สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนฯเตรียมนำร่องชุมพรลงนามสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับดูไบ โฮลดิ้งปลายเดือนพ.ย.นี้ เผยล๊อตแรก 5 พันตันคาร์บอน

ว่าที่ร้อยตรีไสว แสงสว่าง ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยในฐานะประธานสถาบันประเมินมูลค่าไม้และคาร์บอนเครดิต

ว่าที่ร้อยตรีไสว แสงสว่าง ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยในฐานะประธานสถาบันประเมินมูลค่าไม้และคาร์บอนเครดิตเปิดเผยว่าชุมพร ถือเป็นจังหวัดนำร่องในการประเมินมูลค่าต้นไม้และคาร์บอนเครดิตเพื่อเสนอขายไปยังผู้ซื้อ โดยขณะนี้ทางเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดชุมพรเตรียมลงนามสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง ดูไบ โฮลดิ้ง ประมาณ 5,000 ตันคาร์บอนจากสมาชิกในเครือข่าย 81 รายจำนวน 151 แปลง มีจำนวนต้นไม้เสนอขายทั้งสิ้น 23,000 ต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องของต้นไม้ที่เสนอขาย โดยทีมงานบริษัทผู้ซื้อร่วมกับเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายเจ้าของต้นไม้ ซึ่งคาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ จากนั้นก็จะทำการลงนามในสัญญาซื้อขายต่อไป

“วันนี้ดูไบ โฮลดิ้งเขาส่งทีมมาสุ่มตรวจว่าสินค้าที่เราเสนอขายไปตรงปกหรือไม่ ตรวจสอบดูว่าถูกคนถูกที่ถูกสเปคหรือไม่ เช่นถูกคนคือต้องเป็นเจ้าของต้นไม้ตัวจริง ถูกที่หมายถึงที่ดินจะต้องไม่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นที่มีเอกสารสิทธิ์เช่น โฉนด นส.3 หรือส.ป.ก.ถูกต้นคือที่เสนอขายจะต้องเป็นต้นไม้ที่ตามข้อมูลได้ส่งมอบ โดยจะทำการสุ่มตรวจร้อยละ5 ของจำนวนต้นไม้ที่เราเสนอขายไปทั้งหมด”ว่าที่ร้อยตรีไสวเผย

ประธานสถาบันประเมินมูลค่าไม้และคาร์บอนเครดิตเผยต่อว่าสำหรับต้นไม้ที่เสนอขายส่วนใหญ่ก็จะเป็นกระถินเทพา กฤษณา ยางนา ตะเคียนทอง มะฮอกกานี พะยอม ชะมวง เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 186 ชนิดที่สามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยจะต้องมีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เนื่องจากจะมีปริมาณคาร์บอนมากพอสมควร ซึ่งจากการคำนวณไม้ 1 ลูกบาศก์เมตรจะสามารถดูดซับคาร์บอนอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตามการทำสัญญาซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งนี้เป็นการทำสัญญาปีต่อปี ในระหว่างนี้เจ้าของห้ามโค่น ห้ามตัดหรือห้ามจำหน่ายจ่ายแจก โดยจะต้องดูแลรักษาต้นไม้ต้นนั้นเป็นอย่างดี หลังลงนามทำสัญญาซื้อขายเสร็จเรียบร้อย ทางผู้ซื้อคือ บริษัทดูไบ โฮลดิ้งก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรสมาชิกเจ้าของต้นไม้ต้นนั้นโดยตรงในทันที

“ล๊อตนี้เป็นครั้งแรกที่เราเสนอขายไป 2.3 หมื่นต้น เฉพาะชุมพรมีไม้ไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนต้น ตอนนี้เรานำร่องทำไปได้ 2 หมื่นกว่าเหลืออีกแสนกว่าต้นแต่ต้องรอลุ้นล๊อตแรกก่อนว่าจะผ่านเรียบร้อยดีหรือไม่ ถ้าผ่านเราก็จะทำทั้งจังหวัด จากนั้นก็จะขยายผลไปยังในพื้นที่อื่น ๆ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป”ประธานสถาบันประเมินมูลค่าไม้และคาร์บอนเครดิตกล่าว

ว่าที่ร้อยตรีไสวระบุอีกว่าขณะนี้เราได้ไปสร้างเครือข่ายธนาคารต้นไม้เอาไว้กว่า 6,800 ชุมชนในทุกจังหวัดและมีต้นไม้ที่จะขายได้ประมาณ 12 ล้านต้นที่สำรวจไว้ในระบบ แต่จริงๆแล้วน่าจะมีประมาณ 100 ล้านต้น เพียงแต่ยังทำการสำรวจไม่หมด จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลในการรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนหันมาปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ต้นไม้ยังเป็นหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงินได้อีกด้วย เห็นได้จากสาถบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับลูกค้าเป็นอย่างดี

“ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลเอาเงิน 5.6 แสนล้านที่จะมาแจกประชาชนมาสนับสนุนให้พี่น้องปลูกต้นไม้จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า เพราะต้นไม้มีการเจริญเติบโตทุกวันโดยเฉพาะประเทศไทยต้นไม้โตเร็วที่สุดในโลก มูลค่าที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย วนละ 3 บาทต่อต้น ถ้าพี่น้องปลูกพันต้นก็จะมีเงินออมเกิดขึ้นวันละ 3 พันบาทไม่มีวันหมดก็จะเป็นบำเหน็จบำนาญส่งมอบต่อไปยังลูกหลานด้วย”ประธานสถาบันประเมินมูลค่าไม้และคาร์บอนเครดิตกล่าว

ว่าที่ร้อยตรีไสวยอมรับว่าขณะนี้นับเป็นสัญญาณที่ดี ทางกลุ่มบริษัทผลิตน้ำมันในประเทศตะวันออกกลางหลายบริษัทมุ่งเป้ามายังประเทศไทยทำการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกต่างๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ล่าสุดกลุ่มบริษัทในสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาซื้บริษัท รถเมล์กรุงเทพให้เปลี่ยนน้ำมันเป็นอีวี เขาซื้อคาร์บอนเครดิต 5 แสนตัน ๆ ละ 2,000 บาท และกลุ่มบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ในมาเลย์เซียก็เตรียมจะเข้ามาขอซื้อคาร์บอนเครดิตในประเทศ เพราะเขารู้ว่าบ้านเรามีต้นไม้เยอะ จึงเป็นโอกาสทองของประเทศและพี่น้องเกษตรกรไทยจะมีรายได้จากส่วนนี้ ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าและภาวะโลกร้อนอีกด้วย

“จากข้อมูลล่าสุดปีที่แล้ว(2565) เฉพาะทวีปยุโรปมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตคิดเป็นเงินไทยมูลค่าสูงถึง 25 ล้านล้านบาท ถ้ารวมประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกมูลค่าเกือบ ๆ 40 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว จึงอยากให้รัฐบาลหันมาสนใจในเรื่องคาร์บอนเครดิตมากขึ้น โดยจะต้องมีความชัดเจนทั้งในเรื่องข้อกฎหมายคาร์บอนเครดิตและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่ผ่านมามีเพียงภาคประชาชนเท่านั้นที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะหน่วยงานภาครัฐจะมุ่งเน้นไปในเรื่องซีเอสอาร์เป็นหลัก”ประธานสถาบันประเมินมูลค่าไม้และคาร์บอนเครดิตกล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคม 2566 นี้ สถาบันประเมินมูลค่าไม้และคาร์บอนเครดิตร่วมกับสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนและสถาบันคุณวุฒิวชาชีพเตรียมจัดประชุมสัมมนาใหญ่ที่จ.ปทุมธานี โดยเชิญสมาชิกเครือข่ายธนาคารต้นไม้และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนทั่วประเทศร่วมหารือแนวทางการจัดระบบต้นไม้และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมทั้งวางแผนจัดอบรมผู้ตรวจประเมินต้นไม้สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วย