เกาะติด…ความสำเร็จในการขับเคลื่อน พัฒนา 3 แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟู
แหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ บึงราชนก จ.พิษณุโลก บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และหนองหาร จ.สกลนคร
ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ


นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนกและบึงบอระเพ็ด คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ส่วนแผนหลักพัฒนาหนองหาร คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ซึ่งแต่ละแห่งนั้นมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงานเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา สทนช. ได้บูรณาการขับเคลื่อนเร่งรัดการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว แล้วเสร็จในปี 2572 และ สทนช. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. รับทราบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยสรุปดังนี้


บึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก มีแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนก แบ่งเป็น 4 ด้าน จำนวน 25 โครงการวงเงิน 1,456.98 ล้านบาท หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 28.85 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ลดความเสียหายจากอุทกภัยได้ 10,575 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,960 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 22,370 ครัวเรือน สทนช. ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามแผนหลักฯ เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย แบ่งเป็น โครงการด้านการบริหารจัดการ 10 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 โครงการ ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จำนวน 6 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 โครงการ ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคเกษตร จำนวน 3 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 โครงการ และด้านการจัดการคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จำนวน 6 โครงการ ซึ่งโครงการที่เหลือปัจจุบันอยู่ระหว่างจะดำเนินการในช่วงปี 2567-70
อย่างไรก็ตาม มีบางโครงการที่ได้มีการปรับแผนงานและงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ บึงราชนกจะเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำที่สำคัญ และเป็นสวนสาธารณะที่เป็นแหล่งสันทนาการให้กับประชาชน จ.พิษณุโลก ต่อไป
บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มีแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด แบ่งเป็น 6 ด้านจำนวน 56 โครง การ วงเงิน 5,701.50 ล้านบาท โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 67 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากอุทกภัยได้ 21,000 ไร่ และมีพื้นที่รับประโยชน์ 85,000 ไร่
สทนช. ได้ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการและการเข้าใช้ประโยชน์ จำนวน 17 โครงการ แล้วเสร็จ 1 โครงการ ด้านการแก้ปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงของน้ำจำนวน 22 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ ด้านการจัดการน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัยจๆนวน 6 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 3 โครงการ อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการด้านคุณภาพน้ำ ตะกอน และรักษาระบบนิเวศ จำนวน 7 โครงการ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ จำนวน 3 โครงการ และด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 1 โครงการ รวมทั้งโครงการที่เหลือทั้งหมดจะดำเนินการในช่วงปี 2567-72
หนองหาร จ.สกลนคร มีแผนหลักการพัฒนาหนองหาร แบ่งเป็น 5 ด้าน จำนวน 62 โครงการ วงเงิน 7,445.22
ล้านบาท โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 78,358 ไร่ มีครัวเรือนรับประโยชน์ 10,857 ครัวเรือน
ทั้งนี้จากการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายล่าสุดพบว่า โครงการด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีจำนวน 7 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 โครงการ ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต จำนวน 2 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 โครงการ ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จำนวน 15 โครงการ แล้วเสร็จ 4 โครงการ ด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีจำนวน 23 โครงการ แล้วเสร็จ 2 โครงการ และด้านการบริหารจัดการ มีจำนวน 15 โครงการ แล้วเสร็จ 3 โครงการ โดยโครงการที่เหลือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจะดำเนินการในช่วงปี 2567-72 ต่อไป
ทั้งนี้ แผนหลักการพัฒนาหนองหาร ทั้ง 62 โครงการตามแผนหลักฯดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างปรับแผนและได้มีการขอปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณ เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวัดและเก็บข้อมูลน้ำ
“สทนช. จะติดตามขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนหลักฯ ของแหล่งน้ำธรรมชาติทั้ง 3 แห่ง โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลและบรรลุวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย