รมช.ไชยา เยือนมาเลเซีย ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 ชูเกษตรยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นที่ 5 ต.ค.66 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 (45th ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: AMAF) ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรม Grand Hyatt Kuala Lumpur กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยการประชุมที่เกี่ยวข้องมี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง นายประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นางสาวลดา ภู่มาศ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือด้านการเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน
ในโอกาสนี้ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวสนับสนุนนโยบายในกรอบอาเซียนด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการเกษตรของไทยที่ให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร การปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการดำเนินการด้านการเจรจาการเกษตรของ ASEAN Negotiating Group on Agriculture หรือ ANGA ภายใต้กรอบสนธิสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ผลักดันความร่วมมือด้าน e-SPS ให้มีการเชื่อมต่อและใช้งานจริงระหว่างกันโดยเร็ว รวมทั้งผลักดันความร่วมมือด้าน traceability และ rapid alert system ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ยกระดับความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรและอาหารในภูมิภาค สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ด้านการเกษตรและป่าไม้ ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำแผนความร่วมมือมิโดริ อาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนผ่านนวัตกรรม เพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับโปรตีน โดยเฉพาะแมลงที่กินได้และโปรตีนจากพืช โดยประเทศไทยหวังว่าจะได้มีความร่วมมือด้านโปรตีนทางเลือกภายใต้แผนความร่วมมือมิโดริ ซึ่งจะส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับโมเดล BCG และแผนความร่วมมือมิโดริด้วย