“ภูมิธรรม” บูรณาการหน่วยงานซ้อมแผนเผชิญเหตุ รับมือ “ลานีญา” ป้องกันอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

“รองนายกฯ ภูมิธรรม” และ “รมต.จักรพงษ์” ลงพื้นที่บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   และดึงนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร่วมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  ผนึกกำลังเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมรับมือภาวะลานีญา มั่นใจการบริหารจัดการน้ำมีเอกภาพ ลดผลกระทบน้ำท่วมให้เหลือน้อยที่สุด

            10 ก.ค.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 พร้อมด้วยนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วัดไชยวัฒนาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา  และร่วมรับฟังการเตรียมความพร้อมของแผนเผชิญเหตุ ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน  อำเภอบางปะอิน  นอกจากนี้ยังได้เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 2 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 24 หน่วยงาน นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม และเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วม รวมกว่า 200 คน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามประเมินสภาพอากาศปีนี้ พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเน้นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรและเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ และประสานการช่วยเหลือประชาชน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งสามารถเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที

            “การลงพื้นที่ติดตามการฝึกซ้อมแผนการรับมืออุทกภัยในครั้งนี้ ได้กำชับให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปีนี้อย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้รัฐบาลได้เตรียมแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ภาคกลาง ดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างใกล้ชิด และให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการวางแผนการเตรียมการรับมือล่วงหน้า สำหรับช่วงวันที่ 16-17 กรกฎาคมนี้ ตามที่ได้มีการคาดการณ์ว่าอาจมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้มอบหมายให้ สทนช. นำรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุไปเตรียมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ ณ จังหวัดระยอง หรือพื้นที่ใกล้เคียง ในส่วนโครงการที่ได้รับงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา ให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ ผลการดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 ในการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามวิเคราะห์และกำหนดพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มและพื้นที่ที่ฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลหลักสำหรับดำเนินการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยตามมาตรการอื่นๆ ในส่วนมาตรการที่ได้เตรียมการล่วงหน้า รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการตั้งแต่ช่วงก่อนฤดูฝนและยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสิ้นฤดูฝน เช่น การทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ การตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัยคันกั้นน้ำในพื้นที่เสี่ยง และผลการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือในช่วงฤดูแล้ง จึงได้มีมาตรการเร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท สำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ส่วนการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนและการเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กำชับให้ สทนช. ติดตามประเมินผลและรายงานให้รัฐบาลรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฤดูฝนปีนี้เป็นปีที่สามารถลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ด้าน เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ในครั้งนี้เป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในมาตรการที่ 6 การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ มาตรการที่ 8 การสร้างความเข้มเข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ และมาตรการที่ 9 การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์   ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 24 หน่วยงาน นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม และเครือข่ายภาคประชาชน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยในปีนี้ ได้เชิญนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (สหรัตนนคร) 4.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 5.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของประเทศ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อีกทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมรวมกันมากกว่า 2,600 โรงงาน โดยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง รวมจำนวน 595 โรงงาน และตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมอีกกว่า 2,000 โรงงาน นอกจากนี้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างยังเป็นพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มีการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานกว่า 9.6 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวมีมากกว่า 8 ล้านไร่ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้นการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะต้องวางแผนให้ครอบคลุมและรัดกุมในทุกๆ ด้าน ซึ่งการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุก่อนที่จะเผชิญกับสถานการณ์จริง จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีเป้าหมายในการซักซ้อมการปฏิบัติงานให้สามารถติดตาม ประเมินผลการบริหารจัดการและคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแจ้งเตือนได้อย่างตรงจุดและให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีเอกภาพและทันต่อสถานการณ์