กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก พร้อมเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโดยใช้กลไกสหกรณ์
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อเดินหน้าชน ปุจฉา “อุ้มข้าว” เกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก เพื่อดูดซับข้าวออกจากตลาดช่วงฤดูกาลผลิต แบ่งเป็นสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกโดยเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉาง ได้ค่าฝากตันละ 1,500 บาท ซึ่งการรับฝากแบบนี้เหมือนการจำนำข้าว หากราคาข้าวสูงกว่าราคาที่ฝากเก็บ (จำนำ) ชาวนาก็ไปไถ่ถอนออกมาแล้วนำไปขาย จะได้ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอชี้แจงว่า ทั้ง โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวหรือสร้างมูลค่าเพิ่มที่จัดทำขึ้นนี้ เป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น หากเกษตรกรพึงพอใจกับราคาในตลาด ขณะที่ข้าวเปลือกเข้าสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงต้นฤดู เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ทันที
ส่วนในประเด็นราคาเป้าหมายที่กำหนดเป็นข้าวเกี่ยวสดความชื้นที่ 25% ทั้งที่ความชื้นอยู่ที่ 15% นั้น โดยทั่วไปแล้ว ข้าวเปลือกที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวในพื้นที่นาก่อนจำหน่ายไปยังคนกลางหรือสถาบันเกษตรกรจะมีความชื้นที่ 26 – 30% ซึ่งไม่สามารถเก็บไว้ได้นานหากไม่มีการลดความชื้นลงเหลือระดับที่ต่ำกว่า 17% เกษตรกรจึงมักลดความชื้นโดยวิธีตาก และการตากข้าวเปลือกสดในพื้นที่กว้างมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนค่อนข้างมาก การซื้อขายข้าวเปลือกในปัจจุบันจึงมักใช้ผู้ให้บริการทางการเกษตรในพื้นที่ (รถเกี่ยว) ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้จะเป็นตัวกลางในการจำหน่ายข้าวเปลือกสดหลังเก็บเกี่ยวทันทีเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการลดความชื้นแทนเกษตรกรต่อไป ซึ่งจะสรุปได้ว่าตลาดข้าวเปลือกนิยมรับซื้อข้าวเปลือกในลักษณะข้าวเปลือกสด ที่มีความชื้นสูง 25 – 30%
นอกจากนี้ ในเรื่องสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยให้สหกรณ์ไปซื้อข้าวเปลือกแข่งกับโรงสีหรือพ่อค้าข้าวในราคาที่ความชื้น 25% สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1 รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 – 3.85 ระยะเวลา 15 เดือน วงเงินรวม 481 ล้านบาท ที่มีข้อสงสัยว่าสหกรณ์ที่เข้าร่วมมีกี่แห่งที่มีเครื่องอบข้าว และพื้นที่รองรับในการเก็บ นั้น นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตข้าวเปลือก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดมีเสถียรภาพ โดยให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเก็บข้าวเปลือกไว้แปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรสินค้าข้าวครบวงจรเพื่อให้สหกรณ์ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การตลาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการจัดทำแผนธุรกิจ และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์กับผู้ประกอบการ อีกทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายสหกรณ์ผ่านการพัฒนาโครงการแบบมีส่วนร่วมของสหกรณ์ โดยเป้าหมายสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 421 แห่ง ในพื้นที่ 60 จังหวัด มีแผนรวบรวมข้าว 4 ล้านตัน ซึ่งในปัจจุบันมีโรงสีที่ใช้งานได้ 126 โรง ใน 123 สหกรณ์ กำลังการผลิตรวม 4,154 ตัน/วัน มีไซโล 43 แห่ง ศักยภาพการจัดเก็บ 53,600 ตัน ในพื้นที่ 23 จังหวัด 35 สหกรณ์ มีฉาง/โกดัง 875 หลัง ศักยภาพการจัดเก็บ 617,840 ตัน ในพื้นที่ 53 จังหวัด 370 สหกรณ์ รวมทั้งลานตาก 712 ลาน พื้นที่ 2,323,677 ตารางเมตร ในพื้นที่ 52 จังหวัด 369 สหกรณ์ และอุปกรณ์อบแห้ง/ลดความชื้น 92 แห่ง 13,290 ตัน/วัน ในพื้นที่ 33 จังหวัด 66 สหกรณ์
สำหรับในประเด็นสหกรณ์ซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาด หากทุนรัฐบาลจะชดเชยหรือไม่นั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันเกษตรกรเป็นองค์กรของเกษตรกร การดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตจะดำเนินธุรกิจรวบรวมภายใต้มติคณะกรรมการของสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ แล้ว ประกอบกับสหกรณ์มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีอิสระในการตัดสินใจทางธุรกิจหรือความต้องการเข้าร่วมโครงการฯ ตามมาตรการที่จัดทำขึ้น ซึ่งถ้าหากเกิดกรณีขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ จึงควรเป็นความรับผิดชอบของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตาม ส่วนงานภาครัฐยังกังวลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของสหกรณ์ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ภายใต้มาตรการ จึงได้จัดเตรียมโครงการอบรมให้ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในมิติต่างๆ ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นต่อไป