กษตรเตรียมสร้างการรับรู้ จัดเสวนาไม่เผาในพื้นที่เกษตร เน้นชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อความยั่งยืน

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจกระจายทั่วทุกภูมิภาค เกษตรกรบางส่วนเน้นการเพิ่มปริมาณผลผลิต ด้วยการเพิ่มรอบการผลิตให้ได้หลายรอบต่อปี และมักขาดการจัดการเศษวัสดุที่ดี เลือกวิธีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรแทนวิธีการอื่น ๆ เนื่องจากเป็นวิธีการที่สะดวก ง่าย และรวดเร็ว ซึ่งการเผาในพื้นที่เกษตรเหล่านั้นเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นควัน ซึ่งส่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม และยังส่งผลเสียต่อพื้นที่ทำการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตรดังกล่าว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภาคการเกษตร จึงกำหนดจัดการเสวนา”เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ” ขึ้น ในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาวิชาชีพมาร่วมเสวนานำเสนอประเด็นสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ปัญหา/ผลกระทบภาพใหญ่ : ผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมจากปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้การเกษตร (ตอซังและต้นข้าวโพด/ข้าว/อ้อย และอื่น ๆ) และแนวทางการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรและประชาชน รวมถึงรัฐบาล โดย นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ 2) ปัญหาฝุ่นในมุมดาราศาสตร์ : เทคโนโลยีและองค์ความรู้ดาราศาสตร์ กับ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 3) ที่มาและแหล่งก่อมลพิษ PM 2.5 : PM 2.5 ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ แนวทางปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของมนุษยชาติ โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ 4) เกษตรกรคิดอย่างไร: ความตระหนักของปัญหาฝุ่น PM 2.5 การปรับตัวและบรรเทาผลกระทบในมุมมองเกษตรกรตัวจริง โดย นายชุมพลกาวิน่าน ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและแปลงใหญ่ลำไย จังหวัดเชียงใหม่ 5) จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไรดี : การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร/ชุมชนเกษตร ในการแก้ไขปัญหาปรับตัวและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนายเดโช ไชยภพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) 6) บทบาทของกระทรวงเกษตรฯ : การแปลงนโยบายแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันสู่การปฏิบัติด้านการเกษตร , การสนับสนุน ร่าง พระราชบัญญัติอากาศสะอาด ของภาคเกษตร โดย นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับเกียรติจากผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนาแบบออนไลน์ได้ทางเพจเฟสบุ๊ก กรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่าข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า การเผาในพื้นที่เกษตรก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของปริมาณ PM2.5ทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยยังมีแหล่งกําเนิดอื่น ๆ ได้แก่รถยนต์และการจราจร ร้อยละ 72.5 โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 17 และแหล่งที่มาอื่น ๆ อีกบางส่วน แต่หากจะช่วยกันแก้ไขปัญหาในภาพรวมให้สำเร็จได้ พี่น้องเกษตรกรจึงควรตระหนักรู้ว่าการก่อมลพิษด้วยการเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นต้นทุนที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชต้องร่วมกันรับผิดชอบ และเลือกใช้วิธีการจัดการกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อการทำการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรในฤดูกาลผลิตต่อไป และยังช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
………