สศก. ร่วมกับ ADB และ AIT ปักหมุดพื้นที่ ต.บัวใหญ่ จุดสาธิตเกษตรพื้นที่สูง จ.น่าน ขับเคลื่อนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตาม โครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง ณ จังหวัดน่าน หรือ TA–9993 THA: Climate Change Adaptation in Agriculture for Enhanced Recovery and Sustainability of Highlands  ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว สศก. ได้ร่วมธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น ผ่านกองทุนเพื่อการลดความยากจนของรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) เป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยได้ร่วมกันคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายเป็นจุดสาธิตการทำเกษตรบนพื้นที่สูงในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน              ณ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งเป็นพื้นที่สูงที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการขาดแคลนน้ำ                      ซึ่ง สศก. รับผิดชอบเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโครงการฯ ร่วมกับ ADB        และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน เป็นผู้รับผิดชอบหลักในระดับพื้นที่ ซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ธันวาคม 2563

สำหรับจุดแปลงสาธิตของคุณนิพัธพล พรมภิระ ณ บ้านทับม่าน หมู่ 4 และคุณบุญส่ง-คุณถาวร ชัยแก้วมา    ณ บ้านหนองห้า หมู่ 8 ปัจจุบัน ได้มีการจัดทำระบบชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Irrigation) ใช้โซล่าร์เซลผลิตไฟฟ้าเพื่อดึงน้ำจากที่ต่ำมาใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ใหม่ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และถ่านชีวภาพ (Biochar) เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยเกษตรกรได้ก่อสร้างเตาเผาถ่านด้วยตนเอง มีการปลูกอะโวคาโด และโกโก้ เป็นพืชทางเลือก โดยทาง AIT ได้สนับสนุนต้นกล้าให้กับทางเกษตรกร รวมถึงยังดำเนินการระบบคีย์ไลน์ คือ ขุดร่องแบบขั้นบันไดเพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลจากที่สูง          และชะลอการพังทลายของหน้าดิน ตลอดจนการส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์โดยใช้ระบบการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS)

ทั้งนี้โครงการฯ จะมุ่งสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่สูงได้เรียนรู้วิธีการและแนวทางการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การรับมือและปรับตัวกับภัยธรรมชาติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมกับพื้นที่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชนบนพื้นที่สูง รวมถึงการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยผลผลิตของโครงการฯ ได้กำหนดไว้ 4 ผลผลิตหลัก ประกอบด้วย ผลผลิตที่ 1 เอกสารองค์ความรู้หรือคู่มือในการประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นที่สูง  ผลผลิตที่ 2 จุดสาธิต และเอกสารองค์ความรู้เรื่องกระบวนการนำแนวทางเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA) ที่เหมาะสมไปสู่การปฏิบัติ ผลผลิตที่ 3 สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์       ที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับภาคเอกชน และผลผลิตที่ 4 สามารถเพิ่มขีดความสามารถของส่วนราชการท้องถิ่นและชุมชนเกษตร ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้