ติดอาวุธคณะกรรมการลุ่มน้ำบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไฟเขียวแผนจัดสรรน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา
สทนช.เดินหน้าติดอาวุธคณะกรรมการลุ่มน้ำ ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ล่าสุดคณะกรรมการลุ่มน้ำน่านไฟเขียวแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 ของอ่างขนาดใหญ่แหล่งน้ำต้นทุนลุ่มเจ้าพระยา 2 แห่ง พร้อมสั่งคุมเข้มการจัดสรรน้ำให้ได้ตามแผน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการลุ่มน้ำน่านได้พิจารณาเห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์และอ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ แผนการจัดสรรน้ำ และการจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ ผ่านกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการบูรณาการของทุกภาคส่วน และต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารทรัพยากรน้ำให้มีความประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (เริ่มต้นฤดูแล้ง) มีปริมาณน้ำจำนวน 6,025 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 63% ของปริมาณการกักเก็บ ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2566/67 ดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 355 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 230 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 1,035 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุตสาหกรรม 5 ล้าน ลบ.ม. และอื่นๆ 175 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรตามแผนฯ จำนวน 1,800 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เสนอโดยกรมชลประทาน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 มีปริมาณน้ำจำนวน 925 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 98% ของปริมาณการกักเก็บ ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2566/67 ดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 175 ล้าน ลบ.ม. และอื่นๆ 125 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรตามแผนฯ จำนวน 500 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้คณะกรรมการลุ่มน้ำน่าน
ได้กำชับให้บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่เห็นชอบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 2
แห่งดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ 2 ใน 4
แห่งที่มีความสำคัญต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามหากมีสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไปที่อาจจะทำให้การบริหารจัดการน้ำดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผนฯ
คณะกรรมการลุ่มน้ำน่านจะพิจารณาการทบทวนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมอบหมายให้ กฟผ.และกรมชลประทาน
รายงานผลการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำทราบเป็นประจำทุกเดือนเพื่อพิจารณา
ก่อนนำเสนอคณะกรรมการทรัพยาน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับลุ่มน้ำอื่นๆ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ต้องดำเนินงานตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้คณะกรรมการลุ่มน้ำมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำเช่นกัน พร้อมทั้งควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์และแนวทางที่ กนช.กำหนด ซึ่ง กนช.ได้ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจการประเภทต่างๆ ในเขตลุ่มน้ำอย่างเพียงพอเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยให้จัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำไว้ดังนี้ 1.การอุปโภคบริโภค 2.การรักษาระบบนิเวศ 3.การบรรเทาสาธารณภัย 4.จารีตประเพณี 5.การคมนาคม 6.เกษตรกรรม 7.อุตสาห กรรม 8.พาณิชยกรรม และ 9.การท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังให้คณะกรรมการลุ่มน้ำวางมาตรการควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการทำงาน แต่ถ้าเห็นว่าเป็นการใช้น้ำโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือเกินความจำเป็น ก็สามารถปรับลดความต้องการใช้น้ำในกิจการนั้นๆ ได้ตามความเหมาะสม
“ที่ผ่านมาแผนการบริหารจัดการน้ำ แผนการจัดสรรน้ำ และการจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานที่มีภารกิจกำกับดูแลแหล่งน้ำ มักจะมีการกำหนดโดยหน่วยงานนั้นๆ ไม่เป็นไปตามกลไกการพิจารณากลั่นกรองภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ดังนั้น สทนช.จึงได้ขับเคลื่อนการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ แผนการจัดสรรน้ำ และการจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ ให้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ อยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำในตอนท้าย