ส่องแนวคิดนายอำเภอท่าอุเทน”ปรีชา สอิ้งทอง” ผ่านโครงการ”บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”
ระเบิดจากข้างใน หัวใจแห่งการพัฒนา พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 น่าจะใช้ได้ดีกับนายอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม”ปรีชา สอิ้งทอง”ที่มุ่งมั่นพัฒนาทุ่มเททั้งกายและใจให้เป็นแบบอย่างแก่เจ้าหน้าที่นำไปปฏิบัติเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนผ่านโครงการ”บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง”
”ททท.ทำทันที”สโลแกนนี้ยังคงใช้ได้ดีกับนายอำเภอปรีชา เพราะทันทีที่มารับตำแหน่งนายอำเภอเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สิ่งแรกที่ทำคือปรับปรุงพื้นที่รอบ ๆ บ้านพักนายอำเภอเพื่อปลูกผักสวนครัวหลากหลายชนิด อาทิ พริก โหระพา ขิงข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รวมถึงผักโตเร็ว เช่น ผักกาด ผักบุ้ง ถั่วฝักยาวและอีกมากมาย
“ท่าอุเทนเป็นเมืองเกษตร เราก็ส่งเสริมให้ทุกคนปลูกผักสวนครัวไว้กินเองใช้พื้นที่รอบบ้านของตัวเองปลูกเพื่อจะลดรายจ่ายลง แต่ถ้าอยู่ ๆ ผมไปบอกพี่น้องให้ทำเลยโดยไม่มีให้เห็นของจริง พี่น้องก็จะพูดได้ว่านายอำเภอมีแต่สอนมีแต่สั่ง ทำเองไม่เป็น” นายอำเภอท่าอุเทนเผยที่มาโครงการฯ
ไม่เพียงปลูกพืชผักสวนครัวเท่านั้น แต่รอบบ้านพักนายอำเภอยังเลี้ยงไก่ไข่อีกกว่า 10 ตัว ส่วนผลผลิตที่ได้นายอำเภอบอกว่านอกจากเก็บไว้รับประทานเองแล้วยังนำไปแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ บางส่วนก็นำไปวางไว้ที่”ซุ้มปันสุข”ไว้บริการพี่น้องประชาชนที่มาติดต่อราชการอีกด้วย
หลังประสบผลสำเร็จในการจัดทำเป็นแปลงตัวอย่าง และได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้ได้ขยายผลไปยังบ้านพักเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อาทิ บ้านพักปลัดอำเภอและบริเวณหลังที่ว่าการอำเภอท่าอุเทนที่ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าประมาณ 10 ไร่เศษ ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว สับปะรด มะละกอ กล้วยน้ำว้า ขุดบ่อเลี้ยงปลาและสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้งด้วย
“ผมคิดเสมอว่าก่อนจะออกช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เราต้องดูแลลูกน้องให้อิ่มท้องก่อน ให้เขามีความพร้อมทั้งกายและใจ มีตังในกระเป๋า จึงนำแนวพระราชดำริ ระเบิดจากข้างใน มาปรับใช้ผ่านโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”นายอำเภอปรีชากล่าวอย่างภูมิใจ
เขายอมรับว่าจากผลสำรวจรายจ่ายเจ้าหน้าที่พบว่าน่าตกใจ ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอาหารการกิน ดังนั้นถ้าเรามาปลูกพืชผักกินเอง เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลากินเองก็จะสามารถลดรายจ่ายในส่วนนี้ได้และยังได้รับประทานพืชผักที่ปลอดสารเคมีด้วย ที่สำคัญเงินเดือนทุกบาททุกสตางค์ยังอยู่ครบ
นายอำเภอท่าอุเทนยังกล่าวถึงสับปะรดท่าอุเทน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ(GI) เป็นสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวีย มีเนื้อละเอียด แน่น สีเหลืองเข้ม ตาตื้น รสชาติหวานฉ่ำ หอม กรอบอร่อยและ จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ใน 4 ตำบลของอำเภอท่าอุเทน โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามเอ็มโอยู(MOU) กับบริษัทเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (Tops Market) และบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) นับเป็นอีกช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตอีกด้วย
“ปกติสับปะรดท่าอุเทนถ้าขายริมทางกิโลละ 25 บาท ในห้าง 40 บาท ซื้อที่สวน 15 บาท สับปะรดท่าอุเทนไม่ใช่ปลูกที่ไหนก็ได้ผมเคยนำไปปลูกที่มุกดาหาร ปลูกได้แต่รสชาติไม่ได้ไม่อร่อยไม่ฉ่ำเหมือนที่ท่าอุเทน”นายอำเภอปรีชากกล่าวถึงสับปะรดจีไอ(GI)ของอำเภอท่าอุเทน
เขาระบุอีกว่า นอกจากสับปะรดท่าอุเทนแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาของอำเภอท่าอุเทนอีกตัวที่เพิ่งได้รับประกาศเป็นสินค้าจีไอ(GI)ในปีนี้(2566) นั่นก็คือครกดินเผาบ้านกลาง ซึ่งใช้สำหรับตำส้มตำ ภาคอีสานส่วนใหญ่ใช้ครกจากแหล่งผลิตที่บ้านกลาง อำเภอท่าอุเทน
“ภาคอีสานเกือบทั้งภาคต้องมาซื้อครกที่ท่าอุเทนแล้วไปตีตราที่อื่น ปีนี้เราได้จีไอแล้วจะบังคับเลยว่าใครจะเอาครกไปขายที่อื่นจะต้องใช้ตราท่าอุเทนเท่านั้น เพราะมันเป็นครกดินเผาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นี่ เขาทำสืบทอดกันมาเป็นร้อยปีแล้ว”นายอำเภอท่าอุเทนย้ำทิ้งท้าย
นับเป็นอีกก้าวผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบายกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยของนายอำเภอท่าอุเทน”ปรีชา สะอิ้งทอง”ผ่านโครงการ”บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง”