ถอดบทเรียนคลอด 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 66/67 เตรียมเสนอครม.แก้วิกฤตน้ำน้อยสู้ภัยเอลนีโญ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

สทนช.ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง คลอด(ร่าง) 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 เตรียมเสนอ กอนช. และ ครม.ชุดใหม่ สู้ภัยเอลนีโญ พร้อมเร่งสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงข้อมูลน้ำ ปรับขบวนการอนุมัติงบประมาณให้เร็วขึ้น วางแผนบริหารน้ำล่วงหน้า 2 ปี การันตีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี


ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 และการเตรียมความพร้อมรับสถาน การณ์เอลนีโญ ที่ สทนช. ร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจาก 7 กระทรวง รวม 31 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วประเทศ เกษตรกร และสื่อมวลชน จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นั้น ทำให้ได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งสทนช. จะนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการเตรียม ความพร้อมและวางมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 ตลอดจนใช้เป็นกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำแล้งปีถัดไป
สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2566 ค่อนข้างจะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 ประเทศไทยอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ลานีญา ฝนตกค่อนข้างมาก ทำให้ในฤดูแล้งปี 2565/66 มีปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ รวมกันมากถึง 35,853 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ปี 2566 เกิดปรากฏการณ์เอล นีโญ ทำให้ฝนตกน้อยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันต่ำกว่าค่าปกติถึง 21% หากไม่มีพายุพาดผ่าน คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 จะมีปริมาณน้ำใช้การในแหล่งน้ำขนาดใหญ่รวมเพียง 26,142 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณกักเก็บ น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 11% ดังนั้นในฤดูแล้งปี 2566/67 จะต้องปรับแนวทางมาตรการรองรับฤดูแล้งให้เหมาะสมเข้ากับสถานการณ์น้ำที่เป็นปัจจุบัน


ทั้งนี้จากการถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ดังกล่าว ผนวกกับสถานการณ์แอลนีโญที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่การจัดทำร่างมาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 ซึ่งมี 9 มาตรการด้วยกัน ประกอบด้วย 1.เฝ้าระวังและเตรียมจัดการแหล่งน้ำสำรอง วางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางมีมาตรฐานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่เกิดเหตุ 2.ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ได้ปริมาณน้ำสำรองมากที่สุด นำน้ำใต้ดินมาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ขาด แคลนน้ำ ซึ่งน้ำใต้ดินมีปริมาณมากถึง 40,000 ล้าน ลบ.ม. 3.กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์เอลนีโญ ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ ให้กับเกษตรกร พร้อมเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง 4.จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ส่งเสริมพืชใช้น้ำน้อยในภาคการเกษตร ประหยัดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R

  1. เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ 7.เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชนและองค์กรผู้ใช้น้ำ 8.สร้างการรับรู้ประชาชนสัมพันธ์ และ 9.ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน
    นอกจากนี้จะต้องเร่งสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำให้มากขึ้น ตลอดจนปรับปรุงวิธีการอนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วขึ้น สร้างเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ เพื่อการบริหารจัดการน้ำสัมฤทธิ์ผลครอบคลุมทุกพื้นที่ ที่สำคัญได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ให้ครอบคลุมตั้งแต่ฤดูฝนปีนี้ ฤดูแล้งปี 2566/67 ฤดูฝนปี 2567 จนถึงฤดูแล้งปี 2567/68 ด้วย เพื่อที่จะเตรียมสำรองน้ำให้เพียงพอกับความต้องการรองรับสถานการณ์น้ำเอลนีโญที่จะเกิดขึ้น
    “ร่างมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 ดังกล่าว จะนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เพื่อออกเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และช่วยกันขับเคลื่อนมาตรการในช่วงฤดูฝนนี้ให้เต็มที่ก่อนเข้าฤดูแล้ง ซึ่งจะสามารถผ่านสถานการณ์ภัยแล้งไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย