เจาะแผนบริหารจัดการน้ำฝ่าวิกฤตเอลนีโญ แม้ไม่รุนแรงแต่ก็ไม่ประมาท

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่กลายเป็นภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อประชากรโลกเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม แผ่นดินไหว ไฟป่า คลื่นความร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และภัยอื่น ๆ


สำหรับประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพภูมิอากาศโลก พบว่า ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงระหว่างปี 2566 – 2567 นี้ ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าว เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิกอย่างรวดเร็ว ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียรวมทั้งประเทศไทย ฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และอาจจะเกิดภาวะความแห้งแล้ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตดังกล่าว จึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ โดยมี “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี เป็นขุนพลใหญ่ที่รับผิดชอบการบริหารจัดการ “น้ำ” ทั้งหมดของประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และกำกับดูแล สทนช. หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศด้วย


ล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รองนายกฯ สมศักดิ์ เป็นประธานการประชุม กนช. ครั้งแรก ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดยมีทั้งหมด 9 มาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่
1.เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาด แคลนน้ำ โดยรองนายกฯ มอบหมายให้เร่งสแกนหาพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อจะหาแนวทางช่วยเหลือ 2. ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปฏิบัติการฝนหลวง เติมน้ำใต้ดิน และสูบผันน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 3. กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เป็นไปตามแผน สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง 4. บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 5. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน 6. เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ 7. เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ 8. สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ และ 9. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้มาตรการมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน


นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ประธาน กนช. ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับ ทั้ง 9 มาตรการดังกล่าว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้ สทนช. ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง ตลอดจนการเตรียมแผนงานโครงการ หากมีความจำเป็นที่จะต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์
แม้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากปรากฎการณ์เอลนีโญแล้ว แต่ยังเป็นโชคดีที่ในช่วงปลายฤดูฝน มีหย่อมความกดอากาศต่ำและร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น อย่างน้อยมีอ่างฯ ขนาดใหญ่ 19 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก หรือมากกว่า 81% ของปริมาณความจุ เช่น อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างฯ กิ่วคอหมา จ.ลำปาง อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก อ่างฯ อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างฯ ลำปาว จ.กาฬสินธุ์ อ่างฯ สิรินธร จ.อุบลราชธานี อ่างฯ ป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี-สระบุรี เขื่อนวชิราลงกรณจ.กาญจนบุรี อ่างฯ ขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เป็นต้น โดยปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างฯ ขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นในการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2566/2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 60,884 ล้าน ลบ.ม. หรือ 80% ของปริมาณความจุ โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 36,941 ล้าน ลบ.ม. หรือ 71% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,349 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 อ่างฯ หลัก รวมกันทั้งสิ้น 17,781 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของปริมาณความจุ โดยปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 11,085 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ น้อยกว่าปีที่แล้ว 2,989 ล้าน ลบ.ม.
“จากข้อมูลที่ได้รับรายงาน ทำให้ทราบว่าแม้จะมีฝนตกหนักในช่วงปลายฤดูฝน แต่ปริมาณฝนเฉลี่ยในปีนี้ยังต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 9% และปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ก็น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นจำเป็นจะต้องรณรงค์ใช้น้ำกันอย่างประหยัด ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้ สทนช.บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรม ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1.เพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปา 2.เพื่อการรักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 4.เพื่อการเกษตร 5.เพื่อการอุตสาหกรรม และ 6.เพื่อการพาณิชย์และท่องเที่ยว” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ให้ความสำคัญในการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในฤดูฝนปี 2566 ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับสภาวะเอลนีโญ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางมาตรการรับมือ ทำให้การบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากอุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ รวมทั้งยังได้วางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับประเทศอีกด้วย
สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรนั้น จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงปลายฤดูฝน ประกอบกับการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติม ในการรับมือเอลนีโญของรัฐบาล ทำให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอที่จะจัดสรรให้เกษตรกรในเขตชลประทานปลูกพืชในฤดูแล้ง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะสามารถปลูกข้าวทั้งประเทศรวมกันได้ประมาณ 8 ล้านไร่ โดยได้วางมาตรการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ไว้ดังนี้
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 อ่างฯ หลัก คือ อ่างฯ ภูมิพล อ่างฯ สิริกิติ์ อ่างฯ เแควน้อยบำรุงแดน
และอ่างฯ ป่าสักชลสิทธิ์ จะสามารถจัดสรรน้ำในการสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2566/2567 ประมาณ 3.03 ล้านไร่ ลุ่มน้ำแม่กลอง ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างฯ ศรีนครินทร์และอ่างฯ วชิราลงกรณ จะสามารถจัดสรรน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรัง ได้เต็มพื้นที่ชลประทาน ในขณะที่พื้นที่ชลประทานในเขตลุ่มน้ำอื่นๆ จะมีการจัดสรรน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก และพืชชนิดอื่นๆ ในเขตพื้นที่ชลประทานของอ่างฯ แม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ อ่างฯ กิ่วลม จ.ลำปาง อ่างฯ ลำตะคอง อ่างฯ มูลบน จ.นครราชสีมา อ่างฯ ลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ อ่างฯ ทับเสลา จ.อุทัยธานี อ่างฯ กระเสียว จ.สุพรรณบุรี อ่างฯ คลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา อ่างฯ ประแสร์ จ.ระยอง อ่างฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อ่างฯ ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่างฯ น้ำพุง จ.สกลนคร และอ่างฯ รัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนในบางพื้นที่ พบว่า มีพื้นที่ชลประทานที่ไม่สามารถจัดสรรน้ำ
เพื่อการเกษตรฤดูแล้งปี 2566/2567 ได้แก่ พื้นที่ชลประทานของอ่างฯ จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ อ่างฯ ลำพระเพลิง อ่างฯ ลำแซะ
จ.นครราชสีมา และอ่างฯ หนองปลาไหล จ.ระยอง เป็นต้น ซึ่ง สทนช. จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปส่งเสริมอาชีพทางเลือก โดยจัดทำเป็นเมนูอาชีพให้เกษตรกรเลือกได้ตามความประสงค์ รวมทั้ง ยังจะมีการจ้างงานนอกภาคการเกษตรกรอีกด้วย เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร
ส่วนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น อ่างฯ ขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 6 แห่ง มี 4 แห่ง มีปปริมาณน้ำมากกว่า 90% ผนวกกับโครงข่ายน้ำที่มีอยู่ จะช่วยเสริมความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ EEC ให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการในฤดูแล้งปีนี้ แม้จะมีสภาวะเอลนีโญเกิดขึ้นก็ตาม
แม้ว่าประเทศไทยจะประสบวิกฤตเอลนีโญที่เกิดขึ้นในปีนี้ และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567….แต่ด้วยการวางแผนที่รัดกุม และความร่วมมือของทุกภาคส่วน ก็มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างแน่นอน