รมว.ธรรมนัส นำทีมเกษตรฯ ร่วมหารือ รมช.เกษตรจีน กระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้น ผลักดันการยกระดับการค้าการลงทุนสินค้าเกษตร ไทย-จีน อย่างยั่งยืน

วันที่ 11 ต.ค.66 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับ
นายเติ้ง เซี่ยวกัง (H.E.Mr.Deng Xiaogang) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท สาธารณรัฐประชาชนจีน (Ministry of Agriculture and Rural Affairs : MARA) และคณะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการเกษตรของไทยและจีน พร้อมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือด้านการเกษตรเชิงนโยบาย รวมทั้งการผลักดันการค้าการลงทุนสินค้าเกษตรและอาหารไทย-จีน ให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน โดยได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของไทย มูลค่าการส่งออกของสินค้าเกษตรในปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 222,540 ล้านบาท เป็น 249,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.22

“วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทั้ง 2 ประเทศ เห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรที่เหมาะสม ผ่านกลไกความร่วมมือทวิภาคีของกระทรวงเกษตรฯไทยและจีน โดยกระทรวงเกษตรฯจีน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรไทย-จีน ครั้งที่ 13 ในปี 2567 โดยประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายสนใจ คือ การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายการค้าการลงทุนด้านการเกษตรระหว่างกัน ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการเกษตร (กรอ.กษ.) จะมีส่วนสำคัญในสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนด้านการเกษตรดังกล่าว รวมไปถึงการยกระดับความร่วมมือพหุภาคี ภายใต้กรอบอาเซียนบวกสาม (จีน-ญี่ปุ่น-สาธารณรัฐเกาหลี) นอกจากนี้ ในด้านการบริหารจัดการระบบมรดกทางการเกษตรโลก (Globally Important Agricultural Heritage Systems : GIAHS) กระทรวงเกษตรฯ จีน มีความสำเร็จในการขึ้นทะเบียน GIAHS มากที่สุดในโลก ถึง 19 แห่ง และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการระบบมรดกทางการเกษตรโลกให้กับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 1 แห่ง คือ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

สำหรับการเอาชนะความยากจน กระทรวงเกษตรฯของทั้ง 2 ประเทศ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้มีการแก้ไขปัญหาและสามารถเอาชนะความยากจน โดยการปฏิบัติการขจัดความยากจนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ในการพัฒนาด้านการเกษตรและความมั่นคงในชนบท ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ประสบความสำเร็จในการขยายการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน โดยได้เห็นชอบร่วมกันกับฝ่ายจีน ที่จะมีการลงนามในพิธีสารฯ การส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง 2) เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและสิ้นส่วนสัตว์ 3) ต้นสนใบพาย และ 4) เสาวรสผลสด

สำหรับมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน ในปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 498,694 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนมูลค่า 406,305 ล้านบาท สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ 1) ทุเรียนสด 106,038 ล้านบาท 2) มันสำปะหลัง 51,296 ล้านบาท 3)สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง 37,631 ล้านบาท 4) ยางธรรมชาติทีเอชเอ็นอาร์ 30,491 ล้านบาท และ 5) น้ำยางธรรมชาติ 18,144 ล้านบาท ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนมูลค่า 92,389 ล้านบาท สินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ 1) องุ่นสด 7,074 ล้านบาท 2) แอปเปิลสด 6,505 ล้านบาท 3) สัตว์น้ำแช่เย็นจนแข็ง เช่น หมึกกระดอง 3,643 ล้านบาท 4) ปลาทูนากระป๋อง 3,504 ล้านบาท และ 5) อาหารสัตว์ 3,402 ล้านบาท