เปิดงบฯขับเคลื่อนแผนบูรณาการฯทรัพยากรน้ำปี 67 สทนช.เผยผลงานปี 66 การันตีผลสัมฤทธิ์ที่คุ้มค่า
สทนช. โปร่งใสเปิดแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2567 กว่า 56,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งเป้าทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง
ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมเผยผลสัมฤทธิ์การงานดำเนินในปี 2566
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึง แผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 56,255.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 คิดเป็น 3.83% มีหน่วยงานบูรณาการงบประมาณรวมจาก 17 หน่วยงาน 2 รัฐวิสาหกิจ จาก 7 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนเงิน 40,293.90 ล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6,547.74 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 4,818.85 ล้านบาท สำนักนายกรัฐมนตรี 97.41 ล้านบาท กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 297,300 บาท กระทรวงคมนาคม 115.34 ล้านบาท และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 99 ล้านบาท โดยคาดว่า จะพิจารณาเห็นชอบในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ เพื่อให้หน่วยงานสามารถขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามภารกิจหน้าที่ต่อไป
สำหรับงบประมาณตามแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2567 ดังกล่าว ได้วางเป้าหมายที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบแบบบูรณาการ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ให้มีน้ำสะอาดใช้ทุกครัวเรือน ทั้งในชุมชนชนบทและเขตเมือง ป้องกันฟื้นฟูรักษาเขตต้นน้ำ สภาพสิ่งแวดล้อมลำน้ำและแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งนำไปใช้ในการเพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบ โดยการจัดหาน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ นอกจากนี้ยังจะนำไปใช้เพื่อจัดระบบการจัดการภัยพิบัติจากน้ำให้สามารถลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ การปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังจะนำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิ ภาพการบริหารจัดการน้ำที่สมดุล ทันสมัย ทันการณ์ และสร้างความเป็นธรรมอีกด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นอกจากจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทการบริการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย ดังนั้นหากสามารถดำเนินงานได้ตามแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2567 สำเร็จผลตามเป้าหมาย จะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล โดยในด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จะมีครัวเรือนนอกเขตกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงน้ำประปา 56,494 ครัวเรือน ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จะสามารถลดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 4 ร่องน้ำสำคัญ ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 173.41 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 340,000 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 170,000 ครัวเรือน ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ จะมีพื้นที่ป่าได้รับการปลูกฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน 44,644 ไร่ แหล่งน้ำธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 120 แห่ง และด้านการบริหารจัดการ จะมีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครอบคลุมทุกลุ่มน้ำอย่างสมดุล 22 ลุ่มน้ำ
เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานตามแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ว่า ในปี 2566 ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 54,099.81 ล้านบาท ทำให้มีประชาชนนอกเขตกรุงเทพฯ จะสามารถเข้าถึงน้ำประปาจำนวน 49,381 ครัวเรือน มีการจัดการน้ำภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างสมดุล โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 383,689 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 156.64 ล้าน ลบ.ม. มีประชาชนได้รับประโยชน์ 153,339 ครัวเรือน สามารถบรรเทาน้ำท่วมและอุทกภัย ลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรได้รวม 336,882 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ 4 ร่องน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูและมีพื้นที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 333 แห่ง พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟู 14,970 ไร่ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 108,223 ไร่ และจะมีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครอบคลุมทุกลุ่มน้ำอย่างสมดุล 22 ลุ่มน้ำ