เปิดแผนงานอ.อ.ป.ปี 2567 มุ่งเป้าส่งออกไม้เพิ่มหลังรัฐปลดล็อคภาษีขาออก

เปิดแผนการทำงานอ.อ.ป.ปี2567 มุ่งเป้าส่งออกไม้เพิ่ม50% หลังรัฐบาลปลดล็อคภาษีขาออกเหลือ10% ส่วนในประเทศเน้นจำหน่ายไม้แปรรูปผ่านโรงเลื่อยทั้ง 5 แห่งและคู่ค้าเอกชนเพื่อนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยถึงนโยบายการทำงานในปีงบประมาณ 2567 โดยระบุว่าหลังจากที่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งได้ปีกว่าได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง มั่นคงและยั่งยืน ทั้งในเรื่องธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้และการจัดการสวนป่ายั่งยืน โดยเฉพาะไม้สัก ซึ่งเป็นไม้หลักของอ.อ.ป.ที่ทำรายได้มาสู่องค์กร

“ปกติอ.อ.ป.จะผลิตและขายไม้แปรรูปทุกชนิดเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนใหญ่จะขายผู้ประกอบธุรกิจไม้ในประเทศ แต่หลังรัฐบาลปลดล็อคเรื่องภาษีขาออกเมื่อปี 2563 อ.อ.ป.ก็ส่งออกไม้สักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 500-1,000 ลูกบาศก์เมตร มาปีนี้(2566)ส่งออกเพิ่มขึ้น 4,000 กว่าลูกบาศก์เมตร ส่วนปีหน้า(2567) ตั้งเป้าไว้เกิน 5,000 แน่นอนหรืออาจจะถึงหมื่นลูกบาศก์เมตร สำหรับในประเทศเรามีลูกค้าประจำอยู่แล้วทั้งเอกชนรายใหญ่รายย่อยซื้อเพื่อนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ แล้วก็ส่งออกบ้างบางส่วน”นายสุกิจเผยปริมาณการผลิตและจำหน่ายไม้สักแปรรูปของอ.อ.ป. ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้เขาชี้ว่าผลจากการปลดล็อคภาษีของรัฐบาลจากเดิมเก็บอยู่ที่ 40% ลดลงเหลือ 10% เมื่อปี 2563 ส่งผลทำให้มีการส่งออกไม้สักเพิ่มขึ้นโดยอินเดียเป็นประเทศคู่ค้าหลัก และเป็นตลาดใหญ่ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่มาจากทั่วโลก เนื่องจากคนอินเดียชื่นชอบไม้ชนิดนี้ ต่างจากคนจีนจะนิยมไม้ที่มีเนื้อสีแดง อาทิไม้พะยูง ไม่มะค่า ไม่ชิงชัน เป็นต้น

ส่วนไม้โตเร็วจำพวกกระถินเทพา ไม้ยูคาลิปตัสนั้น นายสุกิจระบุว่ามีเป้าหมายต้องการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1.1 แสนไร่ ทั้งนี้เพื่อให้มีความสัมพันธ์กับไม้โตช้าอย่างไม้สัก ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5 แสนไร่

“ไม้โตช้ากว่าจะให้ผลผลิตใช้เวลาก็อย่างน้อย 15 ปี แต่ไม้โตเร็ว 4-5 ปีก็สามารถตัดขายได้แล้ว ทำให้การลงทุนไม้โตเร็วได้เงินกลับมาเร็วขึ้น อย่างไม้โตเร็วตัดได้ 3 รอบ เท่ากับไม้โตช้าได้แค่รอบเดียว ไม้โตเร็วยิ่งมากทำให้การเงินของเราหมุนเวียนดีขึ้น”ผู้อำนวยการอ.อ.ป.เผยข้อแตกต่างการสร้างรายได้ระหว่างไม้โตช้ากับไม้โตเร็ว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันอ.อ.ป.มีพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่าไม้เศรษฐกิจทั้งหมด 1.158 ล้านไร่ รวม 245 สวนป่า กระจายอยู่ทั่วประเทศแบ่งตามชนิดได้ ประกอบด้วย ไม้สักทอง 5 แสนไร่ ไม้ยูคาฯ 1 แสน 1 หมื่นไร่ ไม้ยางพารา 8 หมื่นไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นไม้ยืนต้นอื่น ๆ และไม้ผล

นอกจากนี้อ.อ.ป. ยังมีโรงเลื่อยและโรงงานแปรรูปไม้สักสวนป่าอีกจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.โรงเลื่อยอู่บกพหลโยธิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 2.โรงเลื่อยอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 3.โรงเลื่อย แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 4.ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก อ.ร้องกวาง จ.แพร่ และ5.โรงงานอบไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ บางโพ กรุงเทพมหานคร

ผู้อำนวยการอ.อ.ป.ยอมรับว่าที่ผ่านมาอ.อ.ป.มีปัญหาเรื่องการลงทุน เพราะเหตุว่าการลงทุนเรื่องป่าเป็นนำกระแสเงินสดมาใช้หมุนเวียนมากขึ้น ทำให้ขาดสภาพคล่อง โดยเราพยายามแก้ไขด้วยวิธีไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากว่าพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจของอ.อ.ป.เป็นพื้นที่ป่าสงวน จึงไม่มีสถาบันการเนใดยอมปล่อยกู้ จึงจำเป็นต้องเอาพื้นที่มีโฉนดของอ.อ.ป.ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 พันไร่ทั่วประเทศปล่อยให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ในระยะยาว 30 ปี ทำให้มีเงินนำมาหมุนเวียนในองค์กรได้ระดับหนึ่ง

“ขณะนี้อ.อ.ป.ได้ดำเนินการปล่อยให้เอกชนเช่าไปแล้ว 4 แห่งคือที่บางโพ ดอนเมือง ศรีราชาและหาดใหญ่ เป็นโครงการเช่าระยะยาว 30 ปี นอกจากนี้ยังมีผลผลิตจากยางพาราอีก 8 หมื่นกว่าไร่ ได้ปริมาณน้ำยางเฉลี่ย 6 พันตัน/ปี ก็มีรายได้เฉลี่ยอยู่ 300-400 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคายางในประเทศด้วย”

ส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล นายสุกิจระบุว่าแต่ละปีได้มาประมาณ 100-200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินโครงการตามนโยบาย อย่างเช่นโครงการส่งเสริมปลูกป่าแก่ประชาชนที่สนใจ หรือโครงการสัตวแพทย์สัญจรสำหรับการดูแลรักษาช้างป่วยทั่วประเทศ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 พันกว่าเชือก เป็นการรักษาให้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

“ในส่วนของอ.อ.ป.เองก็มีช้างอยู่จำนวน 119 เชือกและยังรับภารกิจสำคัญดูแลช้างให้กับสำนักพระราชวังด้วย ทั้งที่ลำปางและที่สกลนคร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราทำสนองงานทางสำนักพระราชชวัง หากตรวจพบช้างเชือกใดป่วยหนักก็จะพามารักษาที่โรงพยาบาลช้าง ซึ่งเรามีอยู่ 2 แห่งคือที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างฯอ.ห้างฉัตร จ.ลำปางและที่อ.คลองท่อม จ.กระบี่”ผู้อำนวยการอ.อ.ป.กล่าวย้ำทิ้งท้าย