สทนช.ประสบความสำเร็จ ประชุมร่วม แม่โขง-ล้านช้างครั้งที่4 ผลักดันความมั่นคงด้านอาหาร-การบริหารเขื่อนแบบขั้นบันได

สทนช. ประสบความสำเร็จในการผลักดันประเด็นความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง – แม่น้ำล้านช้าง และโครงการร่วมศึกษาในการบริหารจัดการเขื่อนแบบขั้นบันได ในแม่น้ำโขง – ล้านช้าง ภายใต้บริบทการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในระยะยาว ในการประชุมคณะทำงานร่วม แม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 4


ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำของประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมสมัยสามัญคณะทำงานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 4 (the 4th JWG Meeting on Lancang – Mekong Water Resources Cooperation) ณ โรงแรมสุขขาลัยเสียมเรียบ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อเร็วๆนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันในประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การหารือประเด็นการเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ 5 ปี (ค.ศ. 2023-2027) (The Five-Year Action Plan on Lancang – Mekong Water Resources Cooperation (2023-2027)) ซึ่งแผนปฏิบัติการฉบับนี้ ระบุถึงความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDG) การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน 2.การจัดประชุมระดับรัฐมนตรีสาขาทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (The Second Ministerial Meeting of Lancang – Mekong Water Resources Cooperation) โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เพื่อรับทราบความคืบหน้าและผลักดันแนวทางการขับเคลื่อนในระดับนโยบายตามแผนปฏิบัติการฯ 3.การหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูล และ 4.กิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในปี พ.ศ.2567
ทั้งนี้ในการประชุมฯ ฝ่ายไทยเสนอให้ประเทศสมาชิกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบริบทความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) จากทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงและการจัดการน้ำของเขื่อนขั้นบันไดในภูมิภาค จนทำให้ประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันที่จะบรรจุเป็นกิจกรรมสำคัญในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ของความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ


“สทนช. เห็นความสำคัญของการเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เนื่องจากเป็นเวทีสำหรับการเจรจาปรึกษาหารือในประเด็นที่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน ระหว่างผู้แทนของประเทศสมาชิกที่ใช้แม่น้ำโขง ทั้ง 6 ประเทศ โดยสำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้แทนจากแต่ละประเทศสมาชิกได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และเสนอการแก้ไขต่อร่างแผนปฏิบัติการฯ ในประเด็นที่สำคัญ และเป็นโอกาสอันดีที่ สนทช. ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทยได้ผลักดัน 2ประเด็นสำคัญ คือ 1.โครงการร่วมศึกษาในการบริหารจัดการเขื่อนแบบขั้นบันได ในแม่น้ำโขง – แม่น้ำล้านช้าง ภายใต้บริบทการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ2.การผลักดันประเด็นความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง – แม่น้ำล้านช้าง ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของภาคประชาชนตลอดริมแม่น้ำโขงในระยะยาว โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของร่างแผนปฏิบัติการฯ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะนำไปขอความเห็นชอบก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการร่วมกันต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับการประชุมคณะทำงานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 4 ดังกล่าว ราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกภายใต้ความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง 6 ประเทศ ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ ภายใต้ความร่วมมือแม่น้ำโขง – แม่น้ำล้านช้าง (LMC Water Center) เข้าร่วมประชุม