กปร. นำสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ และอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด จ.ระยอง

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ประจำปี 2567
ชมกิจกรรม โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยนางสาวสลารีวรรณ ทัพทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวต้อนรับ นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ และภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์สาขาและการขยายผลศูนย์เรียนรู้ ผู้อำนวยการโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ กล่าวถึงการดำเนินงานและการขยายผลของโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ซึ่งเกิดผลสัมฤทธิ์ในหลายมิติตลอดจนการขยายองค์ความรู้ไปสู่ประชาชนและเกษตรกรในชุมชนโดยรอบ พร้อมชมวีดิทัศน์ความสำเร็จของโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ โอกาสนี้ เลขาธิการ กปร. ได้มอบโล่ให้แก่ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริที่ได้รับการขยายผลจากโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 9 แห่ง จากศูนย์เรียนรู้ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งหมด 221 แห่ง ทั่วประเทศ


จากนั้นคณะสื่อมวลชนได้ชมกิจกรรมภายในโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ พร้อมรับฟังบรรยายระหว่างเส้นทาง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำดอกกราย บริเวณสันอ่างตามรอยครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังอ่างเก็บน้ำดอกกราย
และพระราชทานพระราชดำริช่วยเหลือราษฎร ต่อมาเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านประมง ประกอบด้วยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด อาทิ การอนุรักษ์พันธุ์ปลาไทย การเพาะขยายพันธุ์ปลาพระราชทาน การเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ โดยมีเกษตรกรประมงของชุมชนประมงอ่างเก็บน้ำดอกกรายที่ได้รับพันธุ์ปลาจากโครงการร่วมให้ข้อมูล ชมงานศึกษาและทดสอบพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ฟอกอากาศ อาทิ สับปะรดสีประดับ หน้าวัวประดับ ลิ้นมังกร บอนสี ไม้ประดับกระถาง ไม้แขวนชนิดต่าง ๆ พร้อมชมการสาธิตเพาะขยายพันธุ์ไม้กระถาง และการบังคับการออกดอกพร้อมกันเพื่อการจำหน่าย ชมกิจกรรมงานวิชาการ

อาทิการผลิตหัวเชื้อและก้อนเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี การใช้สารชีวพันธุ์จากเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการควบคุมโรคพืช (โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน) ซึ่งค้นพบครั้งแรกจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดขอนแก่น พร้อมพระราชทานชื่อ เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี


ต่อมา คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังแปลงเกษตรบ้านนายบุญธรรม คชรินทร์ ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงชมความสำเร็จในกิจกรรมสวนผักและสวนผลไม้แบบผสมผสาน ซึ่งได้มีการจัดสรรพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ปลูกทุกอย่างที่รับประทานได้และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยยึดหลัก “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่าง
ที่ปลูก ทำกินให้พอ เหลือค่อยแจกจ่าย และขาย” โดยในพื้นที่มีการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ประมง ปศุสัตว์ พืชผักสวนครัว ไม้ผลฯ เกิดผลสัมฤทธิ์มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 – 300,000 บาทต่อปี
สำหรับโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มายังศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง พบว่าพื้นที่เดิมของจังหวัดระยอง-ชลบุรี เป็นสภาพป่าที่ถูกทำลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร และประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า “บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ สามารถส่งน้ำมายังพื้นที่ดังกล่าวได้ และทรงแนะนำให้จัดเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ราษฎร” พร้อมพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ 4 ประการ คือ 1) ให้พัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะด้าน
ปศุสัตว์และการประมงเพื่อการบริโภคและสำรองอาหารไว้ในยามวิกฤติ 2) ให้มีศูนย์ฝึกปฏิบัติการด้านการประกอบอาชีพ โดยมีแปลงสาธิตของราษฎรตัวอย่าง โดยปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป 3) ให้จัดเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยให้ราษฎรยืมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีไปผสม หรือเลี้ยงแล้วส่งลูกคืน และ 4) ให้มีศูนย์พัฒนาการเกษตร ประชาชนจะได้ศึกษาและเยี่ยมชมเพื่อนำไปเป็นแบบอย่างการดำเนินงาน
ปัจจุบันโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ได้ดำเนินงานถ่ายองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรมที่ทันสมัยกว่า 8 หลักสูตรที่ปรับเปลี่ยนหมุนเวียน รองรับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาได้ถึง 25,000 รายต่อปี
จากนั้น สื่อมวลชนได้เดินทางไปยัง อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยมีนายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด กับสำนักงาน กปร. โดยศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในการดำเนินการวิจัยการใช้ประโยชน์จากการนำความเย็นที่เหลือทิ้งจากสถานีรับ – จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพ
ในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาวและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ปลูกและเกษตรกรในประเทศไทย พร้อมชมวีดิทัศน์กระบวนการผลิตไม้ดอกเมืองหนาวโดยการใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว LNG มาใช้ประโยชน์ในการวิจัยพืชเมืองหนาวและพืชเมืองร้อน ของศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ โดยได้ชมแปลงปลูกไม้ดอกและพืชเมืองหนาว ตลอดถึงพืชอื่น ๆ อาทิ ดอกทิวลิป ไฮเดรนเยีย และต้นวาซาบิ
สำหรับโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ที่สำนักงาน กปร. จัดขึ้นในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาส
ให้สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้ถ่ายทอดเรื่องราว พระมหากรุณาธิคุณ และพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์
สำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานกลางในการดำเนินงานสนองพระราชดำริ และเผยแพร่ผลสำเร็จจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงจัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชน ตลอดจนกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ได้รับรู้รับทราบและมีความเข้าใจโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากยิ่งขึ้น