รมช. ไชยา หารือกรมปศุสัตว์ ลดต้นทุนอาหารสัตว์ เร่งผลิตวัคซีนคุณภาพ แก้ปัญหาโคบาลชายแดนใต้
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมหารือความก้าวหน้าการดำเนินโครงการของกรมปศุสัตว์ โดยมี ผู้บริหารกรมปศุสัตว์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ ชั้น 1 กรมปศุสัตว์ (ปศ.) ซึ่งที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้าประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความก้าวหน้าการลดต้นทุนอาหารสัตว์ จากการนำร่องลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกร จำนวน 4 ฟาร์ม ณ บ้านนากลาง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู (นาวังโมเดล) ให้เกษตรกรทำอาหารสัตว์จากข้าวโพดพร้อมฝักหมัก เพื่อลดต้นทุนการผลิต ผลปรากฏว่าการดำเนินงานตั้งแต่ธันวาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตประมาณ 9.23 บาทต่อน้ำนมดิบ 1 กิโลกรัม จากปกติต้นทุนการผลิตประมาณ 14-17 บาทต่อน้ำนมดิบ 1 กิโลกรัม และโคนมสามารถผลิตน้ำนมได้มากกว่า 13.21 ลิตรต่อตัว ต่อวัน จากปกติสามารถการผลิตน้ำนมดิบได้ 9 .77 ลิตรต่อตัว ต่อวัน 2) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อเพิ่มรายได้สาหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย (โคเพิ่มรายได้) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยได้รับแม่โคเป็นของตนเอง และช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับหลักเกณฑ์โครงการ 3) ความก้าวหน้าการผลิตและพัฒนาวัคซีน โดยสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในปีงบประมาณ 2566 – 2567 อาทิ การพัฒนาวัคซีนรวมโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียสำหรับโค-กระบือ โครงการพัฒนาเซลล์อัณฑะแกะ (Lambtestis cell) เพื่อใช้สำหรับการผลิตแอนติเจนไวรัสลัมปีสกิน และโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิด viral vector ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ผลปรากฏว่า มีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนตัวปัจจุบัน ซึ่งจะพัฒนาสู่การผลิตเพื่อใช้งานต่อไป และ 4) ความก้าวหน้าโครงการโคบาลชายแดนใต้ ระยะนำร่อง ในส่วนพื้นที่ปัตตานีที่ได้รับปัญหาแม่โคไม่ตรงปก ปัจจุบันเกษตรกรได้ยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการรายเก่าและอยู่ระหว่างจัดหาแม่โคจากผู้ประกอบการรายใหม่ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสงขลา ได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงการจัดการฟาร์มโคเนื้อ ตรวจระบบสืบพันธุ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผสมเทียมด้วยชุดฮอร์โมนเหนี่ยวนำ เพื่อให้ความมั่นใจกับเกษตรกรว่าแม่โคมีสุขภาพแข็งแรง สามารถตั้งท้องได้ ซึ่งผลผลิตของโครงการโคบาลฯ มีแม่โคตั้งท้อง จำนวน 293 ตัว คลอดแล้ว 118 ตัว ลูกโคหย่านม 99 ตัว
รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา ได้มอบนโยบายให้ ปศ. ดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ให้อยู่ในกรอบที่วางไว้ โดยขั้นตอนการตรวจรับแม่โคต้องตรงตามคุณลักษณะ รวมถึงต้องให้สิทธิ์เกษตรกรในการจัดซื้อแม่โคด้วยตนเองได้ เนื่องจากเป็นผู้รับภาระทางต้นทุนการผลิต ในส่วนจังหวัดสตูลที่เกษตรกรประสบปัญหาด้านเงื่อนไขและพื้นที่ทางการเกษตร ทาง รมช.ไชยา จะลงพื้นที่ไปหารือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อหารือปรับโครงการให้มีความยืดหยุ่นต่อเกษตรกร และขับเคลื่อนโครงการระยะ 2 และ 3 ให้สามารถดำเนินต่อไปได้ราบรื่น
ทั้งนี้ นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แนะนำให้กรมปศุสัตว์จัดทำคู่มือการดำเนินงานโครงการโคบาลชายแดนใต้ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน และหากจะให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นแนวทางเดียวกันควรมีคู่มือสำหรับผู้ลงพื้นที่ทำงานด้วย