แสงแห่งพระบารมี ที่ก่อเกิด “อ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ส่งผลชาวบ้านทุ่งกระเทียม หวนคืนสู่ผืนนาบ้านเกิด

     เมื่อประมาณปี 2518 ถึง 2522 ในพื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง จังหวัดพะเยา เกิดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย ลำน้ำห้วยไฟเป็นลำน้ำที่ไหลตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะมีมากเกินความจำเป็นจนเกิดอุทกภัย แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำจะลดลงจนขาดแคลนน้ำอย่างมาก ชาวบ้านไม่มีน้ำทำนา ไม่มีข้าวกิน จนต้องอพยพออกจากพื้นที่ เพื่อไปขายแรงงานที่จังหวัดใกล้เคียง เพราะทำเกษตรไม่ได้ ความลำบากที่ดูเหมือนหมดทางแก้

 แต่แล้วก็มีแสงสว่างแห่งชีวิต ส่องนำทางให้ชาวบ้านผู้ลำบากยากไร้ หวนคืนสู่ผืนนาบ้านเกิด เพราะเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำร่องส้าน ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นายสนิท คำงาม ผู้ใหญ่บ้านทุ่งติ้วได้ถวายฏีกา เพื่อขอร้องให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไฟขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก ทรงมีพระราชดำริ ให้พิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และฝายทดน้ำ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในหมู่บ้านต่างๆ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง อีกทั้งทำให้มีน้ำไว้เพื่อการอุปโภค บริโภค

ซึ่งตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของจังหวัดพะเยา ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดภายในจังหวัด บูรณาการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด ด้วยการจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้พัฒนาการเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 พื้นที่ 57 ไร่
1 งาน 36 ตารางวา โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเยี่ยมและเปิดโครงการศูนย์เรียนรู้พัฒนาการเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ที่บ้านทุ่งกระเทียม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางพัฒนาองค์ความรู้แก่เกษตรกร

กรมการข้าว ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วม
บูรณาการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในขั้นตอนของกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และเลือกชนิด / พันธุ์ข้าวที่เป็นความต้องการใช้ปลูกเพื่อทำพันธุ์และไว้เพื่อบริโภคของเกษตรกรเป็นหลัก โดยใช้พันธุ์ข้าวเหนียวจำนวน 1 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สันป่าตอง 1 เพื่อทดสอบเปรียบเทียบหาพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และขยายผลในพื้นที่เกษตรกรของชุมชนผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ

นายพรเทพ สีวันนา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมการข้าว เปิดเผยว่า สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าไปฟื้นฟูคือ ด้านองค์ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงที่กรมการข้าวนำไปสนับสนุน เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ยังเน้นการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน ซึ่งจะไม่เกิดรายได้จากการทำนา ดังนั้นแรงจูงใจในการทำนาจะค่อย ๆ หายไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่หันหลังให้กับอาชีพเกษตร มุ่งสู่ชุมชนเมืองเพื่อใช้แรงงาน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่กรมการข้าวจะต้องพัฒนาคือ การสร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ในชุมชนแห่งนี้ให้หันมาทำนา เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชประสงค์ให้ตรงนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการปลูกข้าวที่สำคัญ

ทั้งนี้ กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพะเยา ได้จัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
บนพื้นที่ 5 ไร่ โดยปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 และผลิตขยายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบโครงการศูนย์เรียนรู้พัฒนาการเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 300 ไร่ มีการติดตามให้คำแนะนำองค์ความรู้ แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปลูกข้าวได้ผลผลิตเฉลี่ย 600
กิโกลรัมต่อไร่ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนองค์ความรู้แก่เกษตรกรให้รู้จักการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้ปลูกเองในพื้นที่อีกด้วย

         “ด้วยพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่อาศัยโดยรอบพื้นที่โครงการศูนย์เรียนรู้พัฒนาการเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้มีอ่างเก็บน้ำ มีแหล่งทรัพยกร
ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และยังขยายผลสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับราษฎรในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี รู้จักประโยชน์จากทรัพยกรเหล่านั้นมาใช้ให้ต่อเนื่อง คุ้มค่าและให้คงอยู่ตลอดไป”นายพรเทพ กล่าว