เผยบางระกำโมเดลบรรเทาภัยน้ำหลาก-น้ำแล้งยั่งยืน กรมชลฯยืนยันนาข้าวลุ่มน้ำยมกว่า 2.6 แสนไร่รอดอุทกภัย
กรมชลประทานเผยผลผลิตนาข้าวลุ่มน้ำยม 2.65 แสนไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอเมืองพิษณุโลกและสุโขทัย ในโครงการบางระกำโมเดลเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ไม่ได้รับผลกระทบในฤดูน้ำหลาก พร้อมเดินหน้าเตรียมพื้นที่ 11 ทุ่งหน่วงน้ำเหนือไม่ให้ไหลบ่าลงพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรภาคกลางเ
นายกุลธร รัตนเสรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ทำนาข้าวในพื้นที่บางระกำโมเดลจำนวน 265,000 ไร่ ในอำเภอพรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ อ.วัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ โดยไม่มีผลผลิตแปลงใดได้รับความเสียหายจากภัยอันเกิดจากน้ำแต่อย่างใด ทั้งนี้จากการดำเนินการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวภายใต้โครงการบางระกำโมเดล นับปีนี้เป็นปีที่ 8 นับว่าได้ช่วยแก้ไขปัญหานาข้าวเสียหายจากอุทกภัยหรือจากการขาดแคลนน้ำได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนปฏิทินปลูกข้าว โดยดำเนินการจัดสรรน้ำปริมาณ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จัดสรรส่งไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน พื้นที่ชลประทาน 205,000 ไร่ โครงการเขื่อนนเรศวร พื้นที่ชลประทาน 40,000 ไร่ และ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล พื้นที่ชลประทาน 20.000 ไร่ ในเขต จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย รวมพื้นที่ทั้งหมด 2.65 แสนไร่ ตามที่เรียนข้างต้น โดยเริ่มทยอยส่งน้ำเข้าทุ่ง ฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกวันที่ 1 เมษายน 2567 เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2567
“หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ กรมชลประทานจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากจากลุ่มน้ำยม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในเขต จ.พิษณุโลก และพื้นที่เศรษฐกิจ จ.สุโขทัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งแล้ว 120,585 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 177.43 ล้านลบ.ม. หรือ 44.36%” นายกุลธรกล่าว
นอกจากนี้กรมชลประทานร่วมกับกรมประมง ยังได้บูรณาการส่งเสริมอาชีพ โดยนำพันธุ์ปลามาปล่อยลงในทุ่ง ให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมในการทำประมง และยังส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากปลา และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรและชุมชน ในช่วงฤดูน้ำหลาก และเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ โดยจะคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง สำหรับให้เกษตรกรใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อไป ช่วยประหยัดน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนสิริกิติ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงกล่าวได้ว่า โครงการบางระกำโมเดล ช่วยลดความเสี่ยงอุทกภัย เกษตรกรมีความมั่นคงทางอาชีพ
ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน กล่าวด้วยว่า สภาพพื้นที่ทุ่งบางระกำเป็นที่ราบเรียบ มีลักษณะเป็นทุ่งรับน้ำโดยตรงมาตั้งแต่อดีต คนในพื้นที่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลักและอาศัยน้ำฝนทำนา ปีไหนน้ำมากก็จะเจอปัญหานาข้าวเสียหายจากน้ำท่วม ปีไหนฝนแล้งนาข้าวก็เสียหาย จนกระทั่งเกิดโครงการบางระกำโมเดล ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูก จากแต่เดิมที่ปลูกวันแม่ในเดือนสิงหาคม และเกี่ยววันพ่อในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก เปลี่ยนเป็นปลูกข้าวเดือนเมษายนโดยได้รับการสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงปลูกจนเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นจากโครงการชลประทาน ทำให้นาข้าวไม่เจอกับปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมอีก ผลผลิตไม่เสียหาย สามารถเก็บเกี่ยวได้ 100 % “ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วยังมีการปล่อยน้ำพร้อมกับภาครัฐได้นำพันธุ์ปลามาปล่อยเข้าทุ่ง ชาวบ้านสามารถจับไปบริโภค หรือบางรายทำเป็นอาชีพประมง ช่วยเสริมรายได้เพิ่มในช่วงพักนา อีกทั้งการรับน้ำเข้าทุ่งยังช่วยกำจัดแมลง หนูนา น้ำที่มาขังในพื้นที่จะช่วยย่อยวัชพืช ตอซังต่าง ๆ ให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเมื่อทำนาครั้งต่อไป เป็นการช่วยลดต้นทุนทำนาให้เกษตรกร ลดปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้ง ปัจจุบันเรื่องน้ำท่วมพื้นที่ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะการปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศและธรรมชาติช่วยให้พวกเราอยู่กับน้ำได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน กล่าวในตอนท้าย