กยท.ดีเดย์ซื้อปลาหมอคางดำ 1 ล้านกก. ผลิตน้ำหมักชีวภาพเพิ่มผลผลิตให้ยางพารา
กยท.ดีเดย์ เริ่มรับซื้อปลาหมอคางดำแล้วเป็นวันนี้เป็นวันแรก ตั้งเป้าหมาย 1 ล้านกก. นำร่องในพื้นที่การระบาด 16 จังหวัด ราคา 15 บาท/กก. เพื่อนำมาผลิตน้ำหมักชีวภาพใช้ในสวนยางพารา เผยผลการศึกษาระบุชัดเจน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สร้างความสมดุลทางนิเวศวิทยา ยางเจริญเติบโตและผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงถึง 25%
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 1 ส.ค. 67) กยท. เริ่มรับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท โดยเบื้องต้นมีเป้าหมายที่จะรับซื้อทั้งหมด 1,000 ตัน (1 ล้านกิโลกรัม) เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพมาตรฐานกรมพัฒนาที่ดินใช้ในสวนยางพารา ซึ่งมีจุดรับซื้อทั้งหมด 49 จุดในพื้นที่ที่มีการระบาดทั้ง 16 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง ตราด ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นนทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรรมราช และสงขลา
ทั้งนี้ ปลาหมอคางดำ 1,000 ตัน จะสามารถนำผลิตน้ำหมักชีวภาพได้ประมาณ 160,000 ลิตร นำไปใช้ในสวนยางพาราได้ประมาณ 320,000 ไร่ โดย กยท.วางแผนที่จะแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ประมาณ 200,000 ไร่ ซึ่งจะช่วยการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้กับสวนยางของโครงการฯ ส่วนที่เหลือได้มอบหมายให้หน่วยธุรกิจของ กยท. (Business Unit : BU) นำไปจำหน่ายแก่เกษตรกรชาวสวนยาง และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อนำไปใช้ในพืชประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชสวน พืชไร่ ข้าว หรือพืชอื่นๆ ในราคา 99 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าน้ำหมักชีวภาพทั่วไปที่จำหน่ายในราคาที่สูงถึงประมาณ 200 บาท/ลิตร
สำหรับงบประมาณ ที่ใช้ในการรับซื้อปลาหมอคางดำดังกล่าว จะใช้งบตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจโดยตั้งกรอบวงเงินในการรับซื้อไว้ 50 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการรับซื้อปลาหมอคางดำ และจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะกำจัดหรือลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ประธานบอร์ด กยท. กล่าวต่อไปว่า ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำมาตรฐานกรมพัฒนาที่ดินนั้น จะใช้ระยะเวลาในการผลิตประมาณ 1 เดือนหลังจากได้รับปลาหมอคางดำ ซึ่ง กยท. จะให้หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นผู้ผลิตตามสูตรของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ การนำปลาหมอคางดำมาผลิตน้ำหมักชีวภาพมีข้อได้เปรียบคือ ไม่มีปัญหาค่าความเค็ม และมีธาตุอาหารครบถ้วน จากการศึกษา พบว่า น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลาหมอคางดำโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 มีธาตุอาหารหลักเฉลี่ย ได้แก่ ไนโตรเจน (N) 0.93 % ฟอสฟอรัส(P) 0.16 % โพแทสเซียม(K) 0.34 % นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม(Ca) 0.47 % แมกนีเซียม(Mg) 0.07 % และกำมะถัน(S) 0.02 % รวมทั้งมีจุลธาตุหรือธาตุอาหารเสริม ได้แก่ เหล็ก (Fe) 94มิลลิกรัม(มก.)/กิโลกรัม(กก.) แมงกานีส(Mn) 11 มก./กก ทองแดง(Cu) 6มก./กก สังกะสี(Zn) 2มก./กก และมีกรดฮิวมิค กรดอะมิโน ฮอร์โมนพืช ซึ่งธาตุอาหารดังกล่าวช่วยให้ยางพาราเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูง ซึ่งสามารถฉีดพ่นให้ปุ๋ยทางใบโดยใช้โดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กยท.จะผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “การยาง” อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ที่จะให้หน่วย BU ของ กยท. ดำเนินการด้านการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้ กยท.
“ธาตุอาหารทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ ที่พบในน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำมาตรฐานกรมพัฒนาที่ดินดังกล่าว จะทำช่วยให้ใบยางพาราเจริญเติบโต และเพิ่มน้ำยางได้ดี โดยไนโตรเจนจะช่วยทำให้ใบมีสีเขียว ยางเจริญเติบโตและสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น ฟอสฟอรัส จะช่วยการเจริญเติบโตของราก ออกดอก ติดเมล็ด โพแทสเซียม จะช่วยสร้างโปรตีน ผลผลิตมีคุณภาพ ลดปัญหาโรคพืช แคลเซียม จะช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรง ส่งเสริมการเจริญเติบโตของราก และการงอกของเมล็ด สังกะสี จะช่วยเพิ่มผลผลิตของยาง สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค โดยเฉพาะโรคใบร่วง เหล็กและทองแดง ช่วยให้ยางเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ น้ำหนักชีวภาพยังทำเกิดความสมดุลทางนิเวศวิทยา ลดการลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นแก๊สที่ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกอีกด้วย“ ประธานบอร์ด กยท.กล่าว
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการใช้ปุ๋ยในสวนยางพาราของเกษตรกรจะใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จากการเก็บตัวอย่างดินในสวนยางทั่วประเทศ พบว่า ดินขาดธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม กยท. จึงแนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ไม่น้อยกว่า 25% ซึ่งนอกจากจะทำให้ยางเจริญเติบโตให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการระบาดของโรคใบร่วงอีกด้วย
รักษาการผู้ว่าการ กยท.กล่าวด้วยว่า นอกจากการนำปลาหมอคางดำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพดังกล่าวแล้ว ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กยท. ยังได้รวมกลุ่มแม่บ้านชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อนำปลาหมอคางดำผลิตไปถนอมอาหาร ผลิตเป็นปลาร้า ปลาส้ม และปลาตากแห้ง นอกจากนี้ ยังมีเชฟอาหารไทยชื่อดัง ที่พร้อมร่วมมือกับ กยท. ที่จะถ่ายทอดความรู้ในการแปรรูปอาหารจากปลาหมอคางดำอีกด้วย โดยจะมีการคัดเกรดปลาหมอคางดำที่มีขนาดได้มาตรฐาน แช่เย็นไปส่งไปทำการถนอมอาหาร หรือแปรรูปทำอาหาร ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางในการนำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์อีกช่องทางหนึ่ง