สทนช. บูรณาการวางแผนจัดสรรน้ำมหาสงกรานต์ 2567 รองรับการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวทุกพื้นที่
สทนช. บูรณาการวางแผนจัดสรรน้ำรองรับมหาสงกรานต์ 2567 โดยเฉพาะทุกแหล่งท่องเที่ยวที่จะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น เผยผลบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2566/67 ช่วยลดพื้นที่ประสบภัยแล้ง พร้อมการันตีมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ เร่งเดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่จะมาถึง กำชับหน่วยงานเพิ่มความแม่นยำคาดการณ์ฝนและเร่งตรวจสอบและซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ทั่วประเทศ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น ที่เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเร็วๆนี้ว่า ขณะนี้ความรุนแรงที่เกิดจากผลกระทบของสภาวะเอลนีโญได้ลดลงตามลำดับ ในขณะที่สภาพภูมิอากาศของประเทศทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง และฝนตกฟ้าคะนอง มากขึ้นหลายพื้นที่ ประกอบกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในพื้นที่รับน้ำ จึงทำให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศล่าสุด มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 47,193 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 57% ของความจุ โดยที่ผ่านมา สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการประเมินและวางแผนการจัดสรรน้ำ พร้อมทั้งเก็บรักษาปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับความต้องการในทุกภาคส่วน รวมถึงน้ำที่จะใช้ในเทศกาลสงกรานต์ 2567 หรือ “Maha Songkran World Water Festival 2024” ที่จะทยอยจัดในจังหวัดต่าง ๆ ตลอดเดือนนี้ ตามที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ตั้งเป้าจะผลักดันงานสงกรานต์ไทยให้ยิ่งใหญ่เป็นงานเทศกาลระดับโลก ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาล
สำหรับการใช้น้ำในช่วงสงกรานต์ปีนี้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในทุกภูมิภาค และแหล่ง ท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในทุกแห่ง สทนช. ได้บูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนรองรับการใช้น้ำ รวมทั้งได้จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องมือ เครื่องจักร เช่น การติดตั้งจุดสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ ฯลฯ โดยการันตีได้ว่าจะสามารถสนับสนุนน้ำให้แก่กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวได้โดยไม่ขาดแคลน รวมทั้งขอยืนยันให้ประชาชนมั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ สทนช. จะยังคงบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างรอบคอบต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝน เพื่อให้มีปริมาณน้ำสะสมในวันที่ 1 พ.ย. 67 มากที่สุด สำหรับการใช้น้ำในฤดูแล้งปีหน้า
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ขณะนี้เหลือระยะเวลาในช่วงฤดูแล้งอีกไม่นานนัก สทนช. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้มีการลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี ทำให้ในปีนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งลดลง ทุกภาคส่วนได้รับการจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมและพอเพียง โดยการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ ภัยแล้ง ปัจจุบันมีเพียง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ชลบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่จ.นครสวรรค์ ได้ยุติสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว และจะมีการเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในทุกพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติต่อไป พร้อมกันนี้ สทนช. จะติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเร่งเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่จะมาถึง โดยล่าสุดได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มความแม่นยำการคาดการณ์สถานการณ์ฝน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเน้นย้ำให้มีการเร่งตรวจสอบและซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เพื่อให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานในทุกแห่งทั่วประเทศก่อนเข้าสู่ฤดูฝนด้วย
นอกจากนี้เลขาธิการ สทนช.ยังกล่าวถึง สถานการณ์คุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นข้อกังวลของประชาชนจากกรณีรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ใน สปป.ลาว ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำคานที่เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRCS) และ สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ พร้อมออกประกาศเฝ้าระวังเพื่อแจ้งเตือนประชาชน อย่างไรก็ตาม สปป.ลาว ได้ดำเนินการตามมาตรการตอบสนองภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ เช่น การสร้างแนวป้องกันน้ำ การใช้สารเพื่อสร้างสมดุลความเป็นกรด-ด่าง ฯลฯ มีผลในการควบคุมสารเคมีที่รั่วไหลภายในคลอง ทางระบายน้ำ ร่องน้ำ และป้องกันการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคานได้ ซึ่งประเทศไทยได้รับการแจ้งยืนยันจาก MRCS แล้วว่า เหตุดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำข้ามพรมแดนในแม่น้ำโขงตอนล่างที่ครอบคลุมถึงพื้นที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน