รมช.ไชยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์โคนมท่าหลวง และเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรหนึ่ง ในสมาชิกสหกรณ์โคนมที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบ I farmer plus กรมปศุสัตว์

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 เวลา 15.30 น. นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะที่ปรึกษารัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และหัวหน้าหน่วยงานราชการกรมปศุสัตว์ เข้าเยี่ยมชมและรับทราบสถานการณ์การเลี้ยงโคนม ณ สหกรณ์โคนมท่าหลวง อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์โคนมต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการทั้งด้านประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมและคุณภาพน้ำนม และเข้าเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรโคนมของนายสมเจตน์ กลิ่นประทุม ซึ่งเป็นฟาร์มที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์โคนมท่าหลวง

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการสหกรณ์โคนมต้นแบบ โดยสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพทั้ง 10 ศูนย์ ทั่วประเทศได้คัดเลือกสหกรณ์โคนมเข้าร่วมโครงการสร้างสหกรณ์โคนมต้นแบบที่มีประสิทธิภาพสูง จำนวน 10 สหกรณ์ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพฯ จะเข้าไปช่วยจัดการระบบฐานข้อมูลโคนมของสหกรณ์ด้วยโปรแกรม G-Dairy ของกรมปศุสัตว์ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนการผลิตน้ำนม การจัดการด้านอาหาร การจัดการระบบสืบพันธุ์ การจัดการด้านสุขภาพ การปรับปรุงพันธุ์ และการจัดการด้านคุณภาพน้ำนม ในการดำเนินการจะมีหน่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (HIU) เข้าติดตามการดำเนินงานเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลโคนม องค์ประกอบน้ำนม พันธุ์ประวัติ การจัดการฝูงโคนม การจัดการอาหาร รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์โคนมภายในฟาร์ม โดยใช้น้ำเชื้อที่มีความเหมาะสม

สำหรับสหกรณ์โคนมท่าหลวง อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เป็นหนึ่งในสหกรณ์โคนมต้นแบบที่มีการดำเนินการร่วมกับศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสระบุรี กรมปศุสัตว์ซึ่งในภาพรวมหลังดำเนินการพบว่าประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์ของโคนม และคุณภาพน้ำนมเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ รมช. เกษตรฯ นายไชยา พรหมา ได้เข้าเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรโคนมของนายสมเจตน์ กลิ่นประทุม ซึ่งเป็นฟาร์มที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์โคนมท่าหลวงมีจำนวนโคนมทั้งหมด 113 ตัว โดยเป็นฟาร์มที่มีการนำระบบแอพพลิเคชั่น I farmer plus ของกรมปศุสัตว์มาใช้ในการเก็บข้อมูลโคนมและแจ้งเตือนเหตุการณ์สำคัญ เช่น กำหนดการตรวจท้องหลังผสม กำหนดเวลาคลอด และกำหนดตรวจระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการจัดการฟาร์มโคนม ได้ดีขึ้นในทุกด้าน ส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิต และรายได้ในฟาร์มโคนมเพิ่มขึ้น

หากสหกรณ์โคนม มีความสนใจโปรแกรม G-Dairy หรือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความสนใจระบบแอพพลิเคชั่น I farmer plus ของกรมปศุสัตว์ ที่ช่วยในการบันทึกข้อมูล และแจ้งเตือนเหตุการณ์สำคัญภายในฟาร์ม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพทั้ง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่