“ไทยวา” เดินหน้าผลักดันเกษตรยั่งยืนด้วย “ไทยวาโมเดล” และ “โมเดล BCG” ผสานนวัตกรรมและองค์ความรู้ ช่วยเกษตรไทยฝ่าภัยวิกฤตโลกร้อน
อุดรธานี 29 สิงหาคม 2567 – การผลักดันการเกษตรยุคใหม่ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิต ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจัย ที่ภัยโลกร้อนส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาน้ำและดินฟ้าอากาศ ที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบต่อมันสำปะหลังพืชเศรษฐกิจมากประโยชน์ที่นำไปผลิตได้ทั้งอาหาร พลังงานชีวภาพ และไบโอพลาสติก สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากปัญหาโลกร้อนทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง มันสำปะหลังขาดน้ำ ประกอบกับการระบาดของไวรัสใบด่างในช่วงที่ผ่านมา จนชาวไร่ขาดแคลนต้นพันธุ์ปลอดโรคสำหรับเพาะปลูก ผลผลิตมันสำปะหลังของไทยจึงลดลงอย่างน่าใจหาย ปัญหานี้สั่นคลอนศักยภาพของไทยในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ของโลกมาตลอด 20 ปี ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกต่อปีถึง 93,000 ล้านบาท
ไทยวา ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งและอาหารชั้นนำ เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ยื่นมือเข้ามาร่วมสนับสนุนการเกษตรยุคใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์หลักคือ Creating Innovation and Sustainability from Farm to Shelf ที่นำนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมชาวไร่ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลัก ตลอดหลายปีที่ผ่านมาไทยวาได้นำนวัตกรรมและองค์ความรู้มาบูรณาการจนเกิดเป็น “ไทยวาโมเดล” ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร และยกระดับการทำเกษตรกรรมตามแนวทางเกษตรยั่งยืน
หทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยวาเข้าใจดีถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านเกษตรกรรมไทยไปสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้เติบโตได้ในระยะยาว เราจึงได้นำเสนอไทยวาโมเดลที่บูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลัก และไม่เพียงเพิ่มผลิตในการเพาะปลูกอาหารเท่านั้น แต่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อพวกเราทุกคน”
ไทยวาโมเดล มุ่งเน้นที่การจัดการดินซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเพาะปลูก ผนวกกับการส่งเสริมการทำเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้โมเดลนี้มีเสาหลักใน 3 ด้าน ได้แก่
· การดูแลดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ เพราะหัวใจของไทยวาโมเดลคือการดูแลดินซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเพาะปลูก ไทยวาจึงคิดค้นปุ๋ยชีวภาพ TW8 ขึ้น เพื่อบำรุงและฟื้นฟูดิน ประกอบด้วยจุลินทรีย์ถึง 8 ชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยอินทรีย์วัตถุให้กลายเป็นสารอาหาร ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศลงสู่ดิน และช่วยสร้างสารอาหารที่จำเป็น เช่น ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม โดยเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพ TW8 ได้เองโดยใช้ของเหลือทิ้งจากการเกษตรได้อย่างหลากหลาย เช่น ใบมันสำปะหลัง จึงทำได้ง่าย ช่วยลดต้นทุน แต่ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืช
· นวัตกรรมพลาสติกคลุมดินที่ย่อยสลายได้ ไทยวาได้แนะนำพลาสติกคลุมดิน ROSECO ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช แต่ยังช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาฝนทิ้งช่วงที่เกษตรกรไทยกำลังประสบอยู่ จึงช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสิ้นฤดูกาลเพาะปลูกยังสามารถไถกลบฟิล์มชีวภาพ ROSECO หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะย่อยสลายและกลายเป็นปุ๋ยในดินที่มีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ แนวทางนี้ไม่เพียงสะดวกสำหรับเกษตรกร แต่ยังช่วยบำรุงดิน และลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีอีกด้วย
· ธนาคารท่อนพันธุุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ไทยวาประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง โดยใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้จากโครงการโรงเรือนกระจกเพื่อการขยายท่อนพันธุุ์มันสำปะหลังแบบเร่งด่วน ซึ่งเป็นโครงการที่ไทยวาร่วมมือกับสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย หรือ TTDI ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เพาะได้ครั้งละ 4-5 ท่อน เป็น 20 ท่อน ปัจจุบันไทยวามีโรงเรือนในประเทศไทยทั้งหมด 12 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง กาฬสินธุ์ และ ตาก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของบริษัท จึงสามารถจัดหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพสูงให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง
ศิริเทพ ศิริวรรณ์หอม เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า “ชาวไร่มันสำปะหลังโดนผลกระทบมากจากภัยโลกร้อนมาก เพราะทำให้ฝนแล้ง แต่หลังจากเราลองทำตามไทยวาโมเดล หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยหมักร่วมกับจุลินทรีย์ TW8 ที่ทำได้เองจึงลดรายจ่ายจากปุ๋ยและลดใช้สารเคมี ผลที่เห็นได้ชัดคือผลผลิตเพิ่มขึ้น 50% จากเดิมเฉลี่ยได้ 4 ตัน เพิ่มเป็น 6 ตันต่อไร่ ทำให้ผมและครอบครัวมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม อยากเชิญชวนชาวไร่คนอื่นๆ มาลองปลูกมันสำปะหลังด้วยโมเดลนี้ เพราะมีข้อดีมากกว่าเดิมจริงๆ”
ไทยวายังยกระดับการพัฒนาด้านความยั่งยืนไปอีกขั้น ด้วยการนำ “โมเดล BCG” ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ไปพร้อมกัน 3 มิติ มาประยุกต์ใช้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ไทยวานำกากมันสำปะหลังมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ Thai Win (ไทยวิน) เพื่อหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่ย่อมเยาให้กับเกษตรกร โดย ประไพ ภูลายยาว เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกระบือสวยงามในอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า “ผมหันมาใช้อาหารสัตว์ของไทยวาที่ผลิตจากกากมันสำปะหลัง เพราะชอบแนวคิดเรื่องการหมุนเวียนนำของเหลือทิ้งกลับมาสร้างคุณค่า นอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ลงถึง 40% จากเดิมอยู่ที่ 350 บาทต่อตัวต่อวัน ลดลงเหลือเพียง 210 บาทต่อตัวต่อวันเท่านั้น เท่ากับเราได้ผลดีถึง 3 ต่อ คือ อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ลดค่าใช้จ่าย และช่วยดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม”
ไทยวาเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) หรือการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. โดยขึ้นทะเบียนเพื่อคำนวณค่าคาร์บอนเครดิตและประเมินความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ซึ่งไทยวาเล็งเห็นว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ภายใต้ความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ไทยวามีโครงการส่งเสริมให้เกษตรในเครือข่ายไร่มันสำปะหลังของไทยวาที่มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 10,000 ไร่ในจังหวัดอุดรธานีและระยอง นำปุ๋ยอินทรย์มาใช้เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูกลดลง
อีกหนึ่งความมุ่งมั่นของไทยวาในการผลักดันความยั่งยืนด้านเกษตรกรรม คือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแพลตฟอร์ม Sustainable Agriculture Initiative หรือ SAI เพื่อเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเท็มด้านเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและปรับตัวได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยวาตั้งเป้าที่จะสนับสนุนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกรในภูมิภาคนี้ให้ได้มากกว่า 1 ล้านรายภายในปี พ.ศ. 2571
ไทยวาโมเดล และ โมเดล BCG นับเป็นการนำศักยภาพของโมเดลเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรในเครือข่าย เพื่อพัฒนาในทุกมิติและเกื้อหนุนกันแบบองค์รวม ตามเป้าหมายของไทยวาที่ไม่เพียงเน้นการเพิ่มผลผลิต แต่สร้างอีโคซิสเท็มของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และดูแลคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเพื่อเติบโตไปพร้อมกับชุมชน