของอ่างฯ เฉลี่ยประมาณปีละ 332 ล้านลบ.ม. อย่างเช่นในฤดูปีนี้ มีปริมาณน้ำสูงสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 มีปริมาณน้ำถึง 298.78 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 112.74 % เกินความจุในระดับกักเก็บ

ส่วนลุ่มน้ำแม่แตง ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ มีเพียงประตูระบายน้ำแม่ตะมาน และฝายแม่แตง แต่มีปริมาณน้ำมาก กว่าลุ่มน้ำอื่นๆ เฉลี่ยประมาณปีละถึง 622ล้าน ลบ.ม.

การดำนินโครงการเพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้มีการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง – แม่งัด – แม่กวง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเสถียรภาพของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ให้สามารถตอบสนองความตองการใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค และอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลําพูน ได้อย่างทั่วถึง

 นอกจากนี้ยังช่วยลดป้ญหาน้ำท่วมในเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศท้ายน้ำอีกด้วย

โดยประกอบด้วยงานสำคัญๆคือ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและ อ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อผันน้ำส่วนเกินตามแรงโน้มถ่วง (Gravity) จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝนซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ย 47 ล้าน ลบ.ม. ต่อปีมาเก็บไว้ที่ อ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และงานก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นลํานํ้าแม่แตงที่บ้านแม่ตะมาน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พร้อมก่อ สร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากลําน้ำแม่แตงมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อที่จะผันนํ้าส่วนที่เกินความต้องการใช้นํ้าในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จากลำน้ำแม่แตงมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเฉลี่ยประมาณปีละ 113 ล้าน ลบ.ม. โดยผันน้ำตามแรงโน้มถ่วงเช่นเดียวกัน

 เมื่อดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ จะสามารถผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ 160 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

นอกจากนี้กรมชลประทานยังจะดำเนินการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กลับไปยังระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงในฤดูแล้งประมาณ 25 ล้านลบ.ม. ต่อปี สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้ 14,550 ไร่ ตลอดจนช่วยสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม  ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13.31 ล้าน ลบ.ม. เป็น 49.99 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้ง 3 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิงดังกล่าว ได้รับประโยชน์จากโครงการโดยตรง มีความมั่นคงในเรื่องน้ำ เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคตลอดปี รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในลุ่มน้ำแม่แตง และพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากกว่า 80% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2572 ที่จะถึงนี้ …รออีกไม่นาน อุโมงค์ผันน้ำที่ใหญ่่ที่สุดของประเทศไทยก็จะแล้วเสร็จสมบูรณ์  ปัญหาเรื่องน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ก็จะคลี่คลายลงอย่างแน่นอน