พลิกชีวิตใหม่สมาชิก”สหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด” จากอาชีพเสริมสู่รายได้หลัก ปลูก”มะขามเทศ”ส่งตลาดไท

ใครจะไปคิดว่า”มะขามเทศ” พืชเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ชาวบ้านปลูกเป็นอาชีพเสริมรายได้ ปัจจุบันจะกลายเป็นพืชหลักทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่นิคมสหกรณ์ห้วยขมิ้น จังหวัดสุพรรณบุรี โดยการสนับสนุนของสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด ภายใต้โครงการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรสมาชิก ส่งผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์ฯที่มีอยู่กว่า 2,000 รายดีขึ้นตามลำดับ
ปัจจุบันสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่2/1 ม.3 ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ภายในนิคมสหกรณ์ห้วยขมิ้น ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย ด่านช้าง หนองหญ้าไซและเดิมบางนางบวช ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ต่อมาพื้นที่บางส่วนถูกบุกรุกจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม  


ต่อมาได้มีการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ห้วยขมิ้นขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ รายละไม่เกิน 50 ไร่ พร้อมรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมด้านอาชีพและสวัสดิการต่าง ๆ แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในนิคมฯให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“สหกรณ์ฯมีสมาชิกสามัญอยู่พันกว่าราย สมาชิกสมทบส่วนหนึ่ง รวม 2 พันราย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ปลูกอ้อยข้าวโพด มันสำปะหลัง และทำสวนมะขามเทศ เมื่อก่อนปลูกมะขามเทศเป็นอาชีพเสริม เดี่ยวนี้เป็นอาชีพหลักแล้ว เพราะมีรายได้ดีกว่าปลูกข้าวโพดทำไร่มัน  ผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งพ่อค้าที่ตลาดไทและสี่มุมเมือง”นางสาวบุษยพรรณ อินยา ผู้จัดการสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัดเผย


ถึงแม้พืชเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมะขามเทศจะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่เกษตรกรสมาชิก แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้งกันดาร ต้องเจอปัญหาการขาดแคลนน้ำเข้าถึงแปลงปลูก โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  แต่หลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายสนับสนุนระบบน้ำในไร่นาแก่สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อปี 2563-64   โดยปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 แก่สถาบันเกษตรกรผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.)  เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้แก่สมาชิก  ซึ่งปี 2563 สหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด ได้ขอกู้มาเป็นจำนวนเงิน 1.5  ล้านบาท เพื่อมาปล่อยกู้กับเกษตรกรสมาชิก นำไปใช้เจาะบ่อน้ำ ขุดสระและพัฒนาระบบน้ำในแปลงเกษตรกรรม จากนั้นก็กู้ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 1.5-2 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาส่งคืน 4 ปี

“ในส่วนของเงินกู้เพื่อสร้างแหล่งน้ำตอนนั้นกู้ของกรมมาล้านห้า ปีนี้(2567)ให้มาล้านเดียว อัตราดอกเบี้ยร้อยละ1 สหกรณ์ฯปล่อยกู้สมาชิกร้อยละ 3 แต่เงินที่กู้จากกรมมาไม่พอ บางคนก็ได้ บางคนก็ไม่ได้ คือได้ไม่ทั่วถึง ก็เลยเอาเงินของสหกรณ์เองปล่อยกู้ไปดอกเบี้ยร้อยละ4 ซึ่งสมาชิกเขารับได้  สมาชิกแต่ละรายกู้เฉลี่ย 50,000 – 100,000 บาท กำหนดส่งภายใน 4 ปีส่วนการกู้เพื่อลงทุนทำมันสำปะหลัง ให้กู้ตามจำนวนไร่ที่เขาทำ ไร่ละ  3,000 บาท แต่ไม่เกิน 30 ไร่หรือ 90,000 บาท/ราย ถึงตอนนี้สหกรณ์ได้ปล่อยกู้ไปทั้งหมดรวมทุกโครงการ รวมเป็นเงิน 37.7 ล้านบาท”ผู้จัดการสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัดเผยตัวเลขการปล่อยสินเชื่อแก่สมาชิกในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสมาชิกสหกรณ์
เธอยอมรับว่าเงินที่สมาชิกกู้ไปนั้นส่วนใหญ่นำไปพัฒนาแหล่งน้ำ เนื่องจากสภาพพื้นที่แห้งแล้งกันดาร ขาดน้ำในฤดูแล้ง ต้องพึ่งพาน้ำฝนเพียงอย่างเดียว  ถ้าไม่มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ โดยเฉพาะในฤดูแล้งพืชผลจะได้รับความเสียหายจากการขาดน้ำ ทางคณะกรรมการฯสหกรณ์ได้เห็นความสำคัญตรงจุดนี้ ทำให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแหล่งน้ำเป็นหลัก
“หากฝนไม่ตกจะทำให้พืชผลเสียหาย พื้นที่แถบนี้จะขาดแคลนแหล่งน้ำ ปีไหนฝนไม่ตกพืชผลจะเสียหายเยอะมาก บางคนถ้าไม่มีแหล่งน้ำพืชผลจะเสียหายไปหมดเลย มะขามเทศเมื่อก่อนเป็นแค่อาชีพเสริม บางรายปลูกกันเยอะมากเฉลี่ย 30-100 ต้น บางรายเลิกปลูกมัน ปลูกข้าวโพด หันมาปลูกมะขามเทศอย่างเดียว ทางสหกรณ์ฯก็ได้เข้าไปส่งเสริม โดยสนับสนุนเงินกู้ปีต่อปี ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษาไปจนถึการเก็บเกี่ยวผลผลิต มะขามเทศที่นี่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่พฤศจิกายนถึงมีนาคม โดยจะมีพ่อค้าจากตลาดไทและตลาดสี่มุมเมืองเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงที่ในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนอาชีพเสริมอื่นที่เราเข้าไปส่งเสริมก็มีการเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกพืชผักสมุนไพร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสมาชิกแต่ละราย   ส่วนการชำระหนี้ของสมาชิกไม่มีปัญหาตอนนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ส่งเงินคืนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด”นางสาวบุษยพรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรสมาชิกแล้ว สหกรณ์ฯยังให้บริการลานมัน โดยประสานกับลานตากเอกชนเพื่อรองรับผลผลิตของสมาชิก ก่อนส่งโรงงานแปรรูป อีกทั้งยังได้ประสานกับโรงงานในการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก โดยเมื่อสมาชิกนำผลผลิตไปส่งโรงงานแล้วทางโรงงานจะออกใบรับซื้อวัตถุดิบให้ จากนั้นเพื่อความสะดวกรวดเร็ว สมาชิกสามารถนำใบรับซื้อวัตถุดิบนั้นมาเบิกเงินที่สหกรณ์ได้ในทันที โดยไม่ต้องรอเงินจากโรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน  ปัจจุบันสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด มีการดำเนินธุรกิจด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อปล่อยกู้ ซึ่งทำรายได้หลักแก่สหกรณ์ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค  ปุ๋ยยาและของใช้ทั่วไป ธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร  ตลอดจนธุรกิจปั้มน้ำมัน(ดีเซล) 
“ตอนนี้มีธุรกิจสินเชื่อปล่อยกู้ทำรายได้มากที่สุด สมาชิกที่กู้ส่วนใหญ่ใช้คนค้ำกันเอง ปีนี้ปล่อยไปแล้ว 37.7 ล้านบาท อายุการชำระหนึ้ขึ้นอยู่กับประเภทเงินกู้ มีทั้งระยะสั้นปีต่อปี หรือระยะกลาง 3-4 ปี  เรามีธุรกิจปั้มน้ำมัน ขายเฉพาะดีเซลใช้กับเครื่องจักกรการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  เรามีธุรกิจรวบรวมผลผลิตคือมันสำปะหลัง สมาชิกเอาผลผลิตไปส่งโรงงานแล้วมาขึ้นเงินที่เรา เราไม่มีลานมันเป็นของตัวเอง แต่รอบ ๆ สหกรณ์มีลานมันเอกชนเยอะ เราก็ประสานไปยังเจ้าของลานมันให้เปิดโควต้าไว้บริการสมาชิกใกล้ที่ไหนไปส่งลานมันที่นั่น เราเป็นสหกรณ์เล็ก ๆ ปีนี้(2567)สหกรณ์เพิ่งปิดงบไปเมื่อเดือนที่แล้ว(มิถุนายน) มีกำไรแค่หลักแสน  แต่กำไรไม่ใช่เป้าหมายหลัก สิ่งสำคัญคือการดูแลสมาชิก” ผู้จัดการสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด ย้ำทิ้งท้าย