โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างความมั่นคง สร้างความสุข สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ความว่า เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป

พระปฐมบรมราชโองการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้แล้วเสร็จ ควบคู่กับดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างทางเลือกการพัฒนาให้แก่ประชาชนและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าและเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

            ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จนปัจจุบัน มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 189 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ เพราะ “น้ำคือชีวิต” น้ำมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากมาย ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2529 ความว่า  “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั้น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”

            ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มาขับเคลื่อนเพื่อช่วยให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

            เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 สทนช. มีแผนในการติดตาม เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบด้วย โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไปแล้ว จำนวน 125 โครงการ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 111 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 14 โครงการ โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 54 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 โครงการ

โดยมีที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 189 โครงการ มาจาก 3 แหล่ง ดังนี้

1.โครงการที่พระราชทานพระราชดำริโดยตรง จำนวน 24 โครงการ ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนคร จำนวน 23 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ โครงการอ่างเก็บน้ำภูน้อยฯ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำซับ 2, 3 และ 4 ฯ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโศกฯ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านแพงตอนบนฯ โครงการอ่างเก็บน้ำหนองบัวแพฯ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหาดฯ โครงการอ่างเก็บน้ำวังก่อไผ่ฯ และโครงการอ่างเก็บน้ำบ่อสะอือฯ เป็นต้น

2.โครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ (ฎีกา) และทรงรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว จำนวน 118 โครงการ กระจายอยู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็น

     2.1 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแล้ว จำนวน 68 โครงการ แบ่งเป็น ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 26 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างน้ำห้วยเฮี้ยฯ  จังหวัดเชียงราย โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านห้วยแหนพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น ภาคกลาง จำนวน 10 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างฝายบ้านเขาแดงพัฒนาฯ จังหวัดจันทบุรี โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังตะโกฯ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 23 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำซำตมขาวพร้อมท่อส่งน้ำบ้านห้วยหมากหล่ำจังหวัดอุดรธานี โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองบ่ออองและขุดร่องชักน้ำพร้อมระบบติดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฯ จังหวัดบึงกาฬ เป็นต้น และภาคใต้ จำนวน 9 โครงการ เช่น โครงการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคตำบลลำสินธุ์พร้อมระบบส่งน้ำฯ จังหวัดพัทลุง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยธารสะอาดพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดระนอง เป็นต้น

     2.2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (การเตรียมความพร้อมและอยู่ระหว่างขั้นตอนของบประมาณ) จำนวน 40 โครงการ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 23 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสักพร้อมระบบส่งน้ำจังหวัดเชียงราย โครงการประตูระบายน้ำน้ำแวนและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดพะเยา เป็นต้น ภาคกลาง จำนวน5 โครงการ เช่น โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหนองไก่เถื่อนพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดเพชรบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำเขาขุย จังหวัดลพบุรี เป็นต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำตกสองชั้นพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดอุดรธานี โครงการแก้มลิงกุดหลึม – หนองผือพร้อมอาคารประกอบ จังหวัดยโสธร เป็นต้น และภาคใต้ จำนวน 8 โครงการ เช่น โครงการปรับปรุงฝายบ้านควนพร้อมระบบส่งน้ำฯ จังหวัดยะลา โครงการอาคารบังคับน้ำคลองม่วงชุม จังหวัดปัตตานี เป็นต้น

     2.3 โครงการที่อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่และจะต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 โครงการ อยู่ในพื้นที่ ภาคเหนือ จำนวน 9 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยจ๊วกพร้อมอาคารประกอบ จังหวัดน่าน โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เชียงราย จังหวัดลำปาง โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยระแฮน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น และในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาพลายฯ จังหวัดจันทบุรี

            3. โครงการที่หน่วยงานขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย จำนวน 47 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลทั้งหมด แบ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณแล้ว จำนวน 33 โครงการ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 28 โครงการ เช่น โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งฯ ในพื้นที่ตำบลด่านทับตะโก จังหวัดราชบุรี โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งฯ ในพื้นที่บ้านหนองแวง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น และอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 5 โครงการ เช่น โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งฯ ในพื้นที่บ้านสระแดงพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมของบประมาณ จำนวน 14 โครงการ เช่น โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งฯ ในพื้นที่บ้านคลองถนนตาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งฯ ในพื้นที่บ้านนามน จังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาบริหารจัดน้ำของรัฐบาล ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้ในทุกมิติ อันจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการน้ำแต่ละลุ่มน้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคง สร้างความสุข ตลอดจนสร้างประโยชน์กับประเทศและสังคมได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561– 2580) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561– 2580) ได้ต่อไป

“สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพิ่มน้ำพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของประชาชนและประเทศ