กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงข้อเท็จจริงเหตุสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกระบี่ เข้าแจ้งความคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ กู้เงินสร้างจตุคามซื้อที่ดิน ปล่อยกู้เกิดหนี้เน่า 500 ล้าน
ตามที่เป็นข่าวว่ามีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกระบี่ จำกัด เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน
สภ.เมืองกระบี่ เพื่อเอาผิดกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกระบี่ จำกัด ชุดที่ 47 และกรรมการชุดต่อเนื่องฐานก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกสหกรณ์กว่า 8 พันคน จนก่อให้เกิดหนี้เน่ารวมกันกว่า 509 ล้านบาท นั้น
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่เป็นข่าวเดิมผู้ให้ข่าวได้เคยมีการร้องเรียนประเด็นดังกล่าวข้างต้นมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์และร้องเรียนมายังสำนักงานสหกรณ์จังหวัดกระบี่ ซึ่งเบื้องต้นกรม
ได้มีการตอบข้อร้องเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมมอบหมายให้สหกรณ์จังหวัดกระบี่ ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ มอบหมายให้คณะผู้ตรวจการสหกรณ์ประจำจังหวัดกระบี่ เข้าไปตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ในประเด็นดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าสหกรณ์
มียอดลูกหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จำนวน 453,041,547.89 บาท สหกรณ์จังหวัดจึงได้แจ้งเป็นหนังสือแนะนำให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เร่งรัดติดตามทวงถามลูกหนี้และหรือดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็ได้มีการแก้ไขไปแล้วบางส่วน ยังคงค้างอยู่บางส่วน
สำหรับกรณีที่มีสมาชิกแจ้งความเอาผิดกับคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 47 ที่ได้ทำสัญญาอนุมัติเงินกู้เองจำนวน 2,300,000 บาท เพื่อนำไปสร้างจตุคามรามเทพ ประเด็นนี้ทางคณะกรรมการดำเนินการฯ ได้กระทำการซึ่งขัดกับระเบียบว่าด้วยเงินกู้สามัญแก่สมาชิก พ.ศ. 2550 อย่างชัดเจน เนื่องจากเงินกู้สามัญมีสำหรับให้สมาชิกกู้ไปใช้ในเฉพาะกรณีจำเป็นหรือประโยชน์เท่านั้น รองนายทะเบียนสหกรณ์จึงมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกระบี่ จำกัด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 โดยทันที ซึ่งจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าตั้งแต่
ปี พ.ศ. 2550-2565 สหกรณ์ได้รับชำระเงินกู้ดังกล่าวมาแล้ว จำนวน 1,135,682.88 บาท คงเหลือ 1,164,317.12 บาท รองนายทะเบียนจึงสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเร่งดำเนินการทำหนังสือแจ้งคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 47 ให้รับผิดชอบชดใช้เงินจำนวน 1,164,317.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับชำระครั้งล่าสุด (31 มีนาคม 2566) และหากไม่สามารถเรียกเงินคืนได้ให้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 47 เพื่อเรียกค่าเสียหายด้วย
ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการได้อนุมัติเงินกู้เพื่อมัดจำที่ดิน จำนวน 1,500,000 บาท แต่ไม่มีการซื้อที่ดินจริง
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2549 มีการอนุมัติโครงการจัดหาที่ดิน 20,000,000 บาท และในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 สหกรณ์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำนวน 4 ไร่ ๆ ละ 4,00,000 บาท
ซึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินค่ามัดจำ จำนวน 8,000,000 บาท แต่ปรากฏว่าในวันเดียวกันสหกรณ์มีการสั่งจ่ายเช็คค่ามัดจำซื้อที่ดิน จำนวน 2,000,000 บาท ซึ่งไม่ปรากฏรายละเอียดการขออนุมัติการจ่ายเงินค่ามัดจำใด ๆ ต่อมาที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550 มีมติยุติการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 สหกรณ์ได้รับเงินค่ามัดจำที่ดินคืน จำนวน 500,000 บาท คงเหลือ 1,500,000 บาท เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายเงินค่ามัดจำที่ดินไม่เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินสดของสหกรณ์ พ.ศ.2543 จึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการกับคณะกรรมการชุดที่ปล่อยปละละเลยจนทำให้ขาดอายุความที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญา พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 1,500,000 บาท ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการดำเนินการ
ชุดที่ 48/2551 และชุดที่ 49/2552 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างสหกรณ์ส่งมอบงานให้ทนายความร่างคำฟ้องเสนอสหกรณ์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็นที่มีสมาชิกร้องเรียนว่าคณะกรรมการหลายชุดที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎระเบียบ
แบบผิดปกติ โดยการปล่อยเงินกู้ในวงเงินสูงเพื่อเปิดช่องให้สมาชิกหลายรายไปหาซื้อที่ดินตาบอดในราคาถูก เพื่อนำโฉนดที่ดินเหล่านั้นมากู้เงินหลายล้านบาทกับสหกรณ์ และเมื่อสมาชิกที่กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ปล่อยให้สหกรณ์ยึดที่ดินตาบอด
ที่ไม่มีราคาจนก่อให้เกิดหนี้เน่าจำนวนมากนั้น จากการตรวจสอบระเบียบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการให้เงินกู้กับสมาชิกฯ พบว่าในทุกระเบียบที่สหกรณ์ถือใช้ต้องมีการกำหนดหลักประกันสำหรับเงินกู้ อสังหาริมทรัพย์ อันปลอดจากภาระจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนเงินกู้รายนั้น โดยไม่เกินหนึ่งเท่าของราคาประเมินแห่งค่าอสังหาริมทรัพย์จากสำนักงานที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างได้เท่าราคาประเมินของบริษัทประเมินที่จดทะเบียน นอกจากนี้ ก่อนการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้กับสมาชิก สหกรณ์จะมีคณะอนุกรรมการประเมินหลักทรัพย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบประเมินหลักทรัพย์ และจัดทำรายงานผลพร้อมทั้งแนบภาพถ่ายของสภาพที่ดินเพื่อประกอบการพิจารณาการให้เงินกู้แก่สมาชิกทุกครั้งด้วย แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานสหกรณ์จังหวัดกระบี่จะแจ้งให้คณะกรรมการสหกรณ์สุ่มสอบทานหลักทรัพย์ค้ำประกันของสมาชิก
ตามข้อร้องเรียนให้เสร็จภายใน 30 วัน ต่อไป