ปิดทองหลังพระกับภารกิจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช.
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เพื่อทำหน้าที่ในการบูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ จากวันนั้นถึงวันนี้ผลงานของ สทนช.เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ภายใต้แม่ทัพที่ชื่อ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีระบบ มีความสมดุลครอบคลุมทุกมิติ สามารถลดการทำงานซ้ำซ้อนกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่มีกว่า 40 หน่วยงาน รวมทั้งยังสามารถวิเคราะห์ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำได้ทันต่อสถานการณ์ และที่สำคัญได้วางรากฐานสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบนหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
ดังนั้นการทำงาน สทนช.นั้น จึงเปรียบเสมือน “การปิดทองหลังพระ” ที่จะต้องอยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ ในการแก้ปัญหาด้านน้ำ ก่อนที่จะขับเคลื่อนสู่เบื้องหน้าเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
ผลงานด้านน้ำของหน่วยงานที่นำนโยบาย แผนงาน โครงการไปปฏิบัติ จึงเป็นผลงานการขับเคลื่อนของผู้ที่อยู่เบื้องหลังอย่างเช่น สทนช.ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะการสร้างอ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำต่างๆ หรือแม้แต่ฝายแกนดินซีเมนต์ ที่จะสร้างในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สทนช.ก็อยู่เบื้องหลังในการพิจารณาความเหมาะสม รูปแบบการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับผลงานด้านน้ำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สทนช.จะร่วมอยู่เบื้องหลังในการบูรณาการขับเคลื่อนงานให้สำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์เกือบทั้งสิ้น
ที่ผ่านมา สทนช.ได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ที่แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2564-2566 เป็นต้นมา มีมากถึง 98 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 353 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 320,000 ไร่ มีพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 98,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 170,000 ครัวเรือน และในปี 2567 ยังมีโครงการสำคัญที่เสนอขอรับงบประมาณผ่านระบบ Thai Water Plan อีกจำนวน 35 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้อีก 571 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 140,000 ไร่ มีพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 350,00 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 320,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังได้วางแผนจะขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตอีกหลายโครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด คลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
การบริหารจัดการน้ำก็เช่นกัน สทนช. มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำและมาตรการรองรับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในปี 2564 และปี 2565 ที่มีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในปี 2565 ปริมาณฝนใกล้เคียงกับปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย แต่ด้วย สทนช.บูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยกว่าปี 2554 อย่างมาก มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดล่าสุดในช่วงฤดูฝน ปี 2566 ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ได้วางมาตรการที่ทำให้ไม่ประสบปัญหาและเสียหายมาก ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผ่านพ้นวิกฤติ และที่สำคัญมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอที่จะทำนาปรังได้ประมาณ 8 ล้านไร่ ทั่วประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาประมาณ 3 ล้านไร่
นอกจากนี้ สทนช.ยังได้วางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี พร้อมทั้งได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีเป้าหมายให้มีปริมาณน้ำเพียงพอถึงปี 2568
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โลกร้อนขึ้น ภัยธรรมชาติต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น การเกิดโรคระบาดที่ร้ายแรง เป็นต้น สทนช.จึงได้มีทบทวนปรับปรุงและพัฒนาแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ใหม่ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยมีการกำหนดเป้าหมายอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมากขึ้น และมีทิศทางการการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
สทนช.ยังได้ผลักดัน เร่งรัด การจัดทำกฎหมายฉบับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อที่จะให้การบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำเกิดความเป็นเอกภาพในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยในการนำกฎหมายไปใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 35 ฉบับ ดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว จำนวน 27 ฉบับ คงเหลืออีกเพียง 8 ฉบับ ที่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนดก่อนมีการประกาศใช้ต่อไป
ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา สทนช.มีการแปลงเปลี่ยนเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขงานเดิมให้ถูกต้องตามระเบียบและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการเสนอนโยบายใหม่ และเร่งรัดขับเคลื่อนเพื่อให้งานด้านบริหารจัดการน้ำเกิดการบูรณาการแก้ปัญหาด้านน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการวางกรอบแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำให้แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำเกิดการบูรณาการร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน ระหว่างหน่วยงาน จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พร้อมทั้งได้จัดทำคู่มือการบำรุงรักษาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนข้อมูล กลั่นกรอง เพื่อแก้ปัญหาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดองค์ความรู้ในการปรับปรุง ซ่อมแซม บำรุงรักษา โครงการแหล่งน้ำที่ได้รับการถ่ายโอนจากหน่วยงานราชการ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีรวมทั้งยังได้ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาคู่มือแนวปฏิบัติการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นแนวทางในการบูรณาการ พัฒนาและปรับปรุงแผนแม่บทลุ่มน้ำ อันจะนำไปสู่แผนแม่บทลุ่มน้ำที่สะท้อนความต้องการของลุ่มน้ำภายใต้ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ สทนช.ยังได้ยกระดับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่เป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ผ่านองค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ จนถึงระดับนโยบาย นั่นคือ กนช.
“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของ สทนช.ก็เช่นกัน เปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระ หากเข้าใจบทบาท ภารกิจ ที่แท้จริงแล้วก็จะเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ ร่วมเป็นกำลังใจให้หน่วยงานที่ปิดทองหลังพระ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศสมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด