จับตากยท.ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 10 “The Next Chapter” สั่งลาผลงาน 4 ปีผู้ว่าฯ “ณกรณ์ ตรรกวิรพัท”
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงานใหญ่ครบรอบปีที่ 9 และก้าวขึ้นสู่ปีที่ 10 โชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “RAOT Thai Rubber, The Next Chapter” โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อม Kick off รถ Mobile Unit จัดเก็บ CESS และเปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง Greenergy Shop by RAOT ณ สำนักงานใหญ่ กยท. บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ วันเดียวกัน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ได้หมดวาระลงในการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ กยท. และจะต้องมีการสรรหาผู้ว่าการฯคนใหม่ ที่มีคุณสมบัติถูกต้องและเหมาะสม ทำประโยชน์แก่ กยท. และวงการยางพาราทั้งระบบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กยท.คน ต่อไป
กยท. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยเกิดจากการควบรวม 3 หน่วยงานด้านยางพารา คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบครบวงจร โดยตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา และมีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 ปีหลังที่นายณกรณ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา แม้ว่าสถานการณ์โลกจะอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด -19 และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
เขาได้มองเห็นโอกาสจากวิกฤตดังกล่าวที่จะผลักดันไทยก้าวสู่ประเทศศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางครบวงจรได้ เพราะโลกเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขอนามัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดีที่สุด หากยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ จึงได้การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมการจัดตั้งเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor of Rubber Innovation: SECri) ที่จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้ก็มีความคืบหน้าพอสมควร เพราะมีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้ยืนยัน แล้วว่า จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการSECri มีทั้งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปยางคอมปาวด์ ยางผสม น้ำยางข้น บริษัทผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทพื้นที่รองเท้า บริษัทผลิตที่นอนและหมอนยางพารา ตลอดจนบริษัทผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา
หากโครงการสำเร็จจะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมยางครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 990,000 ล้านบาท เพิ่มความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศจากร้อยละ 17 ไปสู่ร้อยละ 23 หรือปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 1.09 ล้านตัน มูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 110,000 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็น 450,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 ที่สำคัญจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 45,000 คน กระจายรายได้สู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ประมาณ 56.18% ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาว สวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง สามารถช่วยยกระดับรายได้ให้ชาวสวนยางประมาณ 15,675 บาทต่อไร่
นอกจากนี้ยังมีการลงนาม MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในการพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เสริมยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยลงนามกับ MOU บริษัท Nomura Jimusho, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิทยาศาสตร์ชีวภาพและผลิตภัณฑ์ด้านชีวมวลในระดับโลก ศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง นอกเหนือจากการขายน้ำยางอีกด้วย ล่าสุดได้ลงนาม MOU กับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาการคำนวณราคายางเพื่อเป็นราคาอ้างอิงของไทย (Rubber Reference Price) สำหรับซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลควบคู่ไปด้วย
อีกเรื่องที่ต้องยอมรับวิสัยทัศน์ของนายณกรณ์ จนเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงก็คือ การวางแผนรับมือกฎหมาย EUDR (EU Deforestation-free Products Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท (รวมถึงยางพารา) ที่จะนำเข้าและส่งออกจากสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญทั้ง 3 ข้อสำคัญดังนี้ 1.ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า โดยสินค้าต้องไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า 2.กระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ อาทิ กฎหมายที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และภาษี และ3.ได้รับการตรวจสอบและประเมินสินค้า อาทิ การเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ พิกัดทางภูมิศาสตร์ วันที่และระยะเวลาการผลิต หลักฐานที่แสดงว่าสินค้าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า
ขณะเดียวกันเขายังเตรียมวางแผนรับมือกฎหมาย EUDR ที่สหภาพยุโรปจะนำมาใช้บังคับในตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 นี้เป็นต้นไป โดยใช้กลยุทธ์ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ผลลัพท์ที่ออกมา EUDRจะทำให้ประเทศไทย กลายเป็นผู้นำยางพาราโลกอย่างแท้จริง เพราะ กยท.ได้โดยดำเนินโครงการต่างๆที่สอดรับกับกฎ EUDR ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทย ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี ตั้งเป้าให้สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 20 ล้านไร่ จะต้องเป็นสวนยางพาราที่ได้มาตรฐานของประเทศไทย มอก. 14061 ทั้งหมดเพื่อรองรับตลาดยางพาราโลก ที่ได้มีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพารา โดยจะมีตรวจสอบแหล่งที่มาแบบย้อนกลับ ซึ่ง มอก. 14061 เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนยางพาราในระยะยาว รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอำนวยประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังได้นำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital Platform Thai Rubber Trade (TRT) มาใช้ในการประมูลซื้อขาย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดในการซื้อขายแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายไว้เป็นระบบ พร้อมนำเทคโนโลยี Block chain เข้ามาใช้รองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา จึงสามารถเช็คได้ว่าผลผลิตยางที่ขายไป มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด สวนยางตั้งอยู่ที่พิกัดไหน และเป็นสวนยางที่มีประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบใช้งานผ่าน Mobile Platform และ Web Application ช่วยลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม และบริหารจัดการข้อมูลการซื้อขายยางทั้งหมดแบบ Real Time ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการได้จากทุกตลาดกลางยางพาราและตลาดเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งยังนำระบบรับชำระค่าธรรมเนียมส่งยางออกไปนอกราชอาณาจักรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบ Single Form และระบบรับคำขอใบรับรองคุณภาพยางทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW มาใช้ เพื่อลดขั้นตอน ลดความผิดพลาด ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่นายณกรณ์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ยังได้ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ พัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางสู่การเป็น Smart Farmer โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขยายผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีขอบเขตการดำเนินโครงการที่กว้างขึ้น ดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งการะขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้าน ภายใต้แนวคิด “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน”