กยท.มอบทุนการศึกษาบุตรชาวสวนยางต่อเนื่อง 4ปีรวม16ล้านบาท มั่นใจช่วยพัฒนายางไทยก้าวสู่ระดับโลก

กยท. มั่นใจการมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี จะช่วยพัฒนาอาชีพการทำสวนยางให้มั่นคง เกิดการคิด ค้น สร้างนวัตกรรมด้านยางพาราให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต และจะทำให้วงการยางพาราไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก เผย 4 ปีมอบแล้ว 40 ทุน รวมเป็นเงิน 16 ล้านบาท พร้อมเดินหน้ามอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง


นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า จากการที่ กยท.ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในหลักสูตรสาขาที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและสถาบันการศึกษาตามที่ กยท. กำหนด ภายใต้เงินกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) ของพระราชบัญญัติ กยท. แก่บุตรของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับกยท.มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยให้ทุนการศึกษาปีละ 10 ทุน ทุนละ 400,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด16 ล้านบาท นั้น ขณะนี้มีมีบุตรของเกษตรกรชาวสวนยางรับทุนการศึกษาไปแล้วรวม 40 คน และกำลังจะสำเร็จการศึกษาในปี 2567 นี้จำนวน 10 คน
ทั้งนี้จากการติดตามและประเมินผลการเรียน และการทำงานวิจัย ของบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้รับทุนการศึกษา ประกอบกัยกฎเกณฑ์ที่ กยท.คัดเลือกผู้ที่ได้รับทุน ที่พิจารณาจากความมุ่งมั่นในการนำความรู้ที่เรียนมาไปพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง รายได้ของครอบครัว ความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ ในสาขาที่เรียน บุคลิกภาพ มนุษยสัมพันธ์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ผลการเรียนในระดับมัธยมปลาย ตลอดจนความสามารถพิเศษอื่นๆแล้ว กยท.มั่นใจว่า บุตรเกษตรกรชาวสวนยางที่สำเร็จการศึกษาในปี 2567 และในปีต่อๆไป จะมีความรู้ความสามารถเรื่องยางพาราและเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางในท้องถิ่นของตนเอง และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับยางพารา ให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาชีพการทำสวนยางในอนาคตมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการมอบทุนการศึกษาอย่างแน่นอน


นางสาวซัลมา ดือราแม นักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยา ลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประจำปี2566 และบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง จ.ยะลา กล่าวว่า ตนมีความผูกพันธ์กับอาชีพการทำสวนยาง เพราะช่วยพ่อกรีดและเก็บขี้ยางตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นจึงมีความคิดที่จะพัฒนาน้ำยาให้การเป็นผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว จึงอยากเข้าศึกษาวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยียาง และได้รับข้อมูลจากการค้นหาทางอินเตอร์เน็ตว่า กยท.สนันสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง เลยของสมัครยืนขอรับทุนกับ กยท.จ.ปัตตานี หลังจากทราบว่าได้รับทุนดีใจมาก เพราะว่าจะได้เรียนในสาขาที่ตัวเองชอบ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว
“สาขาที่หนูเรียนนั้น เกี่ยวข้องกับการแปรรูป การออกแบบ การพัฒนาสูตรยาง รวมไปถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำยาง และการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา หนูจึงตั้งใจว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ศึกษา สาขาวิชานี้ จะตั้งใจเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยาง ที่มีประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราไทย รวมทั้งจะนำความรู้ไปบอกครอบครัวพัฒนาผลผลิตยาง และปรับปรุงการทำสวนยางที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้กับผลผลิตยางในสวนยางตัวเอง และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว” นางสาวซัลมากล่าว
นอกจากนี้นางสาวซัลมายังกล่าว ขอขอบคุณ กยท.ที่ใหัทุนการศึกษา ถือเป็นการให้โอกาสให้บุตรเกษตรกรยางสวนยางได้เรียนหนังสือในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เพื่อนำพัฒนาการทำสวนยางพาราให้ได้มาตรฐาน ผลิตผลเพิ่มขึ้น ทุนลดลง ตลอดสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากยางพาราใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนยางอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างรายได้ที่ดีให้กับครอบครัวและประเทศชาติต่อไป
รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กยท. กล่าวต่อว่า สำหรับในปีการศึกษา 2566 กยท. ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่ กยท.ได้มอบทุนการศึกษาในหลักสูตรปริญาญาตรีนั้น มีจำนวน 10 ทุนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ของมหาวิยาลัยที่มีชื่อเสียงจำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมเรื่องยางตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ การจัดการมาตรฐานสวนยาง และความรู้ในการจัดการสวนยางพารา จนถึงกลางน้ำและปลายน้ำ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ การวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราโดยหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนการบริหารจัดการส่งออก และการจัดการโลจิสติกส์
สำหรับสถาบันการศึกษา และหลักสูตรสาขาที่ กยท. กำหนด ประกอบด้วย 1.มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ จำนวน 1 ทุน 2.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอร์ลิเมอร์ จำนวน 1 ทุน 3.มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร จำนวน 1 ทุน 4.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน คณะวนศาสตร์ สาขาวนศาสตร์ จำนวน 1 ทุน 5.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 ทุน 6.มหาวิทยาลัยบูรพา คณะโลจิสติกส์ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จำนวน 1 ทุน 7. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะทรัพยากรธรรมชาติ(เกษตรศาสตร์) จำนวน 2 ทุน 8.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมวัสดุ จำนวน 1 ทุน และ 9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอร์ลิเมอร์ จำนวน 1 ทุน โดยผู้ที่ได้รับทุนต้องเป็นบุตรของเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ณ วันที่ยื่นขอรับทุนการศึกษา และจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จากสถานศึกษาที่ทั้ง 8แห่งที่ กยท. กำหนด
“การมอบทุนการศึกษาดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบุตรชาวสวนยางให้ได้รับความรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางในท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการนำความรู้ไปสู่การต่อยอด คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมด้านยางพาราให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งกยท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความสามารถ มาพัฒนาวงการยางพาราไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก” รองผู้ว่าการ กยท.กล่าวย้ำในตอนท้าย