รมช. ไชยา” ลุยกาฬสินธุ์ตรวจน้ำท่วม กดปุ่มประตูพร่องน้ำกู้วิกฤติเขื่อนล้น พร้อมมอบถุงยังชีพเวชภัณฑ์ยา และอาหารสัตว์ ช่วยเหลือประชาชน
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ,นายพลากร พิมพะนิตย์ ,นายทินพล ศรีธเรศ, นายประเสริฐ บุญเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่รับฟังการรายงานปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว และสถานการณ์น้ำท่วม
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วงเนื่องจาก เขื่อนลำปาว ยังจำเป็นที่จะต้องทำการระบายน้ำ เนื่องจากอิทธิพลน้ำป่าที่ไหลเข้ามา จาก จ.อุดรธนี และ แนวเขตเทือกเขาภูพาน ได้เติมเข้าอ่างอย่างต่อเนื่องเฉพาะวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้เกินปริมาณกักเก็บ ซึ่งแนวทางซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มาตรวจเยี่ยม จะมีการนำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนทางน้ำ ให้มีการผันน้ำลงแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการทำอุโมงค์หรือการสร้างระบบชลประทาน ให้ครบวงจร ที่จำเป็นจำต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่หากเปรียบเทียบความเสียหายในแต่ละปี เชื่อว่าจะเป็นแผนที่ดีในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน สำหรับวันนี้เรากดปุ่มลดระดับของบานประตูระบายน้ำให้อยู่ในระดับ 20 ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อชะลอการระบายน้ำไปยังช่วงท้ายเขื่อน ในด้านแผนแก้ไขระยะสั้นในครั้งนี้ จะมีการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อนในด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวมทั้งเตรียมสนับสนุนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ภาคการผลิต ในการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ทนทานทุกสภาพอากาศ เพื่อสร้างโอกาสในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด” ในโอกาสนี้ นายไชยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการมอบถุงยังชีพ ชุดเวชภัณฑ์ พร้อมสนับสนุนฟางอัดก้อน จำนวน 6,000 กิโลกรัม หญ้าสด และถุงยังชีพสำหรับสัตว์ และให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า (อพยพสัตว์) จำนวน 2,876 ตัว รวมถึงเร่งสำรวจความเสียหาย และจัดเตรียมข้อมูล เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ/เฝ้าระวัง/เตรียมรับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าหลายครอบครัวเริ่มป่วยเป็นโรคผิวหนังและซึมเศร้า ซึ่งทางสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้จัดทีมแพทย์เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็จัดเตรียมเรือและการอพยพประชาชนหากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ สำหรับแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานระยะยาว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย กรมชลประทาน ในการศึกษาความเป็นไปได้ของแผนการปรับเปลี่ยนทางน้ำ ให้มีการผันน้ำลงแม่น้ำโขง จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการอุโมงระบายแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขง 2) โครงการสร้างบายพาสแม่น้ำชี-มูล เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและลดปริมาณน้ำสะสมบริเวณคอขวดแม่น้ำ และลดปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวต่อไป